ระวัง! ไข้เลือดออกเอเชียใต้ระบาดหนัก เหตุ'โลกร้อน-ฤดูมรสุม'นานขึ้น
ไข้เลือดออกกำลังระบาดอย่างหนักในเอเชียใต้ในปีนี้ โดยเฉพาะบังกลาเทศมีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ผู้เชี่ยวชาญระบุมีปัจจัยจากโลกร้อนและฤดูมรสุมที่ยาวนานขึ้น
บังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างน้อย 691 ราย ในปีนี้และผู้ติดเชื้ออีกกว่า 138,000 ราย ทำให้ปีนี้ เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในปี 2543 และเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถิติสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 281 รายในปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน เนปาลมีผู้เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกอย่างน้อย 13 ราย และผู้ติดเชื้ออีกกว่า 21,200 รายในปีนี้ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขวิตกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตของปีนี้อาจเทียบเท่ากับปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 88 ราย และผู้ติดเชื้อ 54,000 ราย
แต่ไข้เลือดออกไม่ได้จำกัดระบาดอยู่ในเอเชียใต้เท่านั้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวม 4.2 ล้านรายในปี 2565 เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากปี 2543 องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนด้วยว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคเขตร้อนที่แพร่ระบาดเร็วที่สุด และเสี่ยงระบาดทั่วโลก
นักกีฏวิทยาและนักระบาดวิทยา ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นและฤดูมรสุมที่ยาวนานขึ้นทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การแพร่พันธุ์ของยุง
ขณะที่นักระบาดวิทยาในบังกลาเทศ ระบุว่า การขาดมาตรการป้องกันที่เหมาะสมทำให้ยุงแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออกไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ และสภาพอากาศเหมาะสมต่อการแพร่พันธุ์ยุง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในเดือนกันยายน ปกติไข้เลือดออกจะระบาดในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย. เมื่อยุงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง
นอกจากนี้ นักวิจัยในเนปาล ยังเผยว่า การระบาดของไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเริ่มพบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าช่วงฤดูมรสุม และพื้นที่ในแถบภูเขาที่ไม่เคยมีการระบาด ก็กำลังพยายามควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อในขณะนี้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่แปลก
WHO ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ไข้เลือดเพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกร้อนขึ้น บวกกับปัจจัยอื่น เช่น การเคลื่อนย้ายของคนและสินค้า การขยายของเมือง และปัญหาเกี่ยวกับสุขอนามัย
เมื่อเดือนก.ค. WHO บอกว่า ปริมาณฝนตกหนักที่ผิดปกติในบังกลาเทศ บวกกับอุณหภูมิสูงขึ้น และความชื้นสูงขึ้น ทำให้ประชากรยุงเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบังกลาเทศประสบฤดูมรสุมยาวนานกว่าปกติ โดยมีฝนตกตั้งแต่เดือนมี.ค.-ต.ค. และมีแหล่งน้ำนิ่งที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของยุงมากยิ่งขึ้น