ภาวะโลกร้อน – ขยะ ส่งผลต่อสัตว์ทะเลลดจำนวน
ภาวะโลกร้อนส่งผลให้กระแสลมที่แปรปรวน รวมถึงคุณภาพน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงขยะที่ปนเปื้อนในทะเลที่ส่งผลทำให้สัตว์หายากในทะเล และสัตว์ที่อาศัยอาหารจากทะเลหากินยากมากขึ้น และส่งผลต่อแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์อีกด้วย
สพ.ญ. ราชวดี จันทรา สัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทะเลอ่าวไทยตอนบน ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) กล่าวว่า กระแสลมที่แปรปรวนนอกจากจะมีผลต่อหาดตื้นเขินแล้ว ยังส่งผลต่อการพลัดพรากของคู่แม่ลูกสัตว์ทะเลหายากที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ทะเลหายากท้องแก่ และป่วย จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมลูกสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตาย บนชายหาด ป่าชายเลน หรือผืนทะเล
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างมากคือ คุณภาพน้ำในมหาสมุทร จากข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลาง และมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง กล่าวถึงพื้นที่อ่าวไทยตอนบนกว่า 50% มีคุณภาพน้ำอยู่ในสถานะ พอใช้ รองลงมาคือ สถานะเสื่อมโทรม ดี และเสื่อมโทรมมากตามลำดับ ด้วยปัจจุบันคุณภาพน้ำส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ได้แก่ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด สารอาหาร และปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ
รวมถึงข้อมูลจากหนังสือวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อมได้กล่าวว่า ในทุกๆ ปี จะมีการปล่อยน้ำจืดจากภาคกลางลงสู่อ่าว กอไก่ อย่างในพื้นที่ปากแม่น้ำเพชรบุรี และปากอ่าวบางตะบูนเป็นจุดปล่อยสำคัญจนเกิดการสะสมของตะกอน และหลายครั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแดง ชื่อที่ชาวบ้านเรียก แต่ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าภาวะยูโรฟิเคชั่น หรือภาวะการขาดออกซิเจนรุนแรง
เป็นหนึ่งในผลจากภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากน้ำเสียจากบ้านเรือนประชากร และเกษตรกรรมที่ถูกปล่อยรวมกัน เป็นเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของไนโตรเจน และฟอสฟอรัสที่มีฟอสเฟส ที่เป็นอาหารของแพลงตอนพืช สาหร่าย ทำให้พืชเติบโตอย่างรวดเร็วร่วมกับปัจจัยเร่งอย่างแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ออกซิเจนในพื้นที่นั้นลดลงขณะที่ตอนกลางคืนพืชก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ทะเลเพิ่มขึ้นด้วยเมื่อพืชตายจะทำให้น้ำเน่าเสียจนเกิดสีแดงขึ้น ถึงแม้ในบริเวณนั้นจะมีอาหารแต่หากขาดออกซิเจนปลาก็ไม่สามารถเข้ามาหาอาหารได้ ถ้าเกิดเป็นบริเวณกว้างจะทำให้สัตว์หน้าดิน และปลาที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันหรือออกไปจากบริเวณนั้นไม่ทันตายได้
"คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มความเป็นกรดให้น้ำทะเลจากการดูดซับในอากาศ และพืชในทะเลปล่อยออกมา ถูกเรียกว่า “แฝดตัวร้าย” ของภาวะโลกร้อน ความเป็นกรดแทรกซึมอยู่ทุกที่ ในอาหารของสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนในการดำรงชีวิตหรือสัตว์เปลือก ประเภท กุ้ง หอย ปู พวกมันจะสร้าง เปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น"
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า และสัตว์ทะเลหายากให้ได้รับการดูแลและคุ้มครองอย่างเป็นระบบในทุกมิติ อย่าง “มาเรียมโปรเจกต์” เพื่อเป้าหมายเพิ่มพะยูนในธรรมชาติให้ถึง 280 ตัว ภายในปี 2565 ดังนั้น กรม ทช. จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนที่สำคัญ อย่างการอนุรักษ์ และลดภัยคุกคามพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัย การศึกษาวิจัยพะยูน และแหล่งที่อยู่อาศัย การช่วยชีวิต และดูแลรักษาพะยูนเกยตื้น และการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการดูแลขยะพลาสติกไม่ให้ทิ้งสู่ท้องทะเล จะเป็นเหตุให้สัตว์ทะเลเสียชีวิตจากขยะพลาสติกที่เหมือนอาหารสัตว์น้ำอย่างแมงกะพรุน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินงานแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) สามารถเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติจาก 250 ตัว เป็น 273 ตัว และในอนาคต กรม ทช.ได้ดำเนินงานแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2568) ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มประชากรไกลฝั่ง เพื่อยกระดับการปฏิบัติภารกิจในด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ สำรวจประเมิน และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถติดตามสถานภาพ เฝ้าระวังการสูญเสีย รวมถึงศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก
ผลกระทบต่างๆ จากภาวะโลกร้อน และขยะนั้นล้วนส่งผลต่อสัตว์ทุกชนิดทั้งสิ้น หากเราปล่อยปละละเลยนั้นสัตว์ต่างๆ คงลดจำนวน และสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อยๆ และคงไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์