ไทยพลิกเกมส์ชู“อาหารแห่งอนาคต” รับศก.เสียหายจากภูมิอากาศเปลี่ยน

ไทยพลิกเกมส์ชู“อาหารแห่งอนาคต”  รับศก.เสียหายจากภูมิอากาศเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมี“ต้นทุน” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ทุกคนบนโลกกำลังจ่ายไปทุกเวลา นาที ชั่วโมงและทุกวัน รวมเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ในการขาดแคลนอาหารในอนาคต

Key Points

  • ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญในรายงานความเสี่ยงทั่วโลก
  • เรื่องน่ากังวลในอนาคต ที่เกี่ยวกับ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญการดำรงชีวิต คือด้านความมั่นคงด้านอาหาร 
  • มาตราการ Food loss food waste เป็นมาตราการที่นำวัตถุดิบมาใช้คุ้มค่าที่สุด
  • ประเทศไทยยังมีจุดแข็งเพื่อการเตรียมรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นได้

ข้อมูลจาก World economic forum ระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว สภาพภูมิอากาศ และที่เกี่ยวข้องกับน้ำทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2562 มูลค่าความเสียหายนี้จะเพิ่มขึ้นมาจาก 184 พันล้านดอลลาร์ในปี 2513 อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) จะพบว่าตัวเลขที่แท้จริงของความสูญเสียดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงกว่านี้อีก

เนื่องจาก ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญในรายงานความเสี่ยงทั่วโลก โดยแบบสำรวจ 70% ให้คะแนนมาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันหรือเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก”

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า เรื่องน่ากังวลในอนาคตอีกอย่างที่เกี่ยวกับ 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญการดำรงชีวิต คือความมั่นคงด้านอาหาร หรือ Food security โดยไทยมีการเตรียมการเรื่องของอาหารแห่งอนาคต Future food ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลทำไม่มีผลผลิตจากปศุสัตว์นั้น ก็จะมีการนำพืชเข้ามาทดแทนหรือแมลง สาหร่าย รวมถึงจุลินทรีย์เข้ามาทดแทน เมื่อมีความจำเป็น

ในปัจจุบันนั้นมีการนำมาตราการ Food loss food waste ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้คุ้มค่าที่สุด โดยมี กระบวนการ 3Rs อันได้แก่ ใช้น้อยหรือลดการใช้ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และใช้ใหม่ (Recycle)

“ภาคของธุรกิจอย่างน้อยต้องเตรียมในเรื่องพื้นฐานความยั่งยืนที่ต้องล้อไปตามเทรนด์ของโลก โดยเริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทั้งด้านพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและให้คู่ค้าเห็นว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความยั่งยืน และยังต้องเตรียมความพร้อมรับมาตราการบังคับทางด้านภาษีที่ยังไม่น่าจะมีผลในเร็วๆนี้ แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”

 ประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งเพื่อการเตรียมรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจากการประเมินทางเศรษฐกิจกำลังชี้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นความเสี่ยงที่มีความชัดเจนมากขึ้น นับเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องจ่าย 

ไทยพลิกเกมส์ชู“อาหารแห่งอนาคต”  รับศก.เสียหายจากภูมิอากาศเปลี่ยน

ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงฝนตกหนัก แผ่นดินถล่ม พายุลูกเห็บ และไต้ฝุ่น ตามข้อมูลของรัฐบาลจีนที่อ้างอิงจากข้อมูลของ WMO ระบุว่า ความเสียหายจากพายุไซโคลนเขตร้อนถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด  รองลงมากคือน้ำท่วม และภัยแล้งตามมาเป็นอันดับสาม

ขณะที่ในแอฟริกา ภัยพิบัติระหว่างปี 2513-2564 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 43,000 ล้านดอลลาร์ โดยภัยแล้งคิดเป็น 95% ของสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนที่ยุโรปตามข้อมูลของ WMO ระบุว่าความเสียหายอยู่ที่  562 พันล้านดอลลาร์ โดย 8% ของการเสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกที่กระทบคนยุโรป 

สำหรับอเมริกาใต้ มูลค่าขาดทุนอยู่ที่ 115.2 พันล้านดอลลาร์ และสำหรับอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฉบับล่าสุดได้สรุปว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบันทำให้ประเทศเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์ทุกสามสัปดาห์ และความเสียหายเฉลี่ย 150 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีระหว่างปี 2561-2565

เหตุการณ์สุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศถูกกำหนดให้เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 

นอกจากนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 28 หรือที่เรียกว่า COP28 ที่ชี้ว่า “ต้องมีการรับมือภัยพิบัติที่มากขึ้น”

แม้ว่าทั่วโลกได้ใช้ความพยายามทั้งการสนับสนุนด้านต่างๆตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านไปเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ความเสียหายยังหลอกหลอนต่อไป การเข้าใจและเตรียมความพร้อมอาจทำให้วิกฤติหลายเป็นโอกาสเหมือนที่ไทยใช้เตรียมพร้อมด้านอาหารมั่นคง