'งดลอยกระทง 2566' แรงทะลุโซเชียล เมื่อการขอขมาตามความเชื่อทำร้ายแม่น้ำ
"งดลอยกระทง" แรงทะลุโซเชียล ชาวเน็ตส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าไม่ควรลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิด พร้อมส่องสถิติ "ขยะกระทง" ตั้งแต่ปี 2560 - 2565 ล้นทะลักแทบทุกปี
“วันลอยกระทง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 แต่ชาวโซเชียลออกมารณรงค์อย่างหนักว่า ปีนี้ควร “งดลอยกระทง” เพราะเป็นการเพิ่มขยะให้แหล่งน้ำธรรมชาติ และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักทุกปี โดยเพจชื่อดังด้านสิ่งแวดล้อมต่างออกมาโพสต์รณรงค์เรื่องนี้กันในหลากหลายมุม
- เราขอขมาสิ่งที่มองไม่เห็น แต่กลับทำร้ายธรรมชาติที่เห็นอยู่ตำตา
เริ่มจากเพจขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ ได้ออกมารณรงค์ให้ยกเลิกการลอยกระทงในทะเล โดยระบุว่า “ยกเลิกลอยกระทงในทะเล ถ้าลดไม่ได้ ก็เลิกลอยในแหล่งน้ำเปิด ในแต่ละปีการลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิดที่ไร้การจัดการ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทั้งขยะ ตะปูโลหะ เกลื่อนชายหาด และลำคลอง ตกค้างเป็นเดือน
เรายังคงยืนยันให้เลิกลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิด ถ้าไม่มีการวางระบบที่ดีพอ เพราะนี่ไม่ใช่การขอขมา แต่เป็นการฆ่าท้องทะเล แม่น้ำ ลำคลอง มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาด เราบูชาสิ่งที่มองไม่เห็น แต่กลับทำร้ายธรรมชาติที่เห็นอยู่ตำตา”
- 27 พ.ย. นี้ ลดขยะ ไม่ลอยกระทง หยุดลอยกระทงในทะเล
ขณะที่เพจ Environman ก็โพสต์ข้อความรณรงค์สั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความว่า “27 พ.ย.66 ลดขยะ ไม่ลอยกระทง ลอยอะไรดี..?” พร้อมมีคำแนะนำให้มีการจัดการกิจกรรมลอยกระทงแบบไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ลอยกระทงในที่ปิด ลอยเสร็จแล้วให้เก็บกระทงกลับไปได้, ลอยกระทงน้ำแข็ง ตกแต่งให้น้อย, ไปด้วยกันหลายคน ลอยกระทงแค่อันเดียว, งดการใช้ตะปู เข็ม ที่เย็บกระดาษในกระทง, งดกระทงโฟม กระทงขนม, งดลอยโคม, ลอยกระทงออนไลน์แทน
ส่วนเพจ Trash Mission Thai Mueang ออกมารณรงค์ให้ลอยกระทงแบบรักษ์โลกเช่นกัน โดยขอให้ทุกคนหยุดลอยกระทงในทะเล เพื่อลดภาระสิ่งแวดล้อม, จำกัดพื้นที่ลอยกระทง ใช้สถานที่ปิดเพื่อลดการกระจายขยะ, ทำกระทงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หยุดใช้วัสดุที่เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ, เที่ยวงานลอยกระทง ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด เป็นต้น
- สถิติการเก็บขยะกระทงย้อนหลัง ปี 2565 ขยะกระทงกลับมาพุ่งสูงอีก
ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับการ “งดลอยกระทงในพื้นที่เปิด” เพราะการขอขมาพระแม่คงคาตามความเชื่อ ไม่ควรเป็นการทำลายแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาหลังจบงานประเพณีวันลอยกระทงแต่ละปี เรามักจะเห็นภาพขยะกระทงจำนวนมากลอยเกลื่อนแหล่งน้ำ แม้เจ้าหน้าที่จะเก็บขยะขึ้นจากน้ำทุกปีแต่บางส่วนก็ยังคงปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
โดยข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต เปิดเผยถึงสถิติการเก็บขยะกระทงย้อนหลัง 6 ปี ระบุว่า ปริมาณกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหาคร ในช่วงปี 2560-2561 ทะลุกว่า 8 แสนใบ ต่อมาในช่วงปี 2562-2564 ปริมาณขยะกระทงลดลงเกือบครึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนไม่ค่อยออกมาลอยกระทงกัน แต่พอมาถึงปี 2565 ปริมาณกระทงก็พุ่งสูงอีกครั้ง โดยมีตัวเลขการจัดเก็บขยะกระทงของแต่ละปี ดังนี้
ปี 2560 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 811,945 ใบ
ปี 2561 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 841,327 ใบ
ปี 2562 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 502,024 ใบ
ปี 2563 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 492,537 ใบ
ปี 2564 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 403,235 ใบ
ปี 2565 จัดเก็บกระทงได้จำนวน 572,602 ใบ
ทั้งนี้ ในปี 2565 พบว่ามีขยะที่เป็น “กระทงโฟม” จำนวน 24,516 ใบ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 จากปีก่อนที่มีเพียงร้อยละ 3.5 ส่วนในปี 2566 น่าจับตาว่าจากกระแสการรณรงค์ “งดลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิด” ภายหลังจากวันลอยกระทงเจ้าหน้าที่ กทม. จะจัดเก็บกระทงได้จำนวนกี่ใบ อีกทั้งในงานประเพณีวันลอยกระทงในต่างจังหวัดทั่วไทยจะมีภาพขยะกระทงลอยเกลื่อนแหล่งน้ำธรรมชาติอีกหรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์