“เอเปค”เปิด 3 โจทย์ประเทศไทย ตอบให้ได้ก่อนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
ประเทศไทยมีแผนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ผ่านแผนการเปลี่ยนผ่านด้านต่างๆ เช่น ด้านการขนส่งกำหนดให้ราคายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)ลดลงก่อนปี 2030 ส่วนการผลิตพลังงานตามแผนระบุว่า อย่างน้อย 50% ของแหล่งพลังงานไฟฟ้าต้องมาจากพลังงานทดแทนในปี 2050
แต่แผนทั้งหมดนี้ เพียงพอสำหรับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยหรือไม่ สถาบันด้านพลังงานของ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ประเมินไว้อย่างน่าสนใจ
เกริน สวีทนัม จาก Asia Pacific Energy Research Centre (APERC) บรรยายในหัวข้อ “สถานะปัจจุบัน และความท้าทายต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยในปี 2050 เป็นจริงได้หรือไม่” จัดโดย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ดีแต่เป้าหมายดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำได้จริง และไม่ส่งผลด้านลบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ โดยต้องมองหาจุดสมดุล 3 จุดได้แก่ ความสามารถเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียม(Affordability & Equity) ความยั่งยืนที่ควบคู่ไปกับพลังงานสะอาด(Sustainability & Clean Power) และความไว้วางใจได้ และยืดหยุ่นในการใช้งาน (Reliability & Resilience)
“ ดีมานด์ต่อพลังงานฟอสซิลลดลง 0.6% ต่อปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตรงข้ามกับก่อนหน้านั้นที่มีอัตราความต้องการเพิ่มขึ้นปีละ 1.7% ชี้ให้เห็นว่าที่ยืนของพลังงานฟอสซิลน้อยลงไปทุกที ”
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency,IEA) ประเมินว่า พลังงานฟอสซิลดีมานด์ด้านพลังงานลดลงจาก 79% ไปอยู่ที่ 18% โดยส่วนที่หายไปถูกทดแทนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือ สหรัฐ ซึ่งมีครัวเรือนใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ถึง 4% เนื่องจากราคาโซลาร์เซลล์ถูกลงมากถึง 8-10% ขณะที่ต้นทุนการผลิต ลดลงไปถึง 88% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“หากเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้าถึงครัวเรือนต่างๆ สาเหตุหลักๆ ก็มาจากเรื่องของราคา และประโยชน์การใช้งานที่ตอบสนองความต้องการได้มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหากจะให้สำเร็จก็ต้องมีเทคโนโลยีที่ใหม่ ราคาถูก เข้าถึงได้ และตอบโจทย์การใช้งานขั้นพื้นฐานที่จำเป็นได้ด้วย”
ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทย หรือ Thailand 's Carbon Neutrality Plans ต้องเผชิญกับความท้าทาย และแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ เพราะประเทศไทยมีแนวโน้มการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับโลกคือ อัตราเร่งความต้องการใช้พลังงานแบบเก่าลดลงอย่างช้าๆ แต่ก็มีบางภาคส่วนที่มีอัตราการเติบโตการใช้พลังงานที่ยังสูง เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราเติบโต 1.9% ในช่วงปี 2018 - 2050 ซึ่งการเติบโตไปข้างหน้าอย่างช้าๆ นี้อาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่ไทยต้องตอบโจทย์สำคัญทั้ง 3 ข้อให้ได้
ยกตัวอย่างนโยบายการส่งเสริมใช้อีวีที่มีเครื่องยนต์ที่เรียบง่ายแต่มีกลไกการใช้พลังงานที่ซับซ้อนซึ่งตรงข้ามกับเครื่องยนต์สันดาปที่มีเครื่องยนต์ที่ซับซ้อนแต่มีการใช้พลังงานที่เรียบง่าย แต่เมื่อคำนวณชิ้นส่วน และอะไหล่แล้ว ทั้งสองประเภทมีชิ้นส่วนมากกว่า 1,000 ชิ้น
“ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากกว่า เพราะแบตเตอรี่ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญทางเคมีที่ต้องใช้แร่ธาตุที่ไม่มีในประเทศไทยแต่ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่จีน ไม่ว่าจะเปฺ็นโคบอลต์ ทองแดง ลิเทียม นิเกิล ซิลิคอน ขณะที่เอเชียมีแร่สำคัญเหล่านี้อยู่ที่ อินโดนีเซีย ได้แก่ นิเกิล และมาเลเซีย มี โลหะหายาก หรือ Rare Earth Elements (REEs)แต่ไทยไม่มีแหล่งแร่สำคัญขณะที่การกักเก็บพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้”
ดังนั้น หากการผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่สามารถนำมาจากแหล่งพลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทนได้ การใช้รถยนต์อีวีอาจไม่ได้ช่วยลดคาร์บอนมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในแผนพลังงานของไทยมีการกำหนดการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนที่ชัดเจนจึงน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ไทยถึงเป้าหมายได้ อย่างแม้ว่าปัจจุบันไฮโดรเจนยังมีปัญหาอยู่ที่ราคาเทียบกับก๊าซธรรมชาติ โดยราคาก๊าซเฉลี่ยที่ 9 ดอลลาร์ต่อตัน (mmBtu) ขณะที่ไฮโดรเจน สูงถึง 35.21 ดอลลาร์ต่อตัน จะเห็นว่าราคาไฮโดรเจนยังแข่งขันไม่ได้
ถ้าพูดถึงความท้าทายสำหรับประเทศไทยเทียบกับสหรัฐที่เผชิญวิกฤติพลังงานจนมีเกิดความสนใจต่อพลังงานทดแทน แต่สหรัฐก็พบกับความสูญเสียจากการจัดการพลังงานไม่ทั่วถึงมาแล้ว ดังนั้น ไทยควรถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้เหมาะสม และเห็นว่าแนวทาง “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับไทย แต่หากเร่งเครื่องได้ก็จะเป็นผลดีจากผลของการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์