จากยุค “โลกร้อน” สู่ยุค “โลกเดือด” | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในศตวรรษที่ 21 มนุษยชาติต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศเตือนว่า “ยุคโลกร้อน” (global warming) ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” (global boiling) เนื่องจากเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในโลกเป็นประวัติการณ์เท่าที่มนุษย์ได้บันทึกไว้
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นข้อพิสูจน์ถึงความจริงที่ว่ามนุษยคือผู้สร้างวิกฤตครั้งนี้ขึ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องประสบกับฤดูร้อนที่โหดร้าย โดยอเมริกาเหนือ เอเชีย แอฟริกา และยุโรปต้องเผชิญกับความร้อนจัด
เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ผู้นำโลกดำเนินการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างทันทีและเด็ดขาด โดยย้ำว่าไม่มีเวลาลังเลหรือข้อแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว
โอกาสในการจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุดยังคงมีอยู่ แต่จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านนี้ในทันทีและจริงจังอย่างมาก
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความคืบหน้าบ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่ออุณหภูมิที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) จึงเร่งด่วนกว่าที่เคยเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีหลักฐานให้เห็นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ความถี่ที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระบบนิเวศและรูปแบบการย้ายถิ่นของสัตว์
แบบจำลองสภาพอากาศล่าสุดไม่เพียงทำนายสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น พายุเฮอริเคนและภัยแล้ง ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมมนุษย์และโลกธรรมชาติ
ทั้งนี้ การทำความเข้าใจวิกฤตสภาพอากาศเป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของการจัดการ มุมมองที่เหมาะสมในประเด็นนี้เผยให้เห็นปัญหาที่ลึกและเป็นระบบมากกว่านั้น นั่นคือการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชื่อดัง Michael E. Mann เขียนในหนังสือ "The New Climate War: The Fight to Take Back Our Planet" เปิดเผยกลวิธีที่ใช้โดยองค์กรผลประโยชน์ โดยเฉพาะบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อขัดขวางการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพต่อการแก้ไขปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลของ Michael E. Mann ชี้ว่าองค์กรเหล่านี้ปัดความรับผิดชอบไปยังปัจเจกบุคคลอย่างชาญฉลาด โดยเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวก็สามารถแก้ไขวิกฤติได้
ซึ่งความจริงแล้ว แม้ว่าการกระทำของแต่ละบุคคล จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่ตัวการสำคัญ วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีรากมาจากเศรษฐกิจพลังงานโลก การจัดการกับวิกฤตดังกล่าวจึงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบขนานใหญ่ ไม่ใช่เพียงปัจเจกบุคคล
การจัดการปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายด้าน ในด้านการเมือง มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับนโยบายที่จริงจังเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการลงทุนจำนวนมากในพลังงานหมุนเวียน
ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกสูงถึงประมาณ 45% จากระดับปี 2010 ภายในปี 2030 และถึงศูนย์สุทธิ (Net Zero) ภายในปี 2050
การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตัดสินใจเชิงนโยบายที่กล้าได้กล้าเสีย เช่น การขึ้นราคาคาร์บอนและการยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
ในขณะเดียวกัน ในด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนต้องการการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคและการลงทุน เทคโนโลยีสีเขียว พลังงานทดแทน การเกษตรแบบยั่งยืน และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ส่วนในด้านสังคมซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในขณะที่การกระทำของแต่ละบุคคลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยรวมสามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายและแนวโน้มของตลาดได้
เช่น การลงคะแนนเลือกผู้นำที่พร้อมดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง และการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอีกภาพอนาคตอีกฉากทัศน์หนึ่ง ในฐานะประเทศเล็กอย่างประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก
ดังนั้น แม้ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งโลก
ดังนั้น หากความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกไม่สำเร็จตามเป้าหมายในระดับโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฉากทัศน์อนาคตนี้จะรุนแรงมาก
ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptation) ในลำดับความสำคัญที่สูงเป็นพิเศษ ทั้งในระดับนโยบาย ธุรกิจ ชุมชนและปัจเจกบุคคล เพื่อให้ ประเทศและประชาชนมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงในศตวรรษนี้.