นักข่าวบีบีซี ทดลองรับมือภาวะโลกเดือด เมื่ออุณหภูมิทะลุ 40°
เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จนโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด ทะลุ 40 องศาเซลเซียส จะส่งผลต่อร่างกายและสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง? นักข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีมีคำตอบ!
“เจมส์ กัลลาเกอร์” ผู้จัดรายการวิทยุ Inside Health ของบีบีซี เข้าห้องทดลองเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เพื่อทดสอบว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร เมื่อประสบกับภาวะโลกเดือด อุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
ห้องทดลองดังกล่าวมี "ศ.ดาเมียน เบลีย์" จากมหาวิทยาลัยเซาท์เวลส์ คอยควบคุมดูแล โดยห้องทดลองดังกล่าว สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และระดับออกซิเจนได้
การทดลองเริ่มต้นที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส โดยกัลลาเกอร์ติดเครื่องติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากมาย เช่น การติดตามอุณหภูมิผิวหนังและอวัยวะภายใน, ติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด, มีหลอดขนาดใหญ่วิเคราะห์อากาศที่หายใจออก และมีการตรวจอัลตราซาวน์ เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง ผ่านหลอดเลือดแดงบริเวณคอ
จากนั้นทำการทดสอบความจำ ด้วยการจำคำศัพท์ 30 คำ และเริ่มเพิ่มอุณหภูมิ
ผลการทดสอบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจาก 21 องศาเซลเซียสถึง 40 องศาเซลเซียส สรุปได้ดังนี้
1.เลือดไหลเวียนสู่สมองลดลง 8.5%
2.อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นจาก 36.2° เป็น 37.5°
3.หายใจเพิ่มขึ้นจาก 10 ครั้ง/นาที เป็น 15 ครั้ง/นาที
4.เหงื่อออก 400 มิลลิลิตร ภายใน 1 ชั่วโมงที่ทดลอง
5.อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นจาก 54 ครั้ง/นาที เป็น 87 ครั้ง/นาที
6.อุณหภูมิผิวหนังเพิ่มขึ้นจาก 31.3° เป็น 35.4°
7.จำคำศัพท์ได้ลดลงจาก 23 คำ เหลือ17 คำ
กัลลาเกอร์ สรุปว่า ร่างกายมนุษย์ สร้างให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติในอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบถึง 40 องศาเซลเซียส เราจะมึนหัวและเป็นลมได้
นอกจากนี้ อุณหภูมิสูงเช่นนั้น จะทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายของเรา เช่น กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง และอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ความสามารถในการรับมือกับความร้อนของมนุษย์มีความแตกต่างกัน ซึ่งอายุและอาการป่วยทำให้เราอ่อนไหวต่อสภาพอากาศได้ง่าย โดยอายุที่เพิ่มขึ้น โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะสมองเสื่อม และยาบางชนิดจะทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น และรับมือกับสภาพอากาศร้อนได้ลดลง
กัลลาเกอร์ แนะวิธีรับมือในวันที่ประสบกับสภาพอากาศร้อนว่า ให้อยู่ในที่ร่ม, สวมเสื้อผ้าหลวมๆ, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, รักษาให้อุณหภูิมบ้านให้เย็นลง, ไม่ออกกำลังกายในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวันและรักษาร่างกายให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ด้าน ศ.ลิซซี เคนดอน จาก Met Office กรมอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ เตือนว่า ในกรณีร้ายแรงที่สุด อากาศร้อนในช่วงฤดูร้อนของอังกฤษ อาจเพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษ และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคน ถ้ายังไม่ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง