7 แผนรับมือ PM2.5 แนวโน้มสูง เสี่ยงกระทบสุขภาพ
สธ. เตรียมพร้อมรับมือ หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์แนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 'เอลนีโญ' ทำให้เกิดความแห้งแล้ง เสี่ยงเกิดไฟป่าทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันรุนแรงขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กPM 2.5 ปี 2567 โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน
เนื่องจากสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน รัฐบาลได้กำหนดให้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบูรณาการแก้ไขปัญหา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญทำให้เกิดความแห้งแล้ง เสี่ยงเกิดไฟป่าทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ง่าย และเป็นสาเหตุให้เกิดหมอกควันรุนแรงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เช็กค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน เริ่มกระทบต่อสุขภาพ 17 พื้นที่
- THA อ้อนรัฐขยาย ‘วีซ่าฟรี’ ดึงทัวริสต์ ตั้งรับวิกฤติฝุ่น PM ฉุดมู้ดไฮซีซัน!
- สิ่งที่รัฐบาลใหม่พึงกระทำ กรณีวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือ
ปรับแนวทางการดำเนินงาน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าได้แจ้งให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน ปี 2567 ใน 5 ประเด็น ได้แก่
1.) เพิ่ม 2 มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เรื่องการส่งเสริมการลดมลพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเพิ่มมาตรการการเชิงป้องกัน SECA (Smart Energy and Climate Action)
2.) ปรับเกณฑ์การเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานและระดับเฝ้าระวังการแจ้งเตือนของประเทศ คือ เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5มากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม.ติดต่อกัน 3 วัน
3.) เพิ่มการติดตามเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากข้อมูลเชิงรุกในชุมชน ห้องฉุกเฉิน และระบบฐานข้อมูลHDCของกรมควบคุมโรค
4.) เพิ่มเติมรายงานผลการถอดบทเรียนผลการดำเนินงาน และปรับช่วงระยะเวลาการรายงาน โดยระดับจังหวัด รายงานทุกวัน เวลา 12.00 น. และระดับส่วนกลาง รายงานทุกวัน เวลา 07.00 น. 5.การสนับสนุนทรัพยากร ให้เขตสุขภาพและจังหวัดเตรียมสำรองหน้ากากป้องกันฝุ่นและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
7 แผนรับมือ ฝุ่น PM2.5
นอกจากนี้ ยังได้มอบข้อสั่งการ 7 ข้อ ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เตรียมการเฝ้าระวัง ดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังนี้
1.) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ พร้อมทั้งเร่งสื่อสารเชิงรุกสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการดูแลป้องกันสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการลดฝุ่นละออง ผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อบุคคล เสียงตามสาย สื่อออนไลน์โซเชียลมีเดีย (Social media)และช่องทางของหน่วยงาน
2.) เตรียมความพร้อมในการดูแลและป้องกัน ทั้งระบบบริการสาธารณสุข/ ระบบส่งต่อ และระบบเทเลเมดิซีน เปิดคลินิกมลพิษที่สถานพยาบาล คลินิกมลพิษออนไลน์และคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น ดูแลกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยติดเตียง โดยทีม 3 หมอ และสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหืดและโรคหัวใจขาดเลือด เพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
3.) เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา โดยรายงานผ่านระบบHealth Data Center (HDC)
4.) เตรียมพร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
5.) หากค่า PM 2.5เกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัด พร้อมรายงานสถานการณ์ทุกวัน และปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับจังหวัด เมื่อค่า PM 2.5 น้อยกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 6 วัน
6.) จัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นในสำนักงานและสถานบริการในสังกัด เพื่อเป็นต้นแบบองค์กรลดฝุ่นละออง
7.) สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และการจัดการเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง
ทั้งนี้ มีคำแนะนำสำหรับประชาชนในการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นPM 2.5 คือ กลุ่มทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับจราจร พนักงานกวาดถนน ให้สวมหน้ากาก N95 สำหรับกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกอาคาร และไม่แนะนำให้สวมหน้ากากทุกประเภทขณะออกกำลังกายกลางแจ้ง
กทม. ติด Top10 เมืองมลพิษสูง
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า รัฐบาลเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนและจะเข้าฤดูหนาว มีแนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้มีฝุ่นละอองสะสม และจากการคาดการณ์สถานการณ์ ฝุ่นละออง PM2.5 โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์ที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) จะคงอยู่อีก 1 – 2 วัน
ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย 66 กรมควบคุมมลพิษ ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่เว็บไซต์ IQAir รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM2.5 ใน กรุงเทพฯ วานนี้ (20 ต.ค. 2566) พบปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูง ติดอันดับ Top10 เมืองที่มีคุณภาพอากาศและมลพิษสูงอีกครั้ง พร้อมเตือนระวังกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะผู้เป็นภูมิแพ้หรือกลุ่มที่อ่อนไหว หากต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย และงดออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกล้างแจ้ง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5ได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai / Airbkk / Life Dee และดูแนวทางปฏิบัติตน ค้นหาห้องปลอดฝุ่นและคลินิกมลพิษ รวมทั้งปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ได้ทาง Line Official 4Health หรือแอปพลิเคชั่น DMS Telemedicine หรือเว็บไซต์ podfoon.anamai.moph.go.th