บางจาก ชู ‘คลีนโมเลกุล’ ลดคาร์บอน ลุยผลิตน้ำมันเครื่องบินชีวภาพ ‘หมื่นล้าน’
"บางจาก" ย้ำ “คลีนโมเลกุล-การดักจับคาร์บอน” ตอบโจทย์โลกยั่งยืน พร้อมลุยแผนลงทุน 1 หมื่นล้าน ตั้งโรงงานผลิต SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันพระโขนง รองรับเทรนด์ลดคาร์บอนจากอากาศยาน คาดดีมานด์น้ำมันเครื่องบินชีวภาพพุ่ง
กลุ่มบริษัทบางจาก จัดงานสัมมนา Bangchak Group Greenovative Forum ครั้งที่ 13 “Regenerative Fuels: Sustainable Mobility” เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 เพื่อนำเสนอทิศทางการลดคาร์บอน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินที่กำลังมีความต้องการน้ำมันอากาศยานชีวภาพ
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานสัมมนาว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นแนวทางให้โลกเขียวขึ้น ผ่านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดในรูปแบบเชื้อเพลิงต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันทุกๆ การใช้พลังงานทั่วโลกใช้รวมกันอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านล้านจูล (EJ) ต่อวัน เทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้แอร์บัส 320 ที่บินรอบโลกวันละ 3.5 แสนรอบ โดย 80% เป็นพลังงานฟอสซิล เที่ยบเท่ากับปริมาณพลังงาน 1.4 ล้านล้านล้านจูล ซึ่งมีการบริโภคน้ำมันต่อวัน 220 ล้านบาร์เรล เท่ากับน้ำ3.5 หมื่นล้านลิตรต่อวัน ประชากรโลก 8 พันล้านคน ถือว่าบริโภคมากกว่าการดื่มน้ำ 2 เท่า ถือเป็นการใช้พลังงานที่เยอะมาก
อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงในรูปแบบพลังงานที่ใช้โดยน้ำมันมากถึง 30% ถ้าเทียบพลังงาน 1 จูน กับปริมาณน้ำหนัก 1 กิโลกรัมนั้น น้ำมัน 1 กิโลกรัม จะสามารถวิ่งได้ระยะทาง 15 กิโลเมตร ส่วนแบตเตอรี่น้ำหนัก 1 กิโลกรัม วิ่งได้ราว 1 กิโลเมตร จึงต้องใส่แบตเตอรี่ถึง 20 กิโลกรัม เพื่อให้วิ่งได้ในระยะมางเท่าดับรถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน
ทั้งนี้ ประชากรโลกส่วนใหญ่อยู่ในเอเซีย แหล่งกำเนิดพลังงานไม่ได้อยู่ในเมือง จะเห็นว่าไม่มีการเจาะน้ำมันในเมือง แต่พบได้ตามชายฝั่งทะเลลึก ซึ่งต้องมีการเคลื่อนย้ายพลังงานมาให้กับผู้บริโภค หากเป็นพลังงานในรูปของก๊าซจะสามารถขนส่งได้ตามท่อ
ส่วนของเหลวขนส่งตามท่อ เรือ รถและรถไฟ ในขณะที่ถ่านหินจะขนส่งลำบาก ในขณะที่อิเล็กตรอนจะขนส่งตามสาย ดังนั้น รูปแบบพลังงานที่จะขนส่งได้ดีสุด คือ พลังงานที่ควรอยู่ในรูปแบบของเหลว แม้กระทั้งก๊าซธรรมชาติที่ต้องใช้แรงอัดถึง 400 เท่าเพื่อเปลี่ยนเป็นของเหลวเพื่อให้ขนส่งได้ง่ายขึ้น
“หากต้องการพลังงานสะอาดที่ต้องการชดเชยเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณ 80% จะต้องหาตัวที่ตอบโจทย์ให้ได้ คือ กรีน อิเล็กตรอน ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่มาจากแสงแดด ลม และน้ำ หากเทียบการสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเพื่อมาชดเชยพลังงาน 220 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะต้องสร้างถึง 1.3 แสนเขื่อน และยังต้องสร้างสายไฟแรงสูงเพื่อนำพลังงานมาให้ผู้บริโภคความยาว 320 ล้านกิโลเมตร เทียบความยาวในการพันรอบโลกถึง 8 พันครั้ง”
“คลีนโมเลกุล”ลดปล่อยคาร์บอน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บางจากจึงอยากแนะนำ "Clean Molecules" ซึ่งเป็นโมเลกุลสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) ซึ่งถือเป็นโมเลกุลสะอาดที่มาจากพืช ที่จะตอบโจทย์สำหรับการเดินทางและขนส่งอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นการสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) จึงตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน
นอกจากนี้ กลุ่มบางจากยังอยู่ระหว่างพัฒนาการนำกากไม้มาเข้าสู่กระบวนการหมักเพื่อให้เกิดเชื้อเพลิง รวมถึงอีกวิธีที่ยาก คือ การผลิตน้ำมันจากสาหร่าย และอีกเชื้อเพลิงคือ e-Fuels ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Synthetic Fuels ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บ และก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนแยกเป็นไฮโดรเจน ซึ่งยุโรปกำหนดว่าปี 2035 จะไม่ให้ขายรถที่ใช้เชื้อเพลิง แต่ก็ได้ยกเลิกไปหากสามารถใส่เชื้อเพลิง e-Fuels ได้
“เชื้อเพลิงเหลวถือเป็นสิ่งที่ทำได้ ส่วนคลีนโมเลกุลจะช่วยเสริม ถ้าปริมาณเชื้อเพลิง 220 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้นเยอะมาก บางจากจึงแนะนำคลีนโมเลกุลควบคู่กับเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ถือเป็น 2 เทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์โลกนี้”
รุกผลิตน้ำมันเครื่องบินชีวภาพ
สำหรับโรงงานผลิต SAF ที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง มีการลงทุนเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท โดย SAF คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ ช่วงปลายปี 2567 เริ่มผลิตต้นปี 2568 กำลังการผลิตเริ่มต้น 1,000,000 ลิตรต่อวัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทบางจาก พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากการลงมติของสมาชิกสภายุโรป เมื่อต้นเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา กำหนดไว้ที่ 2% ใน ค.ศ.2025 และเพิ่มขึ้เป็น 6%, 37% และ 85% ในค.ศ.2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ)