“เอลนีโญ”มีโอกาสเกิดลดลง 40 % คาดกลางปี67ไทยเข้าสู่ภาวะปกติ
ภูมิอากาศปั่นป่วน เกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้นโดยมีหัวขบวนอย่างปรากฎการณ์“เอลนีโญ” คือการที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้น ในทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลเย็นลงจะเรียกว่า “ลานีญา” ปี 2567 ประเทศไทยอยู่ในกรอบที่จะเผชิญกับทั้งสองปรากฎการณ์นี้
กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยในการสัมมนา เรื่อง จับมือฝ่าวิกฤตภัยผ่าทางรอดประเทศไทย “เอลนีโญ” ว่า ในขณะนี้อุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มเย็นแล้วมีแนวโน้มกึ่งระหว่างสภาวะเอลนีโญกับลานีญา โดยจากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะลานีญาและเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่กลางปีหน้า แต่ภาวะฝนแล้งและน้ำท่วมในบางพื้นที่ยังมีอยู่
นอกจากนี้จากสถิติ 3 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลายปีนี้ ไทยจะไม่ได้สัมผัสอากาศเย็นเหมือนกับหลายๆปีที่ผ่านมา ยกเว้น แถบตอนบนของภาคเหนือและอีสาน
สุุรสีห์ กิตติมณฑล” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในกลางปี 2567 โอกาสที่จะเกิดภาวะลานีญา เพิ่มขึ้นถึง 50% ขณะที่่ภาวะเอลนีโญจะลดลงเหลือแค่ 40% ถือเป็นแนวโน้มที่ดี และจะทำให้สภาวะอากาศของไทยเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปี 2567 ภาวะเอลนีโญ เกิดขึ้นในไทยยาวนาน ทำให้มีฝนตกน้อย แม้จะมีมากขึ้นในช่วงท้ายฤดูฝน จากแนวลมพัดสอบและร่องมรสุม แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนที่จะบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง (1พ.ย.2566- 30 เม.ย. 2567 ) ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ดังนั้นทุกฝ่ายยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำและใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก คณะกรรมการลุ่มน้ำต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ จากภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป สทนช.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และมีความเห็นตรงกันว่า มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 โดยมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณ5 % ดังนั้นจึงจะใช้ปี2563 เป็นปีฐานเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการในฤดูแล้ง เช่น ส่งเสริมแผนเพาะปลูก การสำรองน้ำ เป็นต้น
“สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังมีความเสี่ยงที่ไทยจะกลับเข้าภาวะเอลนีโญอีกก็ได้ จึงต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจและบริหารความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมด้วย ”
ด้านการจัดการน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการได้ประเมินแล้วว่าปริมาณน้ำยังมีน้อยแม้สถานการณ์เอลนีโญจะอ่อนตัวลง ดังนั้นด้านผู้ใช้น้ำแนวทางเตรียมรับมือกับความปั่นป่วนนี้อย่างไร
โพโรจน์ สัตยสัณห์สกุล กรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ตะวันออกตามแผนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(อีอีซี) ส่วนใหญ่อยู่ในจ.ชลบุรีและระยอง ในช่วง10 ปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำในภาคตะวันออกมีมากพอที่สำหรับภาคอุตสาหกรรมแต่ปัจจุบันเมื่อเกิดการพัฒนาของชุมชนและภาคอตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม จึงเริ่มมีความกังวลว่าจะมีบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกสบายใจไม่ได้ทั้งหมด
โจทย์เรื่องน้ำ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ให้มาแค่ 3 พื้นที่ คือ1.มาบตาพุด ระบุว่าจะใช้น้ำเยอะ เพราะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2. เป็นพื้นที่เขาและคอริดอร์ ระหว่างชลบุรีกับระยอง ระบุว่า คือดีทรอยท์ออฟเอเชีย จะเกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ และ 3.แหลมฉบัง จะเกิดอุตสาหกรรมแห้ง ผลิตของกินของใช้แล้วส่งออก
“ตลอด30 ปีที่ผ่านมาใช้เงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทในการพัฒนาเรื่องน้ำ ระบบอ่างพวงที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันออก สามารถควบคุมได้ด้วยคอมพิวเตอร์ที่บ้าน จากเดิมที่ใช้เวลากว่าชั่วโมง ปัจจุบันสามารถควบคุมได้อย่างเรียลไทม์ เรื่องน้ำมีการพัฒนาโดยตลอดไม่ได้อ่อนแอ สามารถเชื่อมโยงอ่างได้ 11 อ่าง ถึงกันหมดเลยจากจันทบุรี ถึงชลบุรี เพราะเป็นพื้นที่น้ำน้อย เป็นอ่างพวงที่ดีที่สุดในโลก”
นอกจากนี้ผู้ประกอบการก็มีระบบนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ หาซื้อที่เก็บน้ำ ทั้งหมดรวมกันได้มากถึง 25 % แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐบาล เพราะอ่างพวงนั้นมีระบบเหมือนวิ่งผลัดสี่คูณร้อย หากรัฐบาลทำสัญญาเจ้าอื่นเข้ามาทำ จะส่งผลให้เกิดการขาดช่วงขาดตอนไม่ร่วมกันทำ เพราะจริงๆ ระบบอ่างพวง คืออ่างสามัคคี หากไม่มีความสามัคคีระบบก็จะอ่อนแอลง
เอลนีโญ และ ลานีญา เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการจัดการน้ำเพราะเหตุผลสำคัญที่สุดคือความตระหนักรู้ของผู้ใช้น้ำทุกคนที่ต้องรู้จักคุณค่าและใช้อย่างประหยัด