เป้าหมายลดปัจจัยก่อฝุ่นPM2.5 แผนปี 67ยกระดับปฏิบัติการระดับชาติ

เป้าหมายลดปัจจัยก่อฝุ่นPM2.5  แผนปี 67ยกระดับปฏิบัติการระดับชาติ

ใกล้สิ้นปี สิ่งที่มาประจำพร้อมเทศกาลแห่งความสุขคือ ฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นพิษ และมีขนาดเล็กที่ดักจับ หรือจัดการได้ยาก ขณะที่การเกิดขึ้นของฝุ่นชนิดนี้ กลับง่ายมาก

นายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดถึงเรื่องการติดตามสถานการณ์สภาพอากาศว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียม และยกระดับมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงปี 2567 อาทิ การกำหนดพื้นที่เป้าหมายแบบมุ่งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่เผาซ้ำซากคือ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ การจัดระเบียบควบคุมผู้ใช้ประโยชน์ การทำกติการ่วมกันระหว่างรัฐ และเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการสถานการณ์ไฟป่า การตั้งจุดตรวจสกัด พร้อมดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม และเร่งนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM 2.5 Free) มาใช้

นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนสร้างกลไกการบริหารจัดการระดับชาติ และระดับจังหวัด ยกระดับการเจรจาเป็นระดับทวิภาคี และใช้เงื่อนไขทางการค้าเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนแก้ไขปัญหา โดยให้สิทธิประโยชน์ และแรงจูงใจตอบแทน โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ 

1) พื้นที่เผาไหม้ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน ลดลง 50% 

2) พื้นที่เกษตรกรรมเผาไหม้ ลดลง 50%

3) ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง 40% 

4) จำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ลดลง 30%

“รัฐบาลคำนึงถึงคุณภาพอากาศที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ กำชับให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแผนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว ระมัดระวัง และดูแลตัวเองเป็นพิเศษ พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด”

ในช่วงเวลานี้คือ ปลายฤดูฝน และจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้มีฝุ่นละอองสะสม และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า สถานการณ์ที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) จะคงอยู่อีก 1 - 2 วัน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2566 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ) และปรับปรุงค่าดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย (Air Quality Index : AQI) ให้มีความสอดคล้องกับค่ามาตรฐานใหม่ ทำให้ระบบการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร การรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ได้รวดเร็วขึ้นผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน Air4Thai พร้อมขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขโดย

จากความพยายามต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็มีอีกสัญญาณเล็กที่ส่งออกมาว่าน่าจะช่วยให้สภาพอากาศประเทศไทยดีขึ้น โดยปัญหาฝุ่น PM2.5 จะไม่ใช่เหตุการณ์ประจำถิ่น ประจำฤดูกาลอีกต่อไป เพราะความนิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า กำลังเพิ่มขึ้น แม้ในทางปฏิบัติจริง จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่ายานยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลเดิมอยู่มาก โดย สถิติยอดขายรถยนต์เดือนส.ค.2566 มีจำนวน 60,234 คัน ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ 3.62% ในจำนวนนี้  เป็นรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 47,683 คัน แม้ยอดขายจะลดลงจากปีที่แล้ว 23.65% จากรถยนต์ประเภทนี้ยังเป็นส่วนใหญ่ของท้องถนน 

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จำนวน 6,063 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 767.38 % รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 131 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 49.03% รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 6,357 คันเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 32.47%  ซึ่งความพยายามเปลี่ยนการใช้พลังงานในรถยนต์บนท้องถนนจะมีอัตราเร่งที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญแต่ในภาพรวมแล้ว ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย ดังนั้น สถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบันหากยังไม่เดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเป็นระบบหรือทำให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ก็จะทำให้ปัญหานี้ยังอยู่กับสังคมไทยอีกต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์