ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว หลายประเทศทั่วโลกประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงทั้งไฟป่า พายุฝน น้ำท่วม

เช่น ในสหรัฐฯ เกิดไฟป่าบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย ในแคนาดาเผชิญกับไฟป่าที่เลวร้ายที่สุด ในสเปนและกรีซเกิดไฟป่ารุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่เอเชียเผชิญกับฝนตกหนักในฤดูมรสุม เช่น น้ำท่วมหนักครั้งประวัติศาสตร์ที่เกาะคิวชู ญี่ปุ่น และน้ำท่วมปักกิ่งหนักสุดใน 140 ปี

บทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และการรับมือปัญหาดังกล่าวของประชาคมโลก

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน…สู่โลกเดือด

หน่วยวิจัย The Copernicus Climate Change Service ของ EU  ชี้ว่าอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยรายวันทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 3-31 ก.ค. เป็น 29 วันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยวันที่ร้อนที่สุดคือ 6 ก.ค. มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.08°C ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือระหว่างปี 1850 - 1900 คือสูงเกิน 1.5°C ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris agreement)

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

ภาวะโลกร้อนข้างต้นทำให้ Mr. António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงเตือนว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว” และ “ยุคโลกเดือด (Era of global boiling) มาถึงแล้ว” โดยสภาพอากาศสุดขั้ว  จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ และเรียกร้องให้แต่ละประเทศทั่วโลกลงทุนด้านการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศต้องทำทันทีและยุติธรรม (Climate action and climate justice) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G20 ซึ่งรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 80 ทั่วโลก

สภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือดส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร?

ปัญหาโลกร้อน โลกเดือดส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายมิติดังนี้ (UN-Thailand) (1) อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวของโลกก็จะเพิ่มสูงด้วย ไฟป่าก็จะเกิดง่ายขึ้นและลุกลามเร็วกว่าเดิม

(2) พายุรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม

(3) ภัยแล้งสาหัสขึ้น ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงขึ้น ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

(4) น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อนส่วนใหญ่ ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่างๆ และมหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซ CO2 ทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

(5) สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งบนบกและในน้ำ ขณะนี้โลกกำลังสูญเสียสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอัตราที่เร็วกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในอดีต

(6) อาหารขาดแคลน สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงสร้างความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์

(7) ปัญหาสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตจำนวนมาก จนระบบสุขภาพไม่อาจรองรับได้ และ

(8) ความยากจนและการพลัดถิ่น เช่น อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนแออัดในตัวเมือง บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตของผู้คน และความร้อนยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้ง

แนวโน้มการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกยังไม่มีสัญญาณของการหดตัว

ในอดีตเราได้บทเรียนจากการแก้ปัญหา “ฝนกรด” ในยุค 1970, 1980 และ 1990 ปัญหา “รูรั่วโอโซน” ในยุค 1980 และปัญหา “มลพิษจากน้ำมันผสมสารตะกั่ว” ในยุค 1920-2020 ว่า

เมื่อภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลต่าง ๆ ร่วมมือกันก็สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามระดับโลกได้ถูกแก้ไขได้เกือบสำเร็จแล้ว แต่ในครั้งนี้ปัญหาโลกร้อน โลกเดือดนี้มีความซับซ้อนกว่าปัญหาโอโซนมาก

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

รายงานล่าสุดปี 2023 ของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกของ UN มีบทบาทประเมินทางวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสมาชิก 195 ประเทศ ระบุว่า

ในช่วง 2011-2020 กิจกรรมของมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นถึง 1.1°C เหนือช่วงปี 1850-1900 หรือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ในด้านของผลกระทบพบว่า ประชากรโลก 3.3-3.6 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

ในช่วงปี 2010-2020 ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงเสียชีวิตจากภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุสูงเป็น 15 เท่า เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำ

ข้อมูลการวิเคราะห์โดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติภายใต้ Global Carbon Project ชี้ว่าในปี 2022 คาดว่าการปล่อยก๊าซ CO2 ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มสูงอยู่ที่ 41.1±3.3 billion tonnes of CO₂ (GtCO₂) และการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด 19 

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

ในมิติของประเทศ พบว่า หกประเทศหลักที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงสุดคิดเป็น 67% ของทั้งหมด คือ จีน (31%) สหรัฐฯ (14%) EU-27 (8%) อินเดีย (7%) รัสเซีย (5%) และญี่ปุ่น (3%) 

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

จากข้อมูลล่าสุดแนวโน้มการปล่อยก๊าซ CO2 ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนคาดว่าคงเป็นภารกิจที่ยากยิ่งของประเทศที่กำหนด (National Determined Contributions: NDCs) ที่จะบรรลุเงื่อนไขตามความตกลงปารีสที่กำหนดว่า

“รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 °C และในขณะเดียวกันกำหนดเป้าหมายที่สูงขึ้นไว้ควบคู่กันว่าจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้น้อยลงไปอีกจนถึงต่ำกว่า 1.5 °C”

และเป็นทางแยกสำคัญอีกครั้งของการรับมือกับภารกิจกู้โลกใบนี้ ดังเช่นคำกล่าวของเลขาธิการบริหารของ UNFCCC ในการประชุม COP26 (31 Oct 2021) ที่กรุงกลาสโกว์ว่า

“เราจะเลือกที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้โดยเร็วเพื่อรักษาเป้าหมายการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5°C หรือเราจะยอมรับว่ามนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับอนาคตที่สิ้นหวังของโลกใบนี้”

ในท้ายนี้ หน้าต่างแห่งโอกาสในการแก้ปัญหาโลกร้อนยังเปิดอยู่บ้าง หากทุกภาคส่วนทั้งนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ร่วมกันลงมือทำทันทีเป็นองค์รวมในบทบาทของตนเองใน 5 ข้อหลัก คือ

(1) การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนรวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

(2) การปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศอื่น ๆ เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุด

(3) การจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตอาหาร

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก

(4) ขยายการแยกกักกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางการเกษตร และ

(5) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น ลดความต้องการบริโภคลง ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบ้านเรือนและธุรกิจ และลดขยะ เป็นต้น

หากเราทำสำเร็จ ก็จะสามารถรักษ์โลกใบนี้ให้แก่คนรุ่นปัจจุบัน และยังเพื่อส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท. และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง

ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน โลกเดือด: ทางแยกการรับมือกู้โลก