“เอลนีโญ” คืออะไร รู้ไว้ ปรับตัวทัน "สูญเสียน้อย"
“เอลนีโญ” คือ การที่ผิวน้ำทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้น ในทางกลับกันถ้าผิวน้ำทะเลบริเวณนี้เย็นลงจะเรียกว่า “ลานีญา” ปี 2567 ประเทศไทยอยู่ในกรอบที่จะเผชิญกับทั้งสอง
ปรากฏการณ์นี้ นั่นหมายความว่า ไทยมีโอกาสเจอทั้ง "ร้อนสุดขั้ว" และ "ฝนสุดเข้ม"
กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในขณะนี้อุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มเย็นแล้วมีแนวโน้มกึ่งระหว่างสภาวะเอลนีโญกับลานีญา โดยจากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะลานีญา และเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่กลางปี 2576 แต่ภาวะฝนแล้ง และน้ำท่วมในบางพื้นที่ยังมีอยู่
นอกจากนี้จากสถิติ 3 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลายปีนี้ ไทยจะไม่ได้สัมผัสอากาศเย็นเหมือนกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ยกเว้น แถบตอนบนของภาคเหนือและอีสาน
ด้าน สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในกลางปี 2567 โอกาสที่จะเกิดภาวะลานีญา เพิ่มขึ้นถึง 50% ขณะที่ภาวะเอลนีโญจะลดลงเหลือแค่ 40% ถือเป็นแนวโน้มที่ดี และจะทำให้สภาวะอากาศของไทยเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปี 2567 ภาวะเอลนีโญ เกิดขึ้นในไทยยาวนาน ทำให้มีฝนตกน้อย แม้จะมีมากขึ้นในช่วงท้ายฤดูฝน จากแนวลมพัดสอบ และร่องมรสุม แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนที่จะบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย.2566 - 30 เม.ย.2567 ) ยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ดังนั้นทุกฝ่ายยังต้องช่วยกันประหยัดน้ำ และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก คณะกรรมการลุ่มน้ำต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ จากภาวะอากาศที่เปลี่ยนไป สทนช.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และมีความเห็นตรงกันว่า มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2563 โดยมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% ดังนั้นจึงจะใช้ปี 2563 เป็นปีฐานเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการในฤดูแล้ง เช่น ส่งเสริมแผนเพาะปลูก การสำรองน้ำ เป็นต้น
“สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ยังมีความเสี่ยงที่ไทยจะกลับเข้าภาวะเอลนีโญอีกก็ได้ จึงต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และบริหารความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมด้วย ”
ทั้ง "เอลนีโญ" และ "ลานีญา" เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการจัดการน้ำเพราะเหตุผลสำคัญที่สุดคือ ความตระหนักรู้ของผู้ใช้น้ำทุกคนที่ต้องรู้จักคุณค่า และใช้อย่างประหยัดซึ่งต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่ว่าน้ำจะมาก หรือน้อย การจัดการบนพื้นฐานการรู้คุณค่าของน้ำเป็นกุญแจสำคัญสู่ความยั่งยืนของโลก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์