Green washing ความท้าทายบนการลงทุน ESG
เวลานี้ธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญปรับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จากผลสำรวจ Nasdaq ที่สำรวจผู้บริหารบริษัทในอเมริกาเหนือและยุโรป พบว่า 15% ระบุว่า บริษัทเพิ่งปรับใช้ประเด็น ESG ในปี 2566 ปีแรก 30% ใช้มาแล้ว 1-2 ปี
ซึ่งมากถึง 46% ใช้มาแล้ว 3-5 ปี และ 9% ใช้เกิน 5 ปีแล้ว ทั้งนี้ 34% ระบุว่า ธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายในการจัดทำรายงาน ESG เปิดเผยต่อสาธารณชน ปัญหาหลัก คือ การจัดเก็บและเรียบเรียงข้อมูล รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐาน ข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับและภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน
การเติบโตที่รวดเร็วของกระแสความยั่งยืน และการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG รวมถึงมาตรฐานการประเมินและจัดอันดับ ESG ที่หลากหลาย นำไปสู่ปัญหา Green washing หรือ การฟอกเขียว ซึ่งหมายถึง การสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดด้านการปฏิบัติตามประเด็น ESG เนื่องจากการให้ข้อมูลเท็จ บิดเบือน การปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้อง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติที่ดี หรือมาตรฐานที่ยอมรับ ประเด็นนี้ท้าทายการลงทุนมาก บริษัทใดถูกกล่าวหาว่าเข้าข่าย Greenwashing อาจส่งผลต่อความน่าสนใจลงทุน รวมถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม เราเห็นพัฒนาการของหน่วยงานกำกับที่เข้ามาจัดการ Greenwashing เช่น การสร้าง Taxonomy มาตรฐานกลางที่มีเงื่อนไขชัดเจนและโปร่งใส โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานชัดเจนที่สุด เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่สร้าง EU Taxonomy ระดับกฎหมาย ระบุชัดเจนว่า กิจกรรมเศรษฐกิจแบบไหน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังทยอยออกกฎหมายลูกและข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ยุโรป อยู่ระหว่างออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดให้บริษัทที่ต้องการยืนยันว่าใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green claim) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุในการสื่อสารเพื่อกล่าวอ้างสิทธิติดฉลากสีเขียว ที่สำคัญ การปฏิบัติตามแนวทางนี้ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยหน่วยงานภายนอก คาดว่า กฎหมายนี้จะนำมาใช้เดือน มี.ค. 2567
ส่วน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ก็ออก Taxonomy เป็นมาตรฐานกลางให้ประเทศในภูมิภาคปรับใช้ โดยจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็น 3 สี คือ สีเขียว ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม สีเหลือง ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมหนึ่ง แต่อาจยังก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมอื่น โดยมีความพยายามแก้ไขอยู่ และสีแดง ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีความพยายามแก้ไข
กลับมาที่ประเทศไทย ผลสำรวจ Google Cloud Sustainability Survey ปี 2566 ระบุว่า ไทยติด 1 ใน 3 ของประเทศที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับความพยายามบนประเด็น ESG เป็นอันดับ 1 (อีก 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และเยอรมนี) แม้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรค ขณะที่ ประเทศต่างๆ ลดความสำคัญของความพยายามด้าน ESG มาอยู่อันดับ 3 ส่วนการป้องกัน Greenwashing ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกันร่าง Thailand Taxonomy ฉบับแรกเผยแพร่ออกมา เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 โดยนำแนวทาง EU Taxonomy, ASEAN Taxonomy รวมถึง Taxonomy ของ Climate Bond Initiative (CBI) มาประยุกต์ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ประเทศในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และตั้งเป้าหมายเริ่มต้นกับภาคพลังงานและขนส่งก่อน
สำหรับ SCB Wealth ซึ่งมีพันธกิจดูแลความมั่งคั่งของลูกค้า ก็ให้ความสำคัญนำเกณฑ์ ESG มาใช้ ได้แก่ การตรวจสอบความเข้มข้นการใช้ ESG ของผู้ออกผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ผ่านการตอบแบบสอบถาม ตรวจสอบข้อมูลหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม สัมภาษณ์ข้อมูลการใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน เพื่อประเมินคะแนน ESG ของผลิตภัณฑ์ ก่อนคัดเลือกมานำเสนอผู้ลงทุน และการตัดสินใจลงทุน ที่ดำเนินการโดยคณะทำงานที่จัดตั้ง เพื่อให้การลงทุนมีความโปร่งใส คัดกรองโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน โดยเราจะประเมินมูลค่าสินทรัพย์ ควบคู่กับคะแนน ESG หรือ ESG Rating รวมถึงตรวจสอบความเสี่ยง Greenwashing ให้แน่ใจว่า จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจโดยรวมแล้ว การรู้เท่าทัน ป้องกัน Greenwashing ย่อมดีกว่ารอให้เกิด แล้วแก้สถานการณ์ให้พอร์ตลงทุนแน่นอน