‘ดอกไม้บาน’ ใน ‘แอนตาร์กติกา’ สัญญาณเตือนหายนะครั้งใหญ่ของโลก
วิจัยเผย พืชใน “แอนตาร์กติกา” กำลังขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ส่วนภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็น “น้ำแข็งขั้วโลก” มีปริมาณต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และละลายอย่างรวดเร็วจาก “ภาวะโลกร้อน” ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นสัญญาณเตือนหายนะครั้งใหญ่ของโลก
ภาพดอกไม้สีสันสดใสบานสะพรั่งอยู่บนโขดหินในทวีปแอนตาร์กติกา กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ชื่นชมถึงความสวยงาม แถมรู้สึกแปลกใจที่เห็นดอกไม้ไปโผล่อยู่บนทวีปที่หนาวเหน็บเต็มไปด้วยน้ำแข็ง
แม้จะสวยงามแต่การที่มีต้นไม้ออกดอกที่นี่ไม่ใช่เรื่องนี่น่ายินดี นักวิทยาศาสตร์เผยว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล แสดงให้เห็นว่าน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว
ปรกติแล้วส่วนใหญ่ของทวีปแอนตาร์กติกาปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและหิมะ ก่อนหน้านี้จึงไม่มีพื้นที่เหลือให้พืชเติบโตมากนัก ไม่มีต้นไม้หรือพุ่มไม้ และพืชที่มีอยู่นั้นจำกัดอยู่เพียงหมู่เกาะเซาท์ออร์กนีย์ หมู่เกาะเซาท์เช็ตแลนด์ และตลอดแนวคาบสมุทรแอนตาร์กติกตะวันตก แต่ในปัจจุบันมีพืชขึ้นอยู่ในหลายพื้นที่ของแอนตาร์กติกา
- พืชพันธุ์เติบโตอย่างรวดเร็วในแอนตาร์กติกา
ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรีย ในอิตาลี ที่เผยแพร่ในปี 2022 ที่ทำการศึกษาจำนวนพืชพื้นถิ่นของแอนตาร์กติกา 2 ชนิด คือ หญ้าขนแอนตาร์กติก (Deschampsia Antarctica) และ เพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก (Antarctic Pearlwort) บนเกาะซิกนีย์ ระหว่างปี 2009-2019 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ (1960-2009)
ทีมวิจัยพบว่าจำนวนของพื้นทั้งสองชนิดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2012 รวมถึงศัตรูทางธรรมชาติอย่าง “แมวน้ำขน” (Fur Seals) มีจำนวนลดลง จนไม่มีใครคอยเหยียบย่ำส่งผลให้ต้นไม้ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
อุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกามีแนวโน้มที่จะขึ้นสูงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2565 พื้นที่แอนตาร์กติกาตะวันออกเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดจนถึงปัจจุบัน ทำให้อุ่นขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส จนนักวิจัยในพื้นที่สามารถสวมกางเกงขาสั้น และถอดเสื้อเพื่ออาบแดดได้
ปีเตอร์ คอนเวย์ จากสำนักสำรวจแอนตาร์กติกแห่งอังกฤษ ระบุว่า การเติบโตของพืชในแอนตาร์กติกาทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือจุดเปลี่ยนของโลกใบนี้
นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังอาจทำให้สายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามารุกรานและแย่งพื้นที่เติบโตของพืชพื้นเมือง อาจทำให้ระบบนิเวศในท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพหายไป
นิโคเล็ตตา แคนนอน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า “ถ้าหากพืชสามารถเติบโตได้ดีบนเกาะซิกนีย์ แสดงว่าพื้นที่อื่น ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกาก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน หมายความว่าภูมิทัศน์และความหลากหลายทางชีวภาพของแอนตาร์กติกสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว”
- ปริมาณน้ำแข็งลดลงเป็นประวัติการณ์
ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า น้ำแข็งทะเลรอบทวีปแอนตาร์กติกากำลังลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ แผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่บนพื้นผิวของแอนตาร์กติกา มีปริมาณเหลือไม่ถึง 17 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปริมาณแผ่นน้ำแข็งในเดือน ก.ย. ถึง 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพื้นที่ขั้วโลก ออกโรงเตือน ความไม่เสถียรของทวีปแอนตาร์กติกาอาจส่งผลกระทบตามมาในวงกว้าง เนื่องจาก แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ของทวีปแอนตาร์กติกาเป็นตัวกำหนดระดับอุณหภูมิโลก โดยพื้นผิวน้ำแข็งสีขาวของทวีปทำหน้าที่สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับไปยังชั้นบรรยากาศ และยังช่วยทำให้โลกเย็นลง
แต่เมื่อเราสูญเสียน้ำแข็งปกคลุมในทะเล มหาสมุทรก็เข้ามาแทนที่ โดยดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ถึง 90% ซึ่งในที่สุดก็จะทะลักเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและทำให้ภาวะโลกร้อนเกินเร็วขึ้นอีก
ในช่วงมี.ค.-ก.ย. 2566 อาร์กติกสูญเสียน้ำแข็งในทะเลขนาดใหญ่กว่า 3 เท่าของประเทศอินเดีย หรือประมาณ 9.86 ล้านตารางกิโลเมตร ส่วนแอนตาร์กติกามีพื้นที่น้ำแข็งไปเท่ากับ 5 เท่าของพื้นที่สหราชอาณาจักร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.22 ล้านตารางกิโลเมตร
อาจจะดูเหมือนสถานการณ์ของแอนตาร์กติกาจะดูดีกว่าอาร์กติก แต่น้ำแข็งของแอนตาร์กติกาก็ยังละลายเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้อยู่ดี โดยในช่วงเวลานี้ควรมีน้ำแข็งอย่างน้อย 18.71 ล้านตารางกิโลเมตร
ดร.วอลเตอร์ ไมเออร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับขั้วโลก ไม่คิดว่าน้ำแข็งในทะเลจะฟื้นคืนกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้อีกแล้ว เนื่องจากฤดูละลายเริ่มเร็วขึ้นและยาวนานกว่าปกติมาก อาร์กติกและแอนตาร์กติกาจึงแทบไม่มีเวลาสะสมน้ำแข็งทะเลคุณภาพดี ตอนนี้มีแต่น้ำแข็งเป็นแพเล็ก ๆ มีความเข้มข้นต่ำกว่าเดิม
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก คลื่นความร้อนในแอนตาร์กติกคาดว่าจะสูงขึ้นอีกประมาณ 5 - 6 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ และส่งผลกระทบที่จะกลายเป็นหายนะไปทั่วโลก
ที่มา: BBC, Mashable, Plants Craze, Unilad, Washington Post, Weather