เตรียมพร้อม พรบ.ลดโลกร้อน เข้า ครม. ก.พ. 2568 'ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย'
ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เข้มแข็งในการลดความเสี่ยง กฎหมายนี้จะช่วยสร้างกรอบการทำงานที่ครอบคลุมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมพลังงานทดแทน และเพิ่มความยืดหยุ่นของประเทศต่อภัยพิบัติ
KEY
POINTS
- สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- ร่างกฎหมายโลกร้อน มีทั้งหมด 14 หมวด
- มีการจัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) โดยใช้หลักการ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย"
- การมีกฎหมายเฉพาะด้านช่วยสร้างมาตรการในการลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเป็นระบบ
- อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.นี้คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP
ประเทศไทยตั้งเป้ามี พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.ลดโลกร้อน (Climate Change Act) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ การมีกฎหมายเฉพาะด้านนี้จะช่วยสร้างมาตรการในการลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน ยังช่วยให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมในความพยายามระหว่างประเทศในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) การมีกฎหมายนี้ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเปิดโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากแหล่งข่าว ร่าง พ.ร.บ.ลดโลกร้อน มีกำหนดที่จะเข้า ค.ร.ม. เพื่อพิจารณาในเดือนหน้า (กุมภาพันธ์ 2568)
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับแต่ละภาค สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
- การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: จัดทำแผนงานและมาตรการรองรับเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุรุนแรง
- การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน: กระตุ้นให้ประชาชน ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
กลไกราคาคาร์บอน ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ มุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ยั่งยืน โดยมีการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศซึ่งได้รับเงินทุนจากระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) เงินทุนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับภูมิอากาศของประเทศ
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งระบบกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) โดยใช้หลักการ "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" (Polluter Pays Principle) ผ่านการดำเนินการของระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
ระบบ ETS จะกำหนดเพดานจำกัดสูงสุดของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคส่วน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ Carbon Tax จะกำหนดต้นทุนราคาชัดเจนสำหรับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกลไกราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก
"ร่างกฎหมายโลกร้อน" มีทั้งหมด 14 หมวด
1. การรับรองสิทธิของประชาชน และกำหนดการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารทั้งในมิติของการลดก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพ โดย Data Center ของกรมร่วมมือกับทาง Climate Center ทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
2. เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานกำหนดเป้าหมายและแผนให้สอดคล้องบูรณาการเป้าหมายกับภารกิจของตนเอง
3. คณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) บูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับ พ.ร.บ. นโยบาย มาตรการ และการดำเนินงาน
4. กองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. แผนแม่บทรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมทั้งสถานการณ์เป้าหมายแนวทางการเนินงาน ตลอดจนการติดตามผล
6. ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเอกชน จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศและส่งข้อมูลผ่านรายงานแห่งชาติไปยัง UNFCCC เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดก๊าซเรือนกระจก
7. แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ของหน่วยงานรัฐให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแผนแม่บท
8. ระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีมาตรการภาคบังคับในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูง
9. ระบบภาษีคาร์บอน เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงฟอสซิลภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการใช้ไฟฟ้า และจากผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ซึ่งดำเนินการโดยกรมสรรพสามิต เพื่อลดการปล่อยและปัญหาการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก
10. คาร์บอนเครดิต กลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตการกำกับดูแลภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจคาร์บอนเครดิต
11. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะในระดับจังหวัดและพื้นที่ชุมชน ทั้งการให้ข้อมูลและก่อให้เกิดองค์ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
12. มาตรการการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนแก่หน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและการศึกษา
13. มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
14. บทกำหนดโทษป้องกันยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำฝ่าฝืนมาตรการบังคับ อาทิเช่น การจงใจรายงานข้อมูลเท็จ ฝ่าฝืนระบบซื้อขายสิทธิ และบทบัญญัติเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต
บทกำหนดโทษที่ร่างฉบับกรมโลกร้อน
- ผู้ใดไม่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ใดจงใจรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่จะต้องรายงาน ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 30,000-300,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 3,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ใดส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้ใดไม่นำส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- หน่วยงานทวนสอบเเละผู้ทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องรายงานผลทวนสอบ รายงานผลอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ทวนสอบ หรือไม่ให้ความร่วมมือ กับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่การทวนสอบรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1,000,000 บาทและปรับอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ใดไม่เก็บรักษารายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท
- นิติบุคคลควบคุมไม่เวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือเวนคืนไม่ครบ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยจำนวนไม่เกินสามเท่าของราคาเฉลี่ยของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดสรรโดยการประมูลในระยะปีดำเนินการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นของจำนวนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่คืนหรือคืนไม่ครบ
- นิติบุคคควบคุมที่เลิกหรือหยุดพักการประกอบกิจการหรือไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามกำหนดระยะเวลาเดิม แล้วไม่แจ้งข้อมูลแก่กรมโลกร้อนภายใน 30 วัน มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1,000,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่า (ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าวแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า)
- ผู้ใดทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับการจัดสรร การจัดสรรเพิ่มเติม การเปลี่ยนแปลงสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย/โดยทุจริต ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้ใดประกอบธุรกิจคาร์บอนโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ใดเวนคืนสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้สิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักกลบ หรือขอใช้สิทธิการลดหย่อน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย/โดยทุจริต ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาทหรือสามเท่าของมูลค่าที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้ใดไม่ส่งรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้ใดส่งรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้านำเข้าโดยเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลอันพึงรายงาน ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 บาท หรือสามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้นำเข้าสินค้าหากไม่นำส่งรายงานปริมาณก้อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่กรมโลกร้อนภายในห้าเดือนนับแต่วันสิ้นสุดปีปฏิทินตามหลักเกณฑ์ที่ กรมโลกร้อนประกาศ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่เกิน 100,000 บาทหรือปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
- ผู้นำเข้าใดไม่เก็บ รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า รายงานการทดสอบหรือบรรทุกข้อมูลที่จำเป็นในการคำนวณปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า ไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดปีนับแต่ที นำของเข้ามา หรือไม่จัดเก็บเอกสารหลักฐาน ที่จำเป็นเพื่อแสดงว่าได้มีการชำระราคาคาร์บอน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลิต ในประเทศผู้ผลิตสินค้าที่นำเข้ามา รวมถึงเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับส่วนลดการหักลบหรือการชดเชยในรูปแบบใดๆ ที่มีอยู่ไว้แล้ว ไม่น้อยกว่าสี่ปีนับแต่วันที่นำของเข้ามา ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท
- ผู้ใดไม่ชำระราคาใบรับรอง การปรับราคาคาร์บอน ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยจำนวนไม่เกิน 5,000,000 บาทหรือ สามเท่าของมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำดังกล่าว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า
- ผู้ประกอบอุตสาหกรรมใดไม่จัดทำบัญชีประจำวันและงบเดือนตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 100,000 บาท
- ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัดจากการชำระภาษีที่ค้าง จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 400,000 บาท
ผลกระทบของ พ.ร.บ.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.นี้คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP โดยการบังคับใช้คาดว่าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะที่ 1 อุตสาหกรรมที่ปล่อย GHG สูง และอุตสาหกรรมที่อยู่ใน EU-CBAM ภายในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569) ได้แก่ ภาคขนส่ง สาธารณูปโภค โลหะ และอโลหะ มีมูลค่าอุตสาหกรรมรวม 1.71 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
- ระยะที่ 2 อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะอยู่ใน EU-CBAM ระยะที่ 2 ได้แก่ สาขา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางและพลาสติก การขุดเจาะปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหมืองถ่านหิน และ กระดาษและเยื่อกระดาษ คิดเป็นมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของ GDP
- ระยะที่ 3 อุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ ที่มีการปล่อย GHG เข้มข้นสูง ได้แก่ เกษตรและปศุสัตว์ อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่า 3.02 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของ GDP
ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมอย่างไร
1. การประเมินคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ถึงแม้ว่าปัจจุบันการตรวจวัด GHG จะเป็นการดำเนินการภาคสมัครใจ แต่แนวโน้มในอนาคตการตรวจวัด GHG ขององค์กรจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของที่จะต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับการรายงานงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ในปัจจุบันประเทศสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนนาดา และออสเตรเลียกำลังศึกษาแนวทางในการนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้
2. การลด GHG ในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวโน้มนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อย GHG สูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำ ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการอื่นๆ
3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรติดตามพัฒนาการของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในรแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว
ที่มา : iLaw, กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ, ระบบกลางกฎหมาย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย