‘ขยะขวดพลาสติก’ ล้นเมือง? ชาวไนจีเรียแก้ด้วยการนำไปสร้างบ้าน
ไนจีเรียประสบปัญหาขยะพลาสติก 2.5 ล้านตัน โดยเฉพาะ “ขวดพลาสติก” เพราะชาวบ้านขาดแคลนน้ำสะอาด จึงต้องซื้อน้ำบรรจุขวดมาดื่มจำนวนมาก ทำให้ขวดน้ำกลายเป็นขยะล้นเมือง แต่มันกลับกลายเป็นวัสดุสร้างบ้าน!
รู้หรือไม่? อุตสาหกรรมทั่วโลกผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันในแต่ละปี และมากกว่าร้อยละ 50 เป็นพลาสติกที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนพลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลได้ มีน้อยกว่าร้อยละ 10 ขณะเดียวกันขยะพลาสติกอีกประมาณ 19-23 ล้านตัน ไปอยู่ในทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเล
ทั้งนี้มีข้อมูลรายงานว่า ประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหา “ขยะพลาสติก” จำนวนมากก็คือ “ไนจีเรีย” ซึ่งสร้างขยะพลาสติกประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะขยะจากขวดน้ำพลาสติก ยกตัวอย่างใน “รัฐลากอส” เมืองใหญ่ที่สุดของไนจีเรีย พบว่ามีขยะพลาสติกคิดเป็นร้อยละ 15 ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจุบันมีประชากรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 220 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มมากกว่า 400 ล้านคนภายในสิ้นปี 2050
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไนจีเรียมีขยะจากขวดพลาสติกจำนวนมากก็เพราะประชาชนหลายครัวเรือนไม่มีน้ำสะอาดบริโภค ทำให้จำเป็นต้องซื้อน้ำบรรจุขวดจากร้านค้ามาดื่ม จนเกิดขยะขวดน้ำล้นเมือง ประกอบกับชาวไนจีเรียหลายครัวเรือนก็ประสบปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัย (หรือแม้จะมีบ้านแต่ก็ไม่แข็งแรง) ส่งผลให้ชาวเมืองเกิดไอเดียนำขยะอย่าง “ขวดพลาสติก” ที่มีอยู่จำนวนมหาศาล นำมาประยุกต์เป็นวัสดุก่อสร้างแทนก้อนอิฐ เพราะมีราคาถูกรวมถึงป้องกันความรุนแรงกรณีบ้านเรือนพังทลายจากเหตุแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
สำหรับวิธีการนำขวดพลาสติกมาใช้แทนก้อนอิฐนั้น เริ่มจากนำทรายเติมเข้าไปในขวดจนเต็ม และวางซ้อนกันก่อนจะใช้เชือกมัดต่อกัน และจบด้วยการนำโคลนมาฉาบอุดรอยรั่วของช่องว่างระหว่างขวด โดยการสร้างบ้านแต่ละหลังจะใช้ขวดพลาสติกประมาณ 14,000 ขวด และที่สำคัญ “ขวดพลาสติก” มีราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างแบบเดิมประมาณร้อยละ 67 และชาวไนจีเรียยังอ้างว่า ขวดพลาสติกเหล่านี้เมื่อนำมาประยุกต์สร้างบ้านแล้วกลับแข็งแรงว่าอิฐทั่วไปเกือบ 20 เท่า และคาดว่าสามารถลดแรงกระแทกหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวในอนาคตได้อีกด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซนต์
ขณะเดียวกัน รัฐลากอสของไนจีเรียก็เริ่มมีการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะถุงพลาสติกและขวดน้ำพลาสติก ถึงแม้จะเริ่มมีการตระหนักถึงปัญหา “ขยะพลาสติก” ล้นเมืองแล้ว แต่การผลิตพลาสติกก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ Dangote Refinery ที่เป็นโรงกลั่นปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ที่นอกจากการกลั่นเชื้อเพลิงแล้วยังผลิตพลาสติกชนิดต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้แม้ว่าประชาชนและหน่วยงานภาครัฐบางแห่งจะตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากขยะพลาสติก โดยก่อนหน้านี้ในปี 2014 ไนจีเรียเคยมีนโยบายความรับผิดชอบของผู้ผลิตเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ บังคับใช้ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบแห่งชาติ แต่กลับไม่ได้นำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบในทุกรัฐของไนจีเรียทำให้ปัญหามลพิษของขยะพลาสติกยังไม่ถูกแก้ไขอย่างตรงจุด
ท้ายที่สุดแล้ว หากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ของไนจีเรียสามารถร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้บรรลุมาตรฐานระดับสูงด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมได้ ก็อาจช่วยให้แก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ตรงจุดตามเป้าหมายมากขึ้น เพราะนอกจากจะนำพลาสติกไปรีไซเคิลเพื่อแปรรูปให้นำไปใช้ในรูปแแบบอื่นได้แล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง (Re-Use) เพื่อลดปริมาณขยะได้อีกด้วย โดยเฉพาะการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนไร้บ้าน
อ้างอิงข้อมูล : UNILAD, The Conversation และ The Guardian