กบข.ดึง“ESG”ขับเคลื่อน คลื่นใหม่การลงทุนความสำคัญสมาชิก
“การออม”มีหลายรูปแบบ แต่การออมให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวจนถึงวัยเกษียณนั้นต้องเลือกวีธีที่ฉลาดไว้ใจได้และยั่งยืนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือทางเลือกของข้าราชการ 1,192,093 คน ที่ส่งให้กองทุนนี้ มีขนาดและขีดความสามารถการลงทุน
สูงถึง (สินทรัพย์สุทธิ)1,193,60 ล้านบาท ทำให้การขับเคลื่อนของกบข.จึงน่าจับตามอง
ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กบข.มีความเชื่ออย่างจริงใจว่าการลงทุนไม่สามารถข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อมไปได้ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องESG และความยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่แค่การพีอาร์ หรือ ซีเอสอาร์ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง
ดังนั้น ถ้าจะทำอย่างจริงจังต้องเริ่มต้นจากการมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน เบื้องต้นได้นำหลักการจาก Principles for Responsible Investment (PRI Signatory) หรือเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) มาเป็นกรอบ ESG INTEGRATION หรือ การพิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับปัจจัยอื่นในการตัดสินใจลงทุน
จากนั้น ก็หารือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เพื่อนำ Responsible Business Conduct มาปรับใช้ และเพิ่มเติมด้วย เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals(SDGs)ของUN
“ต้องทำความเข้าใจกรอบESG และนำมากำหนดเป็นแนวทางการลงทุนของกบข. รวมทั้งเพื่อนำไปบริหารการลงทุนไม่ให้หลุดคอนเซ็ปต์ที่ดีของความยั่งยืน เราไม่ได้คิดเองเออเอง มีคนคิดไว้ให้แล้วแต่เราต้องเข้าใจและนำมาปรับใช้”
สำหรับแนวทางการทำงานลำดับแรก คือ การคัดเลือกผู้จัดการกองทุนแต่ก่อนไม่มีคะแนนเรื่องESG แต่ตอนนี้ ต้องบอกให้ได้ว่าจะใช้ESG เพื่อการลงทุนอย่างไร มีหลักเกณฑ์เลือกอย่างไร ซึ่งเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นมากจากผลงานด้านการเงิน
ลำดับต่อมา คือการตีมูลค่าการลงทุน สมัยก่อนก็จะมีสัดส่วนผลประกอบการด้านการเงิน ต่อมานำ ESG มาตีมูลค่าด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น บริษัทเอกชนต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก เพื่อกำหนดข้อมูลสำหรับการตีมูลค่าการลงทุน จัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐาน (Data Base)ส่งต่อให้ทีมที่ทำหน้าที่ตัดสินในด้านการลงทุน หากบริษัทสองแห่งมีผลทางการเงินที่ดี แต่อีกบริษัทมี มูลค่าESGที่ดี บริษัทนี้ก็จะมีแต้มต่อที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีปัญหา หรือ ต้องลดหรือตัดการลงทุนนั้นๆไป ผู้จัดการกองทุนต้องสามารถอธิบายให้ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สมาชิก” ซึ่งกบข.ไม่สมารถลงทุนเพื่อความพึงพอใจด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่ต้องรู้ว่าเงินเป็นของสมาชิกและต้องรักษาผลประโยชน์ให้สมาชิก
“ต้องสร้างสมดุลสองสิ่งทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG แต่ท้ายที่สุดสมาชิกสำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงไม่สามารถนำเงินของคนเหล่านี้ไปสร้างความพึงพอใจอะไรก็ได้ แต่เราเอาเงินของเขาไปขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากกว่า กบข.คิดแบบนี้"
อย่างไรก็ตาม การลงทุนบางอย่าง อาจมองว่าดีในแง่ESG แต่ด้านการเงินอาจไม่ดีแต่ถ้ามองในระยะยาว แล้วเห็นว่าธุรกิจนั้นๆจะมีโอกาสที่ดีในอนาคตก็จะสามารถยอมประนีประนอมได้ในระยะสั้น เช่น รถใช้พลังงานไฟฟ้า(อีวี) ถือว่าเป็นการซื้อนาคตเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมาในอนาคต
สำหรับพอร์ตการลงทุน ESG ไม่ได้มีปัญหาด้านไฟแนนเชียล ดังนั้น กบข.จึงบอกได้ว่า กบข. พิจารณาการลงทุนด้วยESG 100% แต่ความยากของการทำงานด้านนี้คือ “การหาESG Return” เช่น ลดโลกร้อนอย่างไร ยังเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์และคนในวงการESGต้องหาคำตอบต่อไป แม้ปัจจุบันจะมีเอกชนทำ ESG Scores มาขายจำนวนมากแต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวที่ชัดเจน
ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือ การขับเคลื่อนการลงทุนให้ไปในทิศทางเพื่อความยั่งยืนและESG ซึ่งจะไม่ใช่การลงโทษ เช่น ธุรกิจหนึ่งอาจมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ สิทธิมนุษยชนแทนที่จะถอนการลงทุนทันที ก็ใช้การพูดคุยร่วมกันแก้ไขให้สามารถเดินทางไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งกบข.ก็มีพันธมิตรที่จะร่วมเป็นพลังที่ไม่ใช่การกดดันแต่หาทางออกให้ธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืนไปด้วยกันได้
คลื่นการลงทุนที่กำลังก่อตัวขึ้น จากกองทุนกบข.กำลังจะส่งพลังไปยังการลงทุนอื่นๆที่มีเป้าหมายระยะยาวนั่นคือความยั่งยืนของผลตอบแทนการลงทุนและต่อโลกของเราทุกคนด้วย