เปิดความเสี่ยง'ร้อนจัด-น้ำท่วม' ฉุดธุรกิจสิ่งทอโลกสูญ 2.3 ล้านล้านบาท
4 ประเทศอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา บังกลาเทศ และปากีสถาน อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพราะสภาพอากาศรุนแรงทั้งร้อนจัด และน้ำท่วมหนัก
บริษัทจัดการสินทรัพย์ชโรเดอร์สและมหาวิทยาลัยคอร์แนล เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดว่า 4 ประเทศอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา บังกลาเทศ และปากีสถาน อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพอากาศร้อนสุดขีดและภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดโรงงานจำนวนมากและคนงานต้องเจอปัญหาการทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดจนกระทบต่อการผลิต
ผลการศึกษา ซึ่งลงลึกถึงซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มยังพบด้วยว่า บริษัทเครื่องนุ่งห่มยักษ์ใหญ่ระดับโลกจำนวน 6 ราย ที่มีโรงงานใน 4 ประเทศนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักกันทั่วหน้า เช่น อาจฉุดกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทหนึ่งลดลงถึง 5% จากผลประกอบการตลอดทั้งปี
“ในบรรดาซัพพลายเออร์และผู้ซื้อที่เราได้คุยมา ไม่มีรายไหนเลยที่มองถึงปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้” เจสัน จัดด์ กรรมการบริหารของสถาบันแรงงานระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าวกับรอยเตอร์สและว่า “การรับมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ก็มีแค่การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น การรีไซเคิล และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแทบจะไม่มีหรืออาจไม่มีใครเลยที่มองถึงปัญหาน้ำท่วมและสภาพอากาศร้อนจัด”
แบรนด์ดังแต่ไร้ที่มาแหล่งผลิต
แม้ว่าทุกวันนี้จะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงทางกายภาพที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ แต่ในความเป็นจริงยังมีธุรกิจแค่จำนวนน้อยเท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลมากพอ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอให้ประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสมได้
“มีข้อมูลเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก บริษัทเสื้อผ้าบางแบรนด์ไม่มีการแจ้งเลยว่าโรงงานผลิตของพวกเขาตั้งอยู่ที่ไหน” แองกัส เบาเออร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยการลงทุนอย่างยั่งยืนของชโรเดอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์มูลค่ากว่า 7 แสนล้านปอนด์ (กว่า 31 ล้านล้านบาท) กล่าว
ชโรเดอร์สมีแผนที่จะหันไปเจรจากับบริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น พร้อมยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และภาครัฐเพื่อทำแผนยุทธศาสตร์การรับมือเตรียมเอาไว้
นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศร้อนจัดและระดับน้ำท่วมในอนาคตเอาไว้ เพื่อประเมินถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้ฉากทัศน์ หรือภาพจำลองเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2 เรื่องคือ ฉากทัศน์การปรับตัวตามสภาพอากาศ และฉากทัศน์ของสภาพอากาศร้อนจัดและน้ำท่วม
ซึ่งผลการศึกษาในกรณีหลังพบว่า การทำงานท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดจะทำให้คนงานมีความเครียดจากความร้อน (heat stress) มากขึ้นและยิ่งผลิตงานออกมาได้ลดลง ส่วนภาวะน้ำท่วมจะทำให้เกิดการปิดโรงงานใน 4 ประเทศเหล่านี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 18% ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั่วโลก และมีการจ้างงานในกลุ่มโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ารวมกันถึง 10.6 ล้านคน
ในภาพรวมนั้นผลผลิตที่ลดลงจะคิดเป็นรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่ลดลงถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการประมาณรายได้ระหว่างปี 2568 - 2573 หรือลดลงประมาณ 22% และเท่ากับอุตสาหกรรมยังจ้างงานได้ลดลง 9.5 แสนอัตราอีกด้วย และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.64 ล้านอัตรา ภายในปี 2593 หรือเท่ากับรายได้ลดลงไป 68.6%
นอกจากนี้ ยังมีเมืองอื่นๆ ที่เป็นฐานการผลิตเและมีความเสี่ยงต่อทั้งภาวะร้อนจัดและน้ำท่วมทั้งคู่อีกหลายเมืองด้วยกัน อาทิ เมืองโคลอมโบ ในศรีลังกา เมืองจิตตะกอง ในบังกลาเทศ เมืองย่างกุ้ง ในเมียนมา รวมไปถึงกรุงเทพฯ ของประเทศไทยด้วย
4 ประเทศที่มีความสำคัญกับวงการแฟชั่นโลก
บังกลาเทศ กัมพูชา ปากีสถาน และเวียดนาม นับเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของโลก โดยมีโรงงานเครื่องนุ่งห่มและรองเท้ารวมกันมากถึงราว 1 หมื่นแห่ง และมีการจ้างงานถึง 10.6 ล้านอัตรา โดยมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องนุ่งห่มคิดเป็น 18% ของการส่งออกทั่วโลก
สำหรับฐานการผลิตสำคัญในเมืองเหล่านี้ ได้แก่ ธากาในบังกลาเทศ พนมเปญในกัมพูชา การาจีและลาฮอร์ในปากีสถาน โฮจิมินห์และฮานอยในเวียดนาม ซึ่งล้วนเผชิญกับภาวะร้อนจัดและความชื้นสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมืองเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่เผชิญความเสี่ยงน้ำท่วมตามมาอีกด้วย
หนึ่งในสาเหตุที่ทีมวิจัยเลือกเมืองเหล่านี้ในการศึกษาก็คือ เป็นเมืองที่มีระดับของการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ผู้ผลิตในประเทศจนถึงบริษัทผู้ผลิตต่างชาติ และจำหน่ายให้กับผู้ค้าปลีกและแบรนด์แฟชั่นที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป
ทีมวิจัยมีเป้าหมายให้การศึกษาชิ้นนี้เป็นเหมือนมาตรวัดและเข้าใจถึงความเสี่ยงของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภาวะน้ำท่วม รวมไปถึง “การลงทุนในอุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งการวางแผนการเงินและการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องมีการประเมินค่าความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปด้วย