‘อัฟกานิสถาน’ ได้รับผลกระทบ ‘โลกร้อน’ อันดับ 1 ของโลก ส่วน ‘ไทย’ อยู่ที่ 13
จากการจัดอันดับ 20 ประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” มากที่สุด พบว่า “ประเทศไทย” อยู่อันดับที่ 13 จากปัญหาภัยแล้ง ส่วนอันดับ 1 คือ “อัฟกานิสถาน” ที่เผชิญปัญหาความอดอยาก
Key Points:
- “ประเทศไทย” อยู่ในอันดับที่ 13 จากทั้งหมด 20 อันดับของประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” มากที่สุดในโลก
- ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของไทยส่วนมากเกิดจาก “ภัยแล้ง” และปริมาณน้ำฝนที่ลดลง รวมถึงการสูญเสียชายฝั่ง ทำให้ประชาชนบริเวณนั้นไม่มีที่อยู่อาศัย
- “อัฟกานิสถาน” ได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 1 โดยมีปัญหาหลัก คือ การผลิตอาหารลดลงจากภัยแล้ง ทำให้ประชาชนกว่า 23 ล้านคน อยู่ในสภาวะอดอยาก
“ภาวะโลกร้อน” ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โลกเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 1981 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 และแน่นอนว่าเมื่อโลกร้อนขึ้นย่อมเกิดผลกระทบทางธรรมชาติที่รุนแรงตามมา หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะประเทศ 20 อันดับแรกของโลกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากรายงานล่าสุดของ yahoo finance พบว่า หลายประเทศในโลกเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น พายุไซโคลน น้ำท่วมใหญ่ ปัญหาความแห้งแล้ง ปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว คลื่นความร้อน การขาดแคลนอาหาร และการสูญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด เป็นต้น
จากการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้ พบว่า “ประเทศไทย” อยู่ในลำดับที่ 13 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ส่วนอันดับหนึ่งได้แก่ประเทศอัฟกานิสถาน โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2019 ไทยเคยอยู่อันดับที่ 9
ในรายชื่อประเทศ 20 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด เป็นการพิจารณาจากความสูญเสียด้าน “เศรษฐกิจ” และ “การเสียชีวิต” ของคนในประเทศมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เรียงลำดับจากประเทศที่มีคะแนนน้อยที่สุดไปมากที่สุด ดังนี้
อันดับที่ 20 ศรีลังกา
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 60.9 ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงได้รับผลกระทบจากพายุกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง
อันดับที่ 19 ฟิจิ
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 61.02 ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมชายฝั่งและพายุไซโคลน ที่อาจส่งผลกระทบถึงร้อยละ 75 ของประชากรของประเทศที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง
อันดับที่ 18 ยูกันดา
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 63.7 เนื่องจากธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะหายไปในปี 2033 ทำให้ระบบนิเวศในประเทศเสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคระบาดอีกด้วย
อันดับที่ 17 เคนยา
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 64.1 เพราะประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ไขดังกล่าว
อันดับที่ 16 เวียดนาม
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 65.1 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และมีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ 44 องศาเซลเซียส
อันดับที่ 15 ซูดานใต้
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 66.3 มีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าทั่วโลกถึง 2.5 เท่า ทำให้ประสบภัยแล้ง และ ร้อยละ 64 ของประชากรต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างเฉียบพลัน และยังเกิดน้ำท่วมหนัก 4 ปีติดต่อกัน
อันดับที่ 14 ซิมบับเว
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 68.07 คาดว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ทำให้มีสภาวะอากาศแปรปรวนทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง
อันดับที่ 13 ประเทศไทย
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 68.1 เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งยาว 3,219 กิโลเมตร ทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้คนจำนวน 11 ล้านคนต้องสูญเสียบ้านเรือน และอาจมีปริมาณน้ำฝนลดลงและเกิดปัญหาภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น
อันดับที่ 12 เอธิโอเปีย
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 68.3 หลังปริมาณน้ำฝนน้อยลงอย่างต่อเนื่องถึง 6 ปี ทำให้ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างหนัก รวมถึงต้องพบกับปัญหาโรคระบาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คนในปี 2019
อันดับที่ 11 ไนเจอร์
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 69.7 ภูมิประเทศบางส่วนกลายเป็นทะเลทราย ทำให้สูญเสียพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก และคาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ในปี 2080
อันดับที่ 10 เนปาล
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 69.9 จากปัญหาธารน้ำแข็งละลาย ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มในหลายพื้นที่ จนเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและโรคระบาดตามมา
อันดับที่ 9 อินเดีย
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 72.3 มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนมากกว่า 24,000 คน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และยังมีการประเมินว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ GDP ของประเทศลดลงร้อยละ 2.8% ภายในปี 2050
อันดับที่ 8 มาดากัสการ์
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 72.9 ต้องเผชิญกับผลกระทบจากพายุไซโคลนและความแห้งแล้งในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้พืชผลทางการเกษตรถูกทำลายและประชาชนกว่า 2 ล้านคนต้องขาดแคลนอาหาร
อันดับที่ 7 ฟิลิปปินส์
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 75.5 คาดว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.8-2.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพื้นที่เป็นเกาะจำนวนมาก
อันดับที่ 6 บังกลาเทศ
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 75.7 ต้องเจอกับภัยธรรมชาติมากกว่า 185 ครั้งตั้งแต่ปี 2000 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวม 3,720 ล้านดอลลาร์ และอาจสูญเสียที่ดินอีกร้อยละ 11 ภายในปี 2050
อันดับที่ 5 เฮติ
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 76.7 และยังเป็นประเทศที่มีปัญหาจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมากที่สุดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 392 ล้านดอลลาร์
อันดับที่ 4 ปากีสถาน
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 77.9 หลังจากเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเฉียบพลันในปี 2022 ทำให้มีพื้นที่การเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสัตว์เสียหายเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะมีประชาชนมากกว่า 14 ล้านคน ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร
อันดับที่ 3 เมียนมา
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 80.5 โดยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากกว่า 50 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 คนต่อปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1,500 ล้านดอลลาร์
อันดับที่ 2 โมซัมบิก
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 84.7 มีความเสี่ยงการเกิดพายุไซโคลน น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลยาว 2,300 กิโลเมตร โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 200,000 คน กลายเป็นคนไร้บ้านจากการเกิดพายุ
อันดับที่ 1 อัฟกานิสถาน
ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเฉลี่ยร้อยละ 85.5 ไม่ใช่แค่ประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่มีการปรับตัวน้อยที่สุดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และยังเกิดปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องกัน 3 ปี สลับกับปัญหาน้ำท่วมหนัก ทำให้การผลิตอาหารลดลง ประชาชน 23 ล้านคน ต้องเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนอาหาร
จาก 20 อันดับประเทศข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นคือ ภัยแล้ง น้ำท่วม และการขาดแคลนอาหาร แต่สิ่งที่น่าเศร้ามากไปกว่านั้นก็คือ ประเทศเหล่านี้ส่วนมากเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ในทางตรงข้าม หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกรวมกันถึงร้อยละ 79
แม้ว่าจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มีการขอความร่วมมือประเทศที่พัฒนาแล้วให้ช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการปรับตัวและคาดว่าจะเริ่มเห็นผลในปี 2030
ท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่กำลังเป็นปัญหาสะสมเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และอีกไม่กี่ปีในอนาคต ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อนอาจมีมากกว่า 20 อันดับ
อ้างอิงข้อมูล : yahoo finance