ภาคการเงิน หนุนเป้าหมาย Net Zero บ่มเพาะ “คน” ตอบโจทย์สังคมยั่งยืน

ภาคการเงิน หนุนเป้าหมาย Net Zero  บ่มเพาะ “คน” ตอบโจทย์สังคมยั่งยืน

ธนาคารคือ ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้ธุรกิจบรรลุเน็ตซีโร่แล้ว ธนาคารยังมีบทบาทสร้างแรงบันดาลใจ และบ่มเพาะ "คน" ให้ก้าวสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งยูโอบีเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนชัดเจน

วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) แม้ว่าจะมีความตื่นตัวของทุกภาคส่วนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต่างตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่จากการสำรวจบริษัทสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กทั่วโลก (UN Global Compact) ล่าสุดพบว่า มีผู้บริหารธุรกิจเพียง 10% เท่านั้น ที่สามารถดำเนินตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

การประชุม UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) 2566 "Partnership for Human Capital 5.0 towards Sustainable Intelligence-Based Society : พันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน"  โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) และสหประชาชาติในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนก้าวหน้า นอกจากเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรมแล้วก็คือ การเตรียมความพร้อมเรื่อง “คน” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์”  โดยเฉพาะในอนาคต ที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 หรือเศรษฐกิจสีเขียว

ตัน ชุน ฮิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เผยถึงวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนใน วงเสวนาหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของคน” ในงานประชุมดังกล่าว โดยได้ย้ำถึงการสร้างแรงบันดาลใจ และบ่มเพาะพนักงาน และพาร์ตเนอร์ ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

“ถ้ามองความยั่งยืนเป็น ‘ดิสรัปชัน’ เราจะมองเรื่องนี้เป็นเหมือน ‘อุปสรรค’ แต่ถ้ามองความยั่งยืนเป็น “ความก้าวหน้า” เราจะมองเรื่องนี้เป็น ‘โอกาส’ และจะมีการดำเนินงานที่แตกต่างไป” ตัน กล่าว

  ภาคการเงิน หนุนเป้าหมาย Net Zero  บ่มเพาะ “คน” ตอบโจทย์สังคมยั่งยืน

ยูโอบี ได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 บนพื้นฐานของความต้องการการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ที่ยังคงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม และเดินหน้าร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการบ่มเพาะให้ลูกค้าและธุรกิจก้าวสู่เส้นทางความยั่งยืนไปด้วยกัน และเชื่อว่านี่คือโอกาสสำหรับทุกภาคส่วน

“ระบบเศรษฐกิจนับจากวันนี้เป็นต้นไป จะมีเม็ดเงินมหาศาลที่ถูกลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำพาโลกของเราไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และนั่นคือโอกาสที่สำคัญสำหรับทุกคน ทุกภาคส่วน” ตัน กล่าวย้ำ

ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ความท้าทายของธนาคาร คือการเป็นตัวเร่งให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่าน ช่วยให้ธุรกิจลูกค้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยขณะนี้ธนาคารยูโอบีมี 2 ประเด็นที่ให้ความสำคัญ ประเด็นแรก คือ   การเป็นผู้นำทางความคิด (Thought Leadership) เพื่อร่วมขับเคลื่อนธุรกิจสู่เส้นทางของความยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของธนาคารให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี ที่ยังต้องการแรงจูงใจและสนับสนุนอย่างมาก ให้ขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางนี้ และยังกระตือรือร้นที่จะนำประเด็น ความยั่งยืนมาพูดคุยในการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ หน่วยงานราชการ หรือลูกค้า โดยหวังว่าความยั่งยืนจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนทุกฝ่าย

ประเด็นที่ 2 การพัฒนาโซลูชันทางการเงินสีเขียว (Green Financing Solutions)  ภายใต้กรอบแนวคิดการเข้าถึงการเงินทุนที่ยั่งยืน 6 ด้าน อาทิ กรอบแนวคิดด้านเมืองอัจฉริยะ กรอบแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กรอบแนวคิดสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะครอบคลุมธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่คุณค่า เช่น กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มพลังงานหมุนเวียน กลุ่มก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้นำยูโอบี ชี้ว่า การดำเนินเรื่องความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในข้ามคืน ทุกอย่างต้องใช้เวลา ดังนั้น ทุกคนจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งยังได้ระบุว่า“คน” มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และความท้าทาย คือ “การปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง และวัฒนธรรมที่เหมาะสม เพื่อให้ทั้งองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

ยูโอบี ยกให้ “การขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน” และ “การสร้างบุคลากรผู้ชำนาญการ” เป็นสองใน สี่แกนหลักในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และยังกำหนดค่านิยมพนักงานไว้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย คุณธรรม สร้างสรรค์ เป็นหนึ่งเดียว และมุ่งมั่น นั่นคือ การทำในสิ่งที่ถูกต้อง สร้างพื้นฐานไว้เพื่ออนาคต ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อบรรลุผลสำเร็จในระยะยาว จึงให้ความสำคัญกับบ่มเพาะพนักงานให้มีทักษะและวิธีคิดแบบมืออาชีพ รวมทั้งมีความสามารถที่จะช่วยนำพาลูกค้า และพาร์ตเนอร์ให้เข้าสู่เส้นทางความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความซื่อสัตย์ ยอมรับในความแตกต่างและความสามารถที่หลากหลาย

ภาคการเงิน หนุนเป้าหมาย Net Zero  บ่มเพาะ “คน” ตอบโจทย์สังคมยั่งยืน

“เราต้องการให้คน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เลือกทำในสิ่งที่สะดวก นี่คือคุณลักษณะที่เราต้องการปลูกฝังให้คนของเรา” ตัน กล่าว

เพื่อให้มั่นใจว่าการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยูโอบีได้กำหนดกรอบงานด้านความยั่งยืนอย่างชัดเจน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของนโยบายและแนวทางในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร และพนักงานในทุกระดับ และยังได้รวมตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน เข้ากับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญ

ยูโอบียังได้จัดการอบรมด้านความยั่งยืนให้กับพนักงานทุกคน ทั้งการอบรมขั้นพื้นฐาน และการอบรมด้านเทคนิคเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งผนวกเรื่องความยั่งยืนไว้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่เน้นเฉพาะด้านธุรกิจที่ดูแลลูกค้าเท่านั้น แต่ยังส่งมอบไปยังสังคมอีกด้วย เช่น การดูแลพัฒนาชุมชนที่เน้นด้านศิลปะ การศึกษาและเยาวชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน

“เรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้น เราอาจไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” ตัน กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์