‘ถุงสปันบอนด์’ อาจไม่รักษ์โลก?! เพราะทำจากเส้นใยพลาสติก PP
นับว่าเป็นเรื่องดีที่ห้างร้านต่างๆ เริ่มหาวัสดุอื่นๆ มาใส่ของทดแทน “ถุงพลาสติก” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมี “ถุงสปันบอนด์” เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าถุงชนิดนี้ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ หลังพบพลาสติกเป็นส่วนประกอบ
Key Points:
- “ถุงสปันบอนด์” คือตัวเลือกแรกๆ ในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการร้านค้า นิยมนำมาใช้แทนถุงพลาสติก เพื่อหวังลดปัญหาขยะพลาสติกและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายได้
- กระบวนการผลิตถุงสปันบอนด์มีต้นทุนต่ำ แถมพบว่ามี “เส้นใยพลาสติก PP” เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น ทนทาน และน้ำหนักเบา
- ส่วนประกอบสำคัญของถุงสปันบอนด์ คือเส้นใยพลาสติก “พอลิพรอพิลีน” เมื่อผ่านการใช้งานไปสักพักถุงจะเริ่มเสื่อมคุณภาพ เปื่อยยุ่ยและกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม
กระแส “รักษ์โลก” มาแรงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะหลายคนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเลือกที่จะหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้ “ถุงผ้า”หรือ “ถุงกระดาษ” ทดแทน “ถุงพลาสติก”
ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่าการใช้ “ถุงผ้า” คือตัวเลือกที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถุงผ้าทุกประเภทจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในถุงใส่ของที่อาจไม่ได้รักษ์โลกจริง ก็คือ “ถุงสปันบอนด์” เพราะมีข้อมูลพบว่าถุงชนิดนี้มีเส้นใยพลาสติก “พอลิพรอพิลีน” (Polypropylene) หรือ PP เป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ความจริงแล้วพวกมันไม่ใช่ผ้า และยังถูกเรียกว่าเป็น “พลาสติกจำแลง”
- ทำความรู้จักเส้นใยพลาสติก “พอลิพรอพิลีน”
ข้อมูลจาก วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่า “พอลิพรอพิลีน” (หลังจากนี้ขอเรียกว่า PP) เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทนต่อสารเคมี ความร้อน ความชื้น และน้ำมัน ทำให้นิยมนำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ได้แก่ กล่องอาหาร ชาม จาน และกระบอกน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพัฒนาให้มีสีสันสวยงามอย่างหลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก
ที่สำคัญ PP สามารถนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ แต่จะเป็นในรูปแบบของกล่องแบตเตอรี่รถยนต์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์
แม้ว่าจะเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่เมื่อพวกมันมาเป็นส่วนประกอบของ “ถุงสปันบอนด์” กลับไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด เพราะต้องใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานนับ 10 ปี
- “ถุงสปันบอนด์” รักษ์โลกจริง หรือยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อม?
วิธีลดขยะพลาสติกที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศก็คือ การใช้ถุงผ้าทดแทนถุงพลาสติก เพื่อให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง แต่การหาวัสดุมาทดแทนถุงพลาสติกก็มีข้อจำกัด เช่น ต้นทุนราคาแพงสำหรับถุงผ้า และหากนำถุงกระดาษมาใช้แทน ก็พบปัญหาความไม่ทนทาน ทำให้ “ถุงสปันบอนด์” เป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างได้รับความนิยม
ถุงสปันบอนด์ (Spun Bonded) มีเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับผ้า จึงทำให้หลายคนเรียกมันว่า “ถุงผ้า” แต่แท้จริงแล้วมันไม่ได้ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายหรือผ้าป่าน แต่กลับทำมาจากพลาสติกกลุ่ม “PP” และในกระบวนการผลิตนั้นก็ไม่ได้นำเอาเส้นใยสังเคราะห์มาทอเป็นผืนผ้าแต่อย่างใด (Non-woven) แต่กลับเป็นการฉีดเส้นใยที่มีความร้อนมาสานบนสายพาน และพิมพ์ขึ้นรูปนูน จนมีหน้าตาเหมือนผ้าจริงๆ
ข้อดีของ “ถุงสปันบอนด์” ก็คือ แม้พวกมันจะมีน้ำหนักเบามาก แต่กลับมีความทนทานสูง รับน้ำหนักได้ดี ไม่ดูดซับน้ำ รองรับแรงดึงและแรงฉีกได้ดี รวมถึงสามารถยืดหรือหดตัวได้ด้วย ทำให้ร้านค้าหลายแห่งนิยมนำมาให้ลูกค้าใช้แทนถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการตั้งคำถามว่าพวกมันสามารถ “ย่อยสลาย” ได้ตามธรรมชาติหรือไม่ ? เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญก็ยังคงเป็นพลาสติกอยู่ดี
ปัญหาที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงของถุงสปันบอนด์ก็คือ เมื่อโดนรังสี UV จะแตกตัวได้ง่าย เนื่องจากทำมาจากพลาสติก PP ที่ไม่ได้มีคุณภาพสูง เมื่อใช้งานไปได้สักระยะหนึ่งมักจะเปื่อยยุ่ยและมีเส้นใยเล็กๆ หลุดออกมา ซึ่งเส้นใยเหล่านั้นก็คือ “ไมโครพลาสติก” (Microplastic) ที่เล็ดลอดไปในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และแม้ว่า PP เป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ แต่ถุงสปันบอนด์ส่วนมาก มักมีการย้อมสีและสกรีนลวดลายเพื่อความสวยงาม ส่งผลให้การรีไซเคิลเป็นไปได้ยากขึ้นเพราะมีสารปนเปื้อนตกค้างอยู่
ก่อนหน้านี้ในปี 2019 ถุงสปันบอนด์เคยถูกแบนมาแล้วโดย National Environment Commission Secretariats (NECS) ของภูฏาน ที่มีนโยบายแบนถุงพลาสติกเพื่อลดขยะในประเทศ และพบว่าถุงสปันบอนด์ก็มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เนื่องจากย่อยสลายยาก รวมถึงเมื่อโดนความร้อนสูงจะปล่อยสารเคมีอันตรายสู่ธรรมชาติได้
ทั้งนี้แม้ว่า “ถุงสปันบอนด์” จะย่อยสลายได้ แต่ก็อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่ถุงผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติจริงๆ จะใช้เวลาย่อยสลายเพียง 5 ปี และไม่ทิ้งสิ่งตกค้างไว้ในระบบนิเวศ
แคมเปญรณรงค์ ลด ละ เลิกการใช้ “ถุงพลาสติก” ในหลายองค์กร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การเลือกวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนก็มีความจำเป็นเช่นกัน แม้ว่าถุงสปันบอนด์จะมีต้นทุนในการผลิตต่ำ และย่อยสลายได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าถุงที่ทำมาจากเส้นใยพลาสติก PP เหล่านี้ จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการพกถุงผ้าไปเองจากบ้านก็ยังคงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด และสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง
อ้างอิงข้อมูล : Henghua, Sommers, Felix, Zerowasten Center, Thana Plus, All Around Plastics และ วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