อบก. หนุน Clean Business ธุรกิจยั่งยืน คำตอบรับมือ Climate Change

อบก. หนุน Clean Business ธุรกิจยั่งยืน  คำตอบรับมือ Climate Change

รายการ SUITS : Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ที่ไขความกระจ่างว่าทำไมธุรกิจจะต้องขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Key Point : 

  • ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 0.8-0.9% จากทั่วโลกที่ปล่อยอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านตันต่อปี แต่กลับได้รับผลกระทบสูงอันดับ 9 จาก 197 ประเทศ
  • วิกฤติ Climate Change กลายเป็นความท้าทายของหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับความกดดัน อาทิ ต้นทุนและการส่งออกจากมาตรการ CBAM มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป
  • สำหรับ อบก. มองว่านี่คือ 'โอกาส' ในการที่ไทย ได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อส่งต่อโอกาสไปยังธุรกิจขนาดเล็ก ในการได้สร้างธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม

 

 

Sustainability ไม่ใช่เทรนด์ที่มาแล้วหายไป แต่เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องมีในแผนยุทธศาสตร์ ธุรกิจจะมองหาแค่ผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ผู้คน และธรรมชาติ ให้อยู่รอดไปได้ด้วยกัน ข้อมูลจาก World Economic Forum รายงานว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมในระยะยาวจะพบกับความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถลดอุณหภูมิ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่สามารถปรับพฤติกรรม เปลี่ยนแปลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนทำให้โลกต้องเจอกับมหันตภัยอันยิ่งใหญ่

 

ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจะต้องเผชิญกับความกดดันไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุน และการส่งออกจากมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้า 5 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามวิกฤติดังกล่าวแม้จะสร้างความกังวลในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในมุมมองของ 'เกียรติชาย' กลับมองว่านี่คือ โอกาสที่ไทยจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อผลักดันเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ.2065

 

“ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 0.8-0.9% หรือประมาณ 300 กว่าล้านตัน จากทั่วโลกที่ปล่อยอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านตันต่อปี เราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร โซนร้อน และได้รับผลกระทบสูงอันดับ 9 จาก 197 ประเทศ เป็นความจริงที่ว่าใครที่ปล่อยเยอะใช่ว่าจะได้รับผลกระทบเยอะ ดังนั้น เป็นโอกาสของไทยในการใช้วิกฤติเพื่อแก้ผลกระทบ โดยการพยายามหาการช่วยเหลือ สนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ ธุรกิจดีๆ ในประเทศไทย” 

 

บทบาท TGO ต่อความยั่งยืน

 

ทั้งนี้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ในยุคที่สังคมยังไม่เข้าใจคำว่า Climate Change และ คาร์บอนเครดิต ยังไม่เป็นที่รู้จัก 'เกียรติชาย' อธิบายว่า จากที่ทั่วโลกมีความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยมี พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ข้อกำหนดว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามเปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีการลดด้วยตัวเอง ร่วมมือกันในกลุ่ม และใช้คาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนา

 

อบก. หนุน Clean Business ธุรกิจยั่งยืน  คำตอบรับมือ Climate Change

 

“ตอนนั้นเรามองว่าเป็นโอกาส ประเทศไทยควรจะมีโอกาสที่จะทำโครงการดีๆ ตามกรอบที่เขากำหนด เช่น ในเรื่องของพลังงานทดแทน ขยะ ต้นไม้ และมี TGO ซึ่งเป็นองค์การมหาชนให้การรับรองโครงการ โดยที่ผ่านมามีการดำเนินไปกว่า 222 โครงการ หลังจากนั้นโครงการเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนโดยองค์การสหประชาชาติ และถัดมาคือ ดำเนินการโครงการจริงในไทย และได้รับการรับรองอีกครั้งที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต ซึ่งคาร์บอนเครดิตเหล่านั้น จะถูกเข้าไปในตลาดโลก มีการซื้อขายซึ่งเป็นภาคสมัครใจภายใต้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)”

