ไทยร่วม WTO จัดการความมั่งคั่ง “เศรษฐกิจประมง” แบบไร้วันหมดอายุ
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพีเกษตร) ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 0.7–1.7% จากปัจจัยสนับสนุน ทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังอยู่ในเกณฑ์ดี
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว โดยสาขาประมง ขยายตัว 0.5-1.5%
รายได้จากภาคเกษตรมีจุดเด่นคือ ความสามารถการกระจายรายได้ที่เข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งรวมถึงสาขาการประมงที่มีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง แต่ “การประมง”
ดังนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม มีมติให้เพิ่มวันในการทำการประมงให้กับเรือประมงในจำนวน 1,200 ลำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาประมงไทย โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 2567 เป็นต้นไป “เพื่อจะเป็นการสร้างงานให้กับแรงงานมากกว่า 20,000 คน และสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าพันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคืนอาชีพ คืนชีวิตให้ชาวประมงไทย”
อย่างไรก็ตาม “ประมง” เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (Agreement on Fisheries Subsidies) ภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งเป็นการจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้าม และควบคุมการอุดหนุนที่ภาครัฐของแต่ละประเทศให้แก่ภาคประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อรักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำทางทะเล จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การจัดทำความตกลงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเหมาะสม
ความตกลงดังกล่าว ถือเป็นความตกลงฉบับแรกขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลด และควบคุมการอุดหนุนของประเทศสมาชิก WTO ที่มีมูลค่าการอุดหนุนในระดับที่สูง
“หากลดการอุดหนุนของประเทศสมาชิกดังกล่าว จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลมีความยั่งยืนสำหรับการทำประมงในอนาคต รวมทั้งไทยสามารถจับสัตว์น้ำ และแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม”
ทั้งนี้ การเจรจาจัดทำความตกลงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 เนื่องจาก WTO ได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำโลก และการอุดหนุนจากประเทศสมาชิก WTO ที่ให้แก่ภาคประมงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากจนทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 (MC4) ได้มีปฏิญญา (Declaration) ให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการอุดหนุนประมง ทำให้การเจรจาได้หยุดชะงักไปในช่วงปี 2555-2558 เนื่องจากท่าทีของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระดับการพัฒนา และเศรษฐกิจที่หลากหลาย
จากนั้น ประเทศสมาชิกได้กลับมาเริ่มเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงอีกครั้ง เมื่อสหประชาชาติ (United Nations) ได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในปี 2558 (Sustainable Development Goals: SDGs) และ WTO ได้นำ SDG ข้อที่ 14.6 ที่ระบุเกี่ยวกับการห้าม และกำจัดการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำมาเป็นเป้าหมายในการเจรจา และ WTO สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) เมื่อเดือนมิ.ย.2565
สำหรับปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว จำนวน 55 ราย อาทิ สิงคโปร์ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และไนจีเรีย ซึ่งความตกลงจะมีผลบังคับใช้ เมื่อมีประเทศสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง
แม้ภาคเกษตรซึ่งในที่นี้มุ่งที่สาขาประมงจะทำรายได้ให้ไทย และอีกหลายพื้นที่บนโลกแต่การมุ่งด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่ยั้งคิดถึงทรัพยากรที่ลดลง และทดแทนไม่ได้นั้นอาจเป็นความมั่งคั่งที่มีวันหมดอายุในอีกไม่ช้าได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์