อบก. ชี้หนทางสู่ 'Net Zero' ปรับเพื่อเปลี่ยน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต
อบก. ชี้ ทั่วโลก เดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero องค์กรกุญแจแห่งความสำเร็จ ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัว ร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในงานสัมมนา Road to Net zero โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า ทั่วโลกเห็นภัยอันตรายจากการที่ร่วมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวใหม่ของเรา ทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่พยายามวัด คาร์บอนฟุตพรินท์ ต่อไปข้างหน้าจะต้องมีการประเมิน ซึ่งมีผลต่อธุรกิจ และมีส่วนอย่างมากต่อเรื่องราวต่างๆ ในการผลักดันความอยู่รอดของธุรกิจ และประเทศ ต่อจากนี้ต้องปรับตัว ลดการปล่อย และในที่สุดจะต้องไม่ปล่อยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
"วันนี้ทั่วโลกพยายามผลักดันในเรื่องของก๊าซเรือนกระจกที่หลุดลอยไปยังชั้นบรรยากาศให้เป็นกลางเร็วที่สุด หรือ ยุติการปล่อย ภายใน 2050 ก๊าซเรือนกระจกไม่ควรหลุดไปยังชั้นบรรยากาศแล้ว กระแสโลกเป็นกระแสที่แรงมาก วันนี้ทั่วโลกจึงรณรงค์ ประเทศไทยประกาศเป้าหมายใน COP26 ที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 เท่ากับว่าไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 300 กว่าล้านตัน เหลือ 120 ล้านตัน ที่เรามีโอกาสจะเก็บได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถเก็บได้ 86 ล้านตัน เราต้องเก็บให้มากถึง 120 ล้านตัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อบก. หนุน Clean Business ธุรกิจยั่งยืน คำตอบรับมือ Climate Change
อบก. สร้างการรับรู้ คาร์บอนเครดิต ป่าไม้ คำตอบสู่เป้าหมาย NET ZERO
อบก. ชูเทคโนโลยี คำตอบแก้ปัญหา Climate Change
ขณะที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 500 ล้านตันต่อปี ก็มีเป้าหมายสู่การเป็น Net Zero ขณะที่ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่จะต้องควบคุม ในภาคการเดินเรือที่ปล่อยกว่า 1,000 ล้านตันต่อปี ต้องมีการปรับตัวในเรื่องเครื่องยนต์ โลจิสติกส์ เรียกว่าทั่วโลกทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน
องค์กร กุญแจแห่งความสำเร็จ
เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำให้สำเร็จ อยู่ที่องค์กร วันนี้กระแสขององค์กรที่จะเดินหน้าสู่ Race to Zero ตั้งเป้าจะไม่ปล่อย ไม่มีส่วนร่วมทำให้โลกมีปัญหากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภาคเมือง และอุตสาหกรรม ประเทศไทยวางแผนเป้าหมายชัดเจนใน COP27 ที่อียิปต์ ประกาศแผนระยะสั้นในปี 2030 ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกจากเดิม 20% ปรับเป็น 30% และเพิ่มเป็น 40% หากได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งด้านการเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ ที่จะส่งออกไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว นักลงทุน การเงินสีเขียว การประชุมต่างจะผลักดันให้เศรษฐกิจดีขึ้น
“สิ่งที่ต้องทำคือ ภาคพลังงานต้องปรับตัว เราวางแผนเน้นในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) , การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า (Energy Efficiency) และต้องปรับเปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันมาเป็น EV ให้ได้ 68% และจะต้องเลิกใช้ถ่านหิน รวมถึงการใช้ CCS (Carbon Capture and Storage) เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งเสริมไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญมากคือ ภาคพื้นที่สีเขียว การที่พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็นมาตรการหลัก”
แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับ มาตรการต่างๆ วันนี้ประเทศไทยวางแผนชัดเจน มีโรดแมปชัดเจนในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเรื่องพลังงาน EV ประสิทธิภาพของตึก ประสิทธิภาพของอุปกรณ์มีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 30% ในด้านอุตสาหกรรมเน้นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกลดการเผา ของเสียจะต้องไม่มีการปล่อยมีเทน ภาคการเกษตรเพาะปลูกที่ลดมีเทนได้อย่างไร เรื่องของมูลสัตว์ที่หลงเหลือซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประเภทมีเทน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อดูศักยภาพของการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พบว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติ 113.23 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 48.52 ล้านไร่ และ พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 16.17 ล้านไร่ จะมีศักยภาพในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตัน
ภาครัฐอยากจะรณรงค์ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน วันนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ 6 ด้าน คือ
1. ด้านนโยบาย
2. ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การส่งเสริม แซนด์บ็อกซ์โปรเจกต์ที่เกี่ยวกับอินโนเวชั่นเกิดขึ้นได้
3. ด้านการค้าและการลงทุน การผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ หลายบริษัทตอนนี้พูดว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นโอกาส และเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่าเป็นค่าใช้จ่าย สิ่งนี้เอง ความเข้มแข็งของยุทธศาสตร์ BCG จะผลักดันให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการลงทุน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ การส่งเสริม BOI การส่งเสริมด้านภาษี ผลักดันไปสู่การลงทุนเหล่านี้
4. ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การทำให้โปรเจกต์ลดก๊าซเรือนกระจก เป็นระบบการรับรองในลักษณะ Certification เป็นคาร์บอนเครดิต เป็นระบบมาตรฐานโลกที่ยอมรับในการนำเอาผลลัพธ์จากการประเมินโครงการอย่างละเอียด ไปใช้ในการออฟเซ็ต ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรับรองคาร์บอนเครดิต และนำเอาคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ที่ธุรกิจไม่ถูกควบคุมแต่สมัครใจทำโครงการดีๆ และนำเครดิตไปใช้ เกิดความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตมากขึ้นในอนาคต
5. ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับ ก๊าซเรือนกระจก
6. ด้านกฎหมาย รัฐกำลังออกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็มีมาตรการสำหรับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ส่วนผู้ที่ไม่ปล่อยเยอะ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ก็สามารถทำคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ กลไกเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐกำลังส่งเสริม และโปรเจกต์ที่ส่งเสริมให้ประเทศในบริเวณพื้นที่อ่าวไทย หรือ แม่เมาะ จะสามารถเป็นแหล่งดูดจับ กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้หรือไม่ รัฐส่งเสริมทุกภาคส่วน ทุกรูปแบบให้เกิดขึ้น
ปล่อยมาก รับผิดชอบมาก
จากเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ NDC (Nationally Determined Contribution) จะเห็นว่าองค์กรที่ได้รับผลกระทบจะเริ่มเข้ามาไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรในตลาดหลักทรัพย์ องค์กรภาคบริการ ภาคขนส่ง เริ่มจะมีผลกระทบจากการที่ลูกค้า นักลงทุน เริ่มกำหนดว่าต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบของ ESG ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของ Climate
ถัดมา CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ผู้ส่งออกก็จะต้องรายงานในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึง มี พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบอีก ขณะที่ ICAO และ IMO ก็จะกำหนดมาตรการต่างๆ
ดังนั้น มาตรการเหล่านี้ เป็นมาตรการที่ทำให้ผู้ปล่อยมีปัญหาและมีต้นทุน ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้บริษัทอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Low Carbon Project Developer ที่ไม่ถูกควบคุมสามารถมาทำโปรเจกต์ดีๆ และได้ประโยชน์ได้ เช่น การปลูกต้นไม้ พลังงานทดแทน EV ควรจะได้รับการสนับสนุน และมีสิ่งที่แลกเปลี่ยนระหว่างคนที่ทำเกินกว่าปกติ และคนที่ปล่อยมากกว่าปกติ เป็นลักษณะของระบบตลาด ช่วยทำให้ต้นทุนภาพรวมของไทยดีขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์