"ภาษีคาร์บอน"WEF ถกบทบาทใหม่ ต้องดันเศรษฐกิจโตได้ - ลดความเหลื่อมล้ำด้วย
กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีหลายภาคส่วน “ภาษี” ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่จะทำให้เศรษฐกิจที่มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์สามารถเข้าถึงผลผลิตที่ได้จากการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum : WEF
การประชุมประจำปีว่าด้วยสภาแห่งอนาคตโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ ดููไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในส่วนของวงเสวนา “What Kind of Growth Do We Need to Sustain Our Future?” ได้พูดถึงการอุดหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งมีความซับซ้อนของปัญหาในระดับโลก ยกตัวอย่างเรื่อง “ภาษีคาร์บอน” ที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Sustainability and the Environment: MSE)และสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency: NEA) ของประเทศสิงคโปร์ ได้กำหนดเกณฑ์ คุณสมบัติภายใต้กรอบคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ (International Carbon Credit Framework: ICC) โดย จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2024 เป็นต้นไป สาระสำคัญคือ สามารถใช้ คาร์บอนเครดิตที่ได้รับอนุญาตตามที่คณะกรรมการอนุมัติ ในการชดเชยภาษีคาร์บอนที่ต้องจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 5% และยังมีการลงนามความตกลงร่วมกับ 5 มาตรฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อ และความมั่นใจในการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง และตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กติกาเหล่านี้คือ สิ่งบ่งชี้ว่า การจัดการกลไกทางเศรษฐกิจเพื่อชดเชยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนทำลายชั้นบรรยากาศนั้น ต้องเป็นกลไกที่เชื่อถือได้ และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่ม
คุมิ คิตะโมริ รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า คุณภาพของเมืองน่าอยู่ต้องมีปัจจัยต่างๆ และครอบคลุมในบริบท 2 ประเด็นหลัก คือ 1.วิกฤติสภาพภูมิอากาศซึ่งต้องมีการเร่งดำเนินการครั้งใหญ่ รวมถึงขยายขนาดการดำเนินการ 2.ปัจจัยที่ครอบคลุมถึงด้านความเท่าเทียม ซึ่งการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลนั้นมีปฏิกิริยาต่อ ภาษีคาร์บอนที่สูง ซึ่งการทำงานร่วมกันของสังคมจะเป็นการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยืดหยุ่นได้ในเรื่องของการศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในการดำเนินงาน
โดยเงินก้อนใหญ่ที่ว่านี้สามารถนำมาจาก ภาษีคาร์บอนที่จะนำกลับมาตอบแทนการใช้จ่ายทางสังคม เช่น การแนะนำการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำก็ต้องมีการเพิ่มทักษะให้คนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ด้าน อเล็กซ์ เอ็ดแมนส์ ศาสตราจารย์ด้านการเงิน London Business School กล่าวว่า การเติบโตทางการเงินทำให้สวัสดิการทางสังคมดีขึ้น แต่ต้องตระหนักว่าการเติบโตมีหลายรูปแบบ เช่น ทุนทางกายภาพ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานโครงสร้างต่างๆ อย่าง โรงเรียน
โรงพยาบาล หรือ ฟาร์มกังหันลม ส่วนทุนทางสังคม ก็เช่น การสร้างการเติบโต และสุขภาพที่ดีของมนุษย์ หรือแม้แต่การช่วยเหลือคนที่อาจต้องตกงาน และทุนทางธรรมชาติซึ่งจะช่วยการอนุรักษ์ และสร้างความยั่งยืนอีกด้วย
"ทุนทางการเงินนั้นทำให้ประชาชนสามารถออม และลงทุนเพื่ออนาคตได้ และเป็นข้อมูลที่ระบุไว้ในจีดีพีประเทศ แต่ทุนที่มองไม่เห็นก็มีความสำคัญ และต้องติดตามให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีคุณค่าทางสังคมด้วย "
สำหรับกลไกทางภาษี จะเป็นทั้งแรงจูงใจให้นักลงทุนก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน เช่น การเลิกใช้พลังงานฟอสซิล ขณะเดียวกันภาษีก็จะเป็นเหมือนบทลงโทษหากกิจกรรม หรือการลงทุนนั้นๆ จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การเพิ่มภาษีไม่ใช่ทางออกทั้งหมด แต่การเข้าใจ และสร้างกลไกการชดเชยคาร์บอนที่เหมาะสมและมีคุณภาพต่างหากจะเป็นการมุ่งสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
มาซูด อาเหม็ด ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาโลก กล่าวว่า ประชากรในแอฟริกากว่า 700 ล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่ประเทศร่ำรวยใช้ทรัพยากรต่างๆ จำนวนมาก จะเห็นถึงการกินส่วนแบ่งการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีความเท่าเทียม นี่เป็นตัวอย่างที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่จะมีเพิ่มขึ้น จากความซับซ้อนในการพัฒนาของโลกยุคปัจจุบัน
กลไกภาษีคาร์บอน อาจเป็นภาระของผู้ที่ต้องจ่าย ในทางกลับกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินภาษีคาร์บอน อาจเคยเป็นผู้ที่สูญเสียที่มากกว่า “เงิน” ที่สมควรได้รับการชดเชย ดังนั้นภายใต้กลไกภาษีที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมคือ การส่งผ่านให้ภาคการเงินสามารถส่งต่อการพัฒนาไปถึงภาคสิ่งแวดล้อม และสังคมได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์