นักวิจัยญี่ปุ่นพบ ‘ไมโครพลาสติกในเมฆ’ เสี่ยงโลกร้อนทวีคูณ
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ค้นพบไมโครพลาสติกในเมฆเป็นครั้งแรก ! หากมีไมโครพลาสติกในชั้นบรรยากาศเจอรังสีจากดวงอาทิตย์ แล้วเสื่อมสภาพ อาจทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม !
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นักวิจัยญี่ปุ่นพบไมโครพลาสติกในก้อนเมฆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทางใดทางหนึ่ง แต่ยังไม่ทราบแน่ชัด
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ “Environmental Chemistry Letters” ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นปีนภูเขาฟูจิ และโอยามา เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำจากหมอกที่ปกคลุมบริเวณยอดเขา จากนั้นใช้เทคนิคถ่ายภาพขั้นสูงตรวจตัวอย่างหมอกที่เก็บมา เพื่อหาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี
จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกในอากาศ ได้แก่ โพลีเมอร์ 9 ชนิด และยาง 1 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร และน้ำจากเมฆในแต่ละลิตร จะมีไมโครพลาสติกอยู่ 6.7-13.9 ชิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น น้ำจากเมฆยังเต็มไปด้วยสารที่ชอบน้ำ หรือโพลีเมอร์ที่ชอบน้ำจำนวนมาก และว่า อนุภาคเหล่านี้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยหนุนการก่อตัวเมฆอย่างรวดเร็ว และกระทบระบบสภาพอากาศ
“ฮิโรชิ โอโกชิ” ผู้นำเขียนวิจัย จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ เตือนในรายงานเมื่อวันพุธ (27 ก.ย.66) ว่า
“ถ้าปัญหามลพิษพลาสติกทางอากาศยังไม่ได้แก้ไขแบบเชิงรุก อาจทำให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และมีความเสี่ยงทางนิเวศวิทยา สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจหวนคืนในอนาคต”
“เมื่อไมโครพลาสติกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น และสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ อนุภาคเหล่านั้นอาจเสื่อมลง และสร้างก๊าซเรือนกระจกได้” โอโกชิ เสริม
แม้ยังไม่ทราบกลไกการเดินทางของอนุภาคเหล่านี้อย่างแน่ชัด แต่ผู้เขียนวิจัยบอกว่า นี่เป็นรายงานแรกที่ค้นพบไมโครพลาสติกในน้ำเมฆ
ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกคือ อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากแหล่งน้ำทิ้งอุตสาหกรรม สิ่งทอ ยางรถยนต์สังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และอื่นๆ
อนุภาคชนิดนี้ เคยพบในปลา ที่อาศัยอยู่ในส่วนลึกที่สุดของมหาสมุทรที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก และพบในหิมะ ที่ปกคลุมภูเขาพิเรนีส์ ระหว่างฝรั่งเศส และสเปน
นอกจากนี้ งานวิจัยใหม่ๆ พบว่า ไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ และปอด ก่อให้เกิดมะเร็ง และทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์