ถอดบทเรียน ‘เอสซีจี’ ยั่งยืน คว้าโอกาสในวิกฤติ หนุนคนรุ่นใหม่เคลื่อนองค์กร
“เอสซีจี” เดินหน้าองค์กรยั่งยืน ต้องมองโอกาสในช่วงวิกฤติ สร้างสมดุล 3 มิติ การเงิน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี พร้อมหนุนคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเคลื่อนองค์กร
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวบนเวทีเสวนา "TSCN CEO PANEL: ปรับตัวอย่างไร ให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” ในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2566 ว่า ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงกำลังฟื้นตัวจากโควิดแล้วกลายเป็นว่าเกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียยูเครนตามมาซึ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นไปรวมถึงวิกฤติด้านอาหาร กดดันภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้กลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่หลายคนนึกไม่ถึง
ทั้งนี้ ทุกคนเผชิญวิกฤติเหมือนกันหมดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้พลังงาน แต่บริษัทจะรอดได้อย่างไร รวมทั้งหลังจากหมดวิกฤติแล้วจะปรับตัวเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าคนอื่นได้อย่างไรด้วย
สำหรับเอสซีจี มองว่าถือเป็นโชคดีที่ราคาถ่านหินแพงขึ้น 4 เท่า จึงทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนมาสร้างซัพพลายเชนของพลังงานทางเลือกอื่นๆ ลดการใช้ถ่านลงจาก 80% เหลือครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี
“พอเจอวิกฤติกลายเป็นว่าทำให้คนวื่งเร็วขึ้น และเกิดนวัตกรรมได้ดีที่สุด เพราะถ้าไม่ทำก็ไปไม่รอด และหามุมมองให้เป็นโอกาส ปรับตัว ซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ไปได้บริษัทจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหลายอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตใหม่สูงมากและทำได้ยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป เอสซีจีเองเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซลง 5% ถึงอย่างนั้นก็ต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ด้วย เพราะการลดแบบในปัจจุบันมองว่าอีก 3 ปี ก็ตันแล้ว
โดยเอสซีจีมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนในสหรัฐหลังจากที่มีการผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งมีนโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดเงินเฟ้อในระยะยาว ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวในสหรัฐ ซึ่งทำให้การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น การย้ายฐานผลิตโซลาร์เซลล์เข้ามาที่สหรัฐ การลงทุนด้านโลจิสติกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และระบบราง
“มาตรการของสหรัฐเป็นตัวจุดประกายว่าการทำเรื่องความยั่งยืนมีวิธีอีกแบบ ซึ่งผมเห็นด้วยและมองว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจคือส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เชื่อว่าในระยะเวลา 10 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่ เพราะเพียงปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นเม็ดเงินลงทุนในโซลาร์เซลล์ทะลุเงินลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สเป็นครั้งแรก และเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ ลมไฮโดรเจน ใน 10 ปีข้างหน้า ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่าเช่นกัน”
นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยการเข้าไปลงทุนของเอสซีจีอาจไม่ใช่การเข้าไปร่วมทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนเพื่อเข้าไปศึกษาหลายๆ เรื่อง เพราะเทคโนโลยีเรื่องของกรีนมีเยอะ
ทั้งนี้ บทเรียนเรื่องความยั่งยืน 15 ปีที่ผ่านมาสำหรับผมคือ ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอยหลังกลับไปได้ เรามีเพียงแต่ต้องอยู่กับมันให้ได้และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หันไปคุยกับคนที่ทำเรื่องเดียวกัน
เรื่องความยั่งยืนไม่มีทางลัด ผู้นำต้องสู้ก่อนและให้เวลากับมัน ให้เดินไปข้างหน้า และทำให้คนในองค์กรคิดไปในทิศทางเดียวกันได้
นอกจากนี้ องค์กรจะต้องสร้างสมดุลของ 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อสังคม และมิติด้านเทคโนโลยี
“สุดท้ายต้องผลักเรื่องเหล่านี้ออกไปให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรียนรู้วิธีคิด โดยผู้นำต้องทำตัวเป็นผู้สนับสนุน”
ขณะเดียวกัน เรื่องความยั่งยืนรัฐไม่เข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ ยืนเชียร์อยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก เปรียบเทียบเมื่อก่อนเป็นทางผลิตแบบเส้นตรง ผลิต-ขาย-ใช้-ทิ้ง และหลายเรื่องที่ต้องทำต้องเปลี่ยนแปลงที่นโยบายทุกฝ่ายต้องทำงานเป็นทีมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม