ปานปรีย์ ย้ำ รัฐบาลไทยพร้อมรับมือทั้งเชิงรุก และรับกับทุกการเปลี่ยนแปลง
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเกิดความท้าทายหลายด้าน รัฐบาลแต่ละประเทศต่างต้องวางกลยุทธ์รับมือกับอุปสรรคต่างๆ ซึ่งปานปรีย์เน้นย้ำว่า ไทยได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน และครอบคลุมในทุกมิติ
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน GO THAILAND 2024 : GREEN ECONOMY - LANDBRIDGE โอกาสทอง ? เกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพื่อมุ่งสู่การเติบโตในบริบทท้าทายปัจจุบันว่า ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตบนเส้นทางใหม่ใน 3 มิติ ได้แก่ 1.การจับเคลื่อนสีเขียว 2.การขับเคลื่อนนวัตกรรม 3.การขับเคลื่อนความเชื่อมโยง
ส่วนความท้าทาย 3 ประการ ที่ปานปรีย์มองว่ามีความสำคัญ และเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.การเมืองโลก 2.สภาพอากาศ 3.เทคโนโลยีดิสรัปชัน
ขณะนี้การเมืองโลกอยู่ในสภาวะแบ่งขั้ว และน่าวิตกกังวล โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีน และสหรัฐ สงครามยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้การแบ่งขั้วโลกรุนแรงมากขึ้น เกิดนโยบายแบบพร้อมชน และการกีดกันรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และภูมิเทคโนโลยี แต่ความท้าทายดังกล่าวอาจนำไปสู่โอกาสความร่วมมือได้ ไทยจึงต้องอยู่ให้เป็นมีจุดยืน และเป้าหมาย เพื่อบริหารความเสี่ยง ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น และพร้อมรับการแข่งขันที่เข้มข้น
สำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลมองว่าพลังงานสีเขียว และเน็ตซีโร่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แม้การเดินหน้าหาฉันทามติบางประเด็นยังติดขัด เช่น การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ข้อกังวลด้านนี้ก็ช่วยผลักดันให้แต่ละประเทศต้องปฏิบัติเพื่อทำการค้ากับประเทศอื่นๆ และไทยต้องแสดงท่าทีในการมีส่วนร่วมดำเนินการด้านสภาพอากาศ ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมลดปล่อยก๊าซคาร์บอน และเน้นพลังงานสะอาด แม้การเปลี่ยนผ่านสีเขียวต้องใช้เวลา แต่ผู้ประกอบการหลายรายเดินหน้าไปบ้างแล้ว ด้วยแนวทางพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (อีเอสจี)
ความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิสรัปชัน มาจากการแข่งขันของขั้วอำนาจ ที่นำไปสู่การแข่งขันเทคฯ ขั้นสูง เพราะช่วยเพิ่มพูนอำนาจของประเทศ ดังนั้น การกำหนดตำแหน่งของประเทศเกี่ยวกับเทคฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไทยต้องต่อยอดพัฒนา ประยุกต์เทคฯ เพื่อเป็นผู้นำตลาด เช่น พัฒนาแพ็กเกจเซมิคอนดักเตอร์แทนการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เอง นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มพูดคุยเรื่องธรรมาภิบาลสำหรับเอไอมากขึ้น เนื่องจากเอไอได้เปลี่ยนวิถีการทำงาน และการใช้ชีวิต
จากความท้าทายดังกล่าว รมว.กต. มองว่า รัฐบาลขับเคลื่อนประเทศในทิศทางที่เหมาะสม และเปิดกว้างให้กับเศรษฐกิจโลก
สำหรับการก้าวข้ามการแบ่งขั้ว ไทยมีจุดยืนไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สร้างโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อย่างมีดุลยภาพ
นอกจากนี้ การเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ดึงดูดการลงทุน สร้างการรับรู้โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเอกชนหลายประเทศให้การตอบรับที่ดี และเร่งทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ประเทศไทยดำเนินเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องผลักดันร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ก็มีส่วนสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทย
“ในปีหน้าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเราจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งเชิงรับ และเชิงรุก การต่างประเทศเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่หลายคนคิด และพวกเราต้องช่วยกัน เพื่อเดินหน้า และรับมือความท้าทายต่างๆ อย่างมีภูมิคุ้มกัน” ปานปรีย์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์