 

อีกทั้ง TGO ยังทำในเรื่องของ ‘คาร์บอนฟุตพรินท์’ จากเดิมประเทศต้องรายงานจากฝั่งพลังงาน เกษตร อุตสาหกรรม และการกักเก็บของต้นไม้ ขยายมาสู่การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ตามมาตรฐานโลกตั้งแต่ระดับเมือง ระดับองค์กร ระดับบุคคล ระดับกิจกรรม เริ่มจากโครงการรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ และสุดท้ายวันนี้มาตรการถูกกำหนดเป็นนโยบาย องค์กรต่างๆ เริ่มถูกกดดัน ที่ต้องทำ และมีการประเมิน เกิดโครงการใหม่ T-VER หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งดำเนินการมากว่า 7 ปี

 

เป็นการมองข้ามช็อตว่าสุดท้ายโลกไปไม่รอด และต้องมาทำเรื่องนี้ เพราะแรงกดดันต้องมาจากต่างประเทศ ทุกคนเริ่มเห็นว่าภัยกำลังรุนแรง โดยเฉพาะการที่สหรัฐอเมริกา เข้ามาในข้อตกลงปารีส ซึ่งทุกประเทศต้องตั้งเป้า ทุกคนเริ่มเห็นภัย และกลัว ต้องร่วมมือกันทั้ง 197 ประเทศ

 

กว่าจะถึงเป้าหมาย Net Zero

 

อย่างไรก็ตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นเป้าหมายที่ไทยต้องไปให้ถึง แต่ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ก็เป็นความหวังสำคัญที่ผู้นำทุกองค์กรจะต้องนำปัญหานี้ไปแก้ไข ทั้งนี้ความท้าทายของการเดินหน้าไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

'เกียรติชาย' มองว่าเป็นเรื่องของ 'ต้นทุน' ทุกมาตรการที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกต้องลงทุนเพิ่ม แต่ไทยไม่ได้มีการซัพพอร์ตด้านงบประมาณ รวมถึงระบบเศรษฐกิจ และ GDP ไม่มากนัก ดังนั้น เราต้องรักษาสมดุลให้ได้ สิ่งที่ควรจะเป็น คือ อาศัยได้ประโยชน์จากกลไกจากต่างประเทศให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลไกด้านการเงินแบบให้เปล่า หรือจะเป็นกลไกที่สนับสนุนแลกกับเครดิต ซึ่งปัจจุบันมีโครงการ EV Bus ซึ่งเริ่มต้นในปีที่ผ่านมา โดยสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาสนับสนุน EV Bus และแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตจากไทย

 

“อีกหนึ่งความท้าทายที่กำลังจะมา อาทิ มาตรการ CBAM ประเทศไหนที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่มีระบบสร้างภาระให้กับผู้ปล่อยจะต้องจ่ายชดเชยให้กับประเทศในอียู เสียภาษีคาร์บอนข้ามแดน โดยเริ่มในเดือนตุลาคม นี้ เริ่มจากสินค้าในกลุ่มเหล็ก และเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม ดังนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้กฎหมายเราเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยต้องคิดใหม่ โดยกำลังเตรียม พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น”

 

เปลี่ยนสู่ Clean Business

 

ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จำเป็นต้องมีตัวกลางที่จะนำการสนับสนุนเข้ามาสู่ผู้ประกอบการรายเล็กให้ได้และสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อความยั่งยืนทั้ง SME และเกษตรกร จะต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนให้ได้รับการสนับสนุน โดยรัฐเองจะต้องเป็นตัวกลางในการได้รับความช่วยเหลือจากอียู ภาครัฐจะต้องทำงานในระดับนานาชาติเพื่อจะได้รับสิ่งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น กองทุนชดเชยความสูญเสีย และเสียหาย (Loss and Damage Fund) และ Climate Action Fund ที่จะเข้ามาสนับสนุน

 

“สิ่งสำคัญคือ จากมาตรการต่างๆ องค์กรจะถูกบีบให้ต้องปรับตัว หากใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ มีต้นทุนสูง ธุรกิจนั้นอาจจะต้องออกไปจากตลาด ถูกบีบให้ธุรกิจไปสู่ Clean Business โดยสหรัฐอเมริกา มองว่า จะเกิดการจ้างงานใน Clean Business อีกจำนวนมาก ขณะที่ธุรกิจปิโตรเลียมอาจจะต้องถอยลงมา”

 

การปรับตัวดังกล่าวจะต้องเป็นมาตรการแบบ Top Down เพราะสิ่งที่มีพลังที่สุด คือ เรื่องของการเงิน หากขายของไม่ได้ กู้เงินไม่ได้ องค์กรนั้นไม่มีคนมาลงทุนในหุ้น จะไม่สามารถผลักดันองค์กรสู่เป้า Carbon neutrality โดยปัจจุบัน TGO บูรณาการร่วมกับ 383 องค์กร เพื่อไปสู่ Carbon neutrality ด้วยต้นทุนต่ำสุด

 

“สิ่งที่เขาจะทำ คือ ทรานส์ฟอร์มองค์กรมาเป็นแบบ Clean ขณะเดียวกัน อาจเกิดโอกาสของกลุ่มสตาร์ตอัปใหม่ๆ ให้สามารถตั้งธุรกิจขึ้นมาเป็น New S-Curve เป็นธุรกิจใหม่ๆ คนที่ปล่อยมากก็จะเริ่มลด คนที่ปล่อยน้อยก็จะได้เครดิต และสร้างธุรกิจตัวเองขึ้นมา ได้รับการสนับสนุนมากมาย ทั้งธนาคาร ต่างประเทศ และลูกค้า ขณะที่อีกฝั่งที่ไม่ปรับตัวก็จะมีปัญหาทั้งด้านภาษี และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่สมดุลใหม่”

 

คาร์บอนเครดิตกลไกสู่ความยั่งยืน

 

ทั้งนี้ TGO เข้าไปมีบทบาทในการสร้างตลาดคาร์บอน หรือ คาร์บอนเครดิต เพื่อเอาคาร์บอนเครดิต มากระตุ้นให้องค์กรเล็กๆ สามารถคุ้มทุนได้เร็วขึ้น แทนที่จะรอจากการขายของ แต่เอาคาร์บอนเครดิตไปขายได้ คาร์บอนเครดิตจะเป็นมูลค่าเพิ่มขององค์กร ขณะที่ ในฝั่งที่มีปัญหาก็สามารถใช้คาร์บอนเครดิตในการลด โดยในปีนี้ระบบตลาดจะเริ่มทำงาน เริ่มกลไกตลาดที่เรียกว่า Carbon Market

 

เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า ความยั่งยืนขับเคลื่อนทำให้เกิดกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปิโตรเลียมที่ต้องปรับตัว พลังงานทดแทนจะต้องมาลงทุนกันใหม่ รวมถึง EV ซึ่งกำลังได้รับความนิยม และสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ความยั่งยืน และความกลัวต่อการที่ไม่สามารถรับมือกับ Climate Chang ได้ ต้องมาบีบตัวเองและปรับตัวอีกเยอะ ทุกอย่างต้องเปลี่ยน สิ่งที่ต้องทำคือ นำดิจิทัลเข้ามาช่วยในเรื่องของการประหยัดเวลา การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และเศรษฐกิจหมุนเวียน เหล่านี้จะเป็นหัวใจหลักที่ต้องทำ ท้ายนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบัน การปลูกต้นไม้ก็สามารถทำคาร์บอนเครดิตได้

 

ทั้งหมดนี้คือ การเปลี่ยนความกลัวเป็น 'โอกาส' ในการได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อส่งต่อโอกาสไปยังธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มคนตัวเล็กๆ ในการได้สร้างธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์