อุณหภูมิสูงสุดขั้วในเดือนก.ย.ปัจจัยเสี่ยง ภาคเกษตรและการผลิตอาหารโลก
เดือนก.ย.ที่ผ่านมานั้นทั่วโลกเผชิญกับสภาพอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำลายสถิติตามชุดข้อมูลระหว่างประเทศชั้นนำที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)ซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วนี้อาจกระทบต่อกระบวนการผลิตอาหารของโลก
จากข้อมูลของ Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรป(อียู) ที่ดำเนินการโดยศูนย์พยากรณ์อากาศช่วงกลางแห่งยุโรป ระบุว่า เดือนก.ย.มีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ย 16.38 องศาซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิของเดือนก.ย.ที่อบอุ่นที่สุดก่อนหน้านี้ 0.5 องศา ในปี 2020 และสูงขึ้นประมาณ 1.75 องศาในเดือนก.ย. เมื่อเทียบกับช่วงก่อนอุตสาหกรรมอ้างอิงปี 1850-1900
องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ(NOAA) ระบุว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า99% ที่ปี 2023 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เดือนก.ย.ถือเป็นเดือนที่ร้อนผิดปกติมากที่สุดในรอบ 174 ปี
"NASA (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐ)ยังยืนยันด้วยว่าเป็นเดือนก.ย.ที่ร้อนที่สุด อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และแอฟริกา ต่างก็มีเดือนก.ย.ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เอเชียมีเดือนก.ย.ที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสอง ในขณะที่เดือนก.ย.ในโอเชียเนียอยู่ในอันดับที่สาม"
ปรากฎการณ์อุณหภูมิสูงสุดผิดปกติ มีสาเหตุมาจากภาพรวมของอุณหภูมิในบริเวณต่างๆทั่วโลกที่ร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพราะอาการและอุณหภูมิโลกต่างถ่ายเทและไหลวนซึ่งกันและกันทั่วโลก
เพตเตรี ทาลาส เลขาธิการ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่า อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลรายเดือนสูงสุดผิดปกติเพิ่ม 1.03 องศาเป็นประวัติการณ์ ส่วนแอนตาร์กติกามีเดือนก.ย.ที่อบอุ่นที่สุด รวมถึงขอบเขตน้ำแข็งในทะเลยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ "
ขณะที่รายงานการสังเคราะห์ฉบับใหม่จากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้แสดงตัวอย่างพิมพ์เขียวของภาคีในการประชุม COP28 ตามข้อตกลงปารีสกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อชี้แนะทุกประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญและหลีกเลี่ยงหรือลด ผลกระทบเชิงลบและความสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้อง
โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย. โลกเผชิญกับความร้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งทางบกและทางทะเล ความผิดปกติของอุณหภูมินั้นยิ่งใหญ่มาก โดยขอบเขตน้ำแข็งในทะเลฤดูหนาวของแอนตาร์กติกอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเวลาของปี สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือเหตุการณ์เอลนีโญที่ร้อนขึ้นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงคาดว่าอุณหภูมิที่ทำลายสถิตินี้จะดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือน โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะยืดเยื้อ 2-3 ปี ซึ่งภาวะแห้งแล้งมากขึ้นฝนน้อยลงจะกระทบต่อภาคการเกษตรโดยเฉพาะในพืชที่ใช้น้ำในปริมาณมาก
“แต่ก่อนประเทศไทยสามารถปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรังได้อาจจะต้องมีการปรับแผนเหลือแค่ข้าวนาปีเพราะต้องมีการสำรองน้ำให้กับการเกษตรในส่วนอื่นด้วย”
อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยก็จะสามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนพืชที่ใช้น้ำมากก็จำเป็นต้องปลูกให้น้อยลง รวมถึงผลผลิตที่น้อยลงจะส่งผลต่อระดับราคาเพราะซัพพลายน้อยลงถ้าความต้องการยังเท่าเดิมราคาก็จะมีการขยับเพิ่มมากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้ราคามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่เกิดจากการพยายามควบคุมเงินเฟ้อโดยการขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดน้อยลง ในส่วนของประเทศสหรัฐอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตซึ่งส่งผลให้ทั่วทั้งโลกต้องขึ้นดอกเบี้ยตามทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพทางด้านการเงิน และการใช้จ่าย
“จากปัจจัยต่างๆ ทีี่อาจมีผลจากสภาพอากาศด้วยนั้น จะทำให้สินค้าอาหารมีปริมาณลดลง และราคาก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการสร้างบาลานซ์ในระบบการเกษตรและเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่”
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงการกักตุนอาหารเพิ่ม แต่ควรเป็นการบริหารจัดการเพื่อให้การสร้างสมดุลการเข้าถึงอาหารของประชากรโลกทุกคนเกิดขึ้นได้จริงแม้ในภาวะที่ภาคการผลิตอาหารเผชิญความเสี่ยงด้านปริมาณและคุณภาพการผลิต อันเกิดจากปัญหาสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้น เช่น กรณีเดือนก.ย.ที่รอบที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก