นวัตกรรม 'จัดการขยะ' ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง สู่เมืองปลอดขยะ
เปิด มุมมองของ 2 สตาร์ตอัป โครงการฝึกอบรมการจัดการขยะและรีไซเคิลขยะแห่งประเทศไทย' (WMRA) 'ไมโครกรีนเทค' ผู้พัฒนาเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ และ REBOON ผู้ให้บริการการสร้างระบบการจัดการขยะในวัดเพื่อสิ่งแวดล้อม นำนวัตกรรมลงสู่ชุมชน
Key Point :
- ประเทศไทย มีปัญหาก่อขยะมากกว่า 25 ล้านตันต่อปี จัดการอย่างไม่ถูกต้องกว่า 11 ล้านตัน หรือกว่า 60% และมากกว่า 3 แสนตัน รั่วไหลสู่แหล่งน้ำ ทะเล
- โครงการ WMRA ความร่วมมือระหว่าง SecondMuse และ Seedstars จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริม สตาร์ทอัป ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการขยะ
- ความท้าทายของการกำจัดขยะ คือ การสร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก และสร้างความอย่างยั่งยืนในประเทศ
การใช้นวัตกรรมการจัดการปัญหาขยะในเมืองใหญ่ ดูจะไม่ใช่เรื่องยากทั้งการดึงดูดนักลงทุน งบประมาณ การสร้างความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนั้นๆ แต่ความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้นวัตกรรมเป็นเรื่องง่ายและลงไปสู่ชุมชน หรือในพื้นที่ต่างจังหวัด พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดผลกระทบเชิงบวก
มุมมองของ 2 สตาร์ตอัป จาก 'โครงการฝึกอบรมการจัดการขยะและรีไซเคิลขยะแห่งประเทศไทย' (Thailand Waste Management & Recycling Academy: WMRA) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง SecondMuse และ Seedstars ออกแบบมา เพื่อช่วยผู้ประกอบการ ที่ทำงานด้านจัดการขยะพลาสติกโดยใช้นวัตกรรม ให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถบาลานซ์การทำธุรกิจให้มีผลกระทบเชิงบวกและมีรายได้ สะท้อนให้เห็นว่า การนำนวัตกรรมลงสู่ชุมชนเป็นเรื่องที่ทำได้ เพียงแต่ต้องมีวิธีการหรือแนวทางที่ทำให้ชุมชนเข้าถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘Bioglitter’ กลิตเตอร์รักษ์โลก ลดปัญหา ‘ไมโครพลาสติก’
- ขั้นตอนขวด rPET คืนชีวิต ขวดพลาสติกเท่าวาฬ 7 พันตัว
- ‘ขยะขวดพลาสติก’ ล้นเมือง? ชาวไนจีเรียแก้ด้วยการนำไปสร้างบ้าน
กลยุทธ์ 'ป่าล้อมเมือง'
สำหรับ บริษัท ไมโครกรีนเทค (Micro Greentech: MGT) หนึ่งในสตาร์ตอัปของโครงการ WMRA ที่ได้ต่อยอดจากธุรกิจหลัก Vending Machine ที่ทำมากว่า 15 ปี อย่างน้ำมันหยอดเหรียญ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ สู่การพัฒนาเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ (Reverse Vending Machine: RVM) ทั้งขวด PET และ อลูมิเนียม โดยนำไปตั้งในชุมชน จ.นครปฐม ราว 5-6 จุด สามารเอาแต้มไปแลกรับของในชุมชน เช่น ไข่ฟรี 3-5 ฟอง เติมน้ำมัน ซักผ้า เป็นต้น
สกล สัจเดว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครกรีนเทค จำกัด มองว่า ความท้าทายในการจัดการขยะ คือ การให้ความรู้ตลาด และเปลี่ยนวัฒนธรรมการทิ้ง รองลงมา คือ นวัตกรรม ทำอย่างไรให้นวัตกรรมเข้าถึงชีวิตคนได้ง่าย และเข้าใจได้ง่าย เครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ จึงถูกพัฒนาขึ้นและนำไปวางไว้ในชุมชน แต่อีกหนึ่งคำถามที่เจอ คือ แล้วพลาสติกเอาไปทำอะไรได้ต่อ ? ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจคำว่า คาร์บอนเครดิต
ดังนั้น จึงจัดงานวิ่งขึ้น โดยให้ประชาชนนำขวดพลาสติกภายในบ้านมาสมัคร และได้วิ่งฟรี ระยะทาง 3 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มที่ ต.ห้วยพระ จ.นครปฐม เป็นงานวิ่งที่วิ่งเก็บขยะในชุมชน โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 800 คน แจกถุงดำให้ทุกคนตอนปล่อยตัว และเมื่อถึงเส้นชัยทุกคนจะมาพร้อมถุงดำ ชั่งน้ำหนักดูว่าใครที่เก็บขยะได้มากที่สุด คนนั่นจะได้รางวัลไป
ทั้งนี้ เครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์อัตโนมัติ ถูกพัฒนาโดยใช้ AI เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในชุมชน สามารถแยกประเภทขวดได้โดยไม่ต้องใช้บาร์โค้ด รับได้ทั้งขวดน้ำ ขวดเครื่องใช้ในครัวที่เป็นพลาสติก โดยไม่ต้องแยกฝา เพียงแค่ต้องใช้ให้หมดเพื่อความสะอาด
“ผมชอบเรื่องชุมชน และอยากให้ชุมชนได้ใช้นวัตกรรม ทำไมหลายๆ นวัตกรรมต้องให้คนเมืองใช้ก่อน เราอยากให้ชุมชนได้ใช้นวัตกรรมดีๆ เหมือนป่าล้อมเมือง หากสร้างอิมแพคจากต่างจังหวัดเข้ามา มองว่า กทม. ไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเสนอนวัตกรรม”
นอกจากนี้ ไมโครกรีนเทค ยังได้ MOU ในเรื่องของ คาร์บอนเครดิต ร่วมกับตำบลห้วยพระ จ.นครปฐม ซึ่งมีประชากรมากกว่า 10,000 คน ภายใต้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER และอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม “คาร์บอนเครดิตบูโร” โดยความร่วมกับสภาอุตสาหกรรม คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า
REBOON วัด คือ ศูนย์กลาง
อีกหนึ่งสตาร์ตอัปในโครงการ WMRA อย่าง REBOON โครงการคัดแยกขยะและการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเริ่มต้นที่ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์ภายในวัดที่รับหน้าที่ดูแลและคอยส่งเสริมให้พระลูกวัดมีส่วนร่วมในโครงการนี้
สินธุนนท์ ชวนะเวศน์ ผู้ก่อตั้ง REBOON ผู้ให้บริการการสร้างระบบการจัดการขยะในวัดเพื่อสิ่งแวดล้อม เผยว่า REBOON เกิดจากการที่เล็งเห็นว่าขยะมีปริมาณมากในประเทศไทย และมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง จะทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะ ขณะเดียวกัน วัดเป็นเหมือนโรงเรียนแห่งที่สองที่จะสามารถบ่มเพาะ พัฒนาคนได้ ฉะนั้น การเชื่อมวัดกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้อง หากเราเข้าไปขับเคลื่อน
“เราจึงสร้างโมเดลบริการการจัดการขยะ สร้างระบบการจัดการขยะในวัด นอกจากทำจุดคัดแยก ทำป้ายในจุดต่างๆ ของวัดแล้ว ยังเข้าไปให้ความรู้และความเข้าใจกับบุคลากร พระ และสร้างระบบที่เป็นรูปธรรม เชื่อมต่อปลายทาง และอยู่แก้ปัญหาให้กับวัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ดูแลระบบการคัดแยกขยะ เกิดเป็นพฤติกรรมที่บุคลากรของวัด สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นวัดนำร่อง ระยะกว่า 8 เดือน พบว่า สามารถคัดแยกขยะรีไซเคิล และ เชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (Refuse Derived Fuel: RDF) ได้กว่า 4.6 ตัน ที่ไม่ต้องนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ และปัจจุบัน มีการขยายไปยัง 4 วัดในเขตหนองแขม คือ วัดทองเนียม , วัดไผ่เลี้ยง , วัดอุดมรังสี และวัดระฆังพรหมรังสี
“เป้าของ REBOON โฟกัสที่วัดเป็นหลัก และหลังจากโครงการนี้ฯ จบลง ปัจจุบันก็ยังเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง โดยทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำงานร่วมกับ กทม. ซึ่งกำลังทำในเรื่องของการคัดแยกขยะในจุดต่างๆ ใน กทม.”
ท้ายนี้ สินธุนนท์ มองว่า ทุกภาคส่วน ต้องตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาขยะ เพราะทุกคนคือผู้สร้างขยะ เราไม่สามารถโยนให้ใคร คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ภาครัฐ สิ่งที่อยากจะเห็น คือ ต้องมีการใช้หลัก Extended Producer Responsibility (EPR) ผู้ผลิตต้องมีส่วนรับผิดชอบขยะที่จะเกิดขึ้นปลายทาง รวมถึงภาษี การแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งในหลายประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ โรงเรียน การให้ความรู้ การสอนคัดแยกขยะมีความจำเป็น เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ต้องเริ่มจากการศึกษาในเด็ก ต้องขับเคลื่อนเป็นองค์รวมทุกด้าน
ปั้นสตาร์ตอัป สร้างอีโคซิสเต็มจัดการขยะ
โครงการฝึกอบรมการจัดการขยะและรีไซเคิลขยะแห่งประเทศไทย (Thailand Waste Management & Recycling Academy: WMRA) เป็นความร่วมมือระหว่าง SecondMuse และ Seedstars เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านการจัดการขยะและการรีไซเคิลอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยจัดเวิร์กช็อปและให้คำปรึกษาแก่สตาร์ตอัปทั้ง 11 ราย
ต่อมาในช่วงที่ 2 ของโครงการได้คัดเลือกสตาร์ตอัป 4 ราย ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ออกแบบเฉพาะกับแต่ละธุรกิจ อาทิ การให้คำปรึกษา การทดสอบไอเดียธุรกิจ (Proof-of-concept) อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในการจัดการขยะพลาสติกในระยะเวลาโครงการ 9 เดือน (กันยายน 2565 - มิถุนายน 2566)
ภาคภูมิ ตัณฑประภา ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (ประเทศไทย) บริษัท SecondMuse กล่าวว่า โครงการมีจุดมุ่งหมายจากปัญหาที่ว่า ประเทศไทย เรามีปัญหาก่อขยะมากกว่า 25 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ มีการจัดการอย่างไม่ถูกต้องกว่า 11 ล้านตัน หรือกว่า 60% และมากกว่า 3 แสนตัน รั่วไหลสู่แหล่งน้ำ ทะเล เราจึงพยายามเข้าไปแก้ปัญหา ผ่านสตาร์ตอัป ผ่านโครงการฯ โดยทำร่วมกับทาง Seedstars
“เราพยายามที่จะเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน เพราะเชื่อในคอนเซปต์ของความสัมพันธ์ที่ดี การเติบโต หรือ ความมั่งคั่งของการจัดการขยะพลาสติก จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนในอีโคซิสเต็มได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุน ทั้งทางสตาร์ตอัป เชื่อมโยงนักลงทุน ภาครัฐ ให้เกิดโครงการแบบนี้ต่อไปในอนาคต”
ณัฐณิชา เลิศพลากร ที่ปรึกษาโครงการ บริษัท Seedstars กล่าวเสริมว่า ในโปรแกรมจะมีการวัดผลกระทบเชิงบวก ทั้งทางธุรกิจ เช่น หลังจากจบโปรแกรมแล้ว สตาร์ตอัปกว่า 60% มีความมั่นใจมากขึ้นในการเข้าหาเงินทุนจากภายนอก รายได้ที่เพิ่มขึ้น 33% รวมถึง ทางสิ่งแวดล้อม สังคม อาทิ การจัดการขยะพลาสติก การเข้าไปทำการช่วยเหลือผู้ที่เก็บรวบรวมขยะผ่านการทำธุรกิจ ฯลฯ
“ทั้งนี้ การจัดการขยะต้องเป็นความร่วมมือกับทุกฝ่าย และการที่จะขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน ภาครัฐ นักลงทุน จะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือ ผู้ประกอบการที่มีไอเดีย เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเชื่อมต่อกับประสบการณ์ของผู้บริโภค”