ไม่ได้รักษ์โลกอย่างที่คิด? วิจัยเผย พบ ‘สารเคมีอมตะ’ ในหลอด-แก้วกระดาษ
วิจัยล่าสุดเผย “แก้วกระดาษ” และ “หลอดกระดาษ” มี “สารเคมีอมตะ” ที่เรียกว่า PFAS เคลือบผิวอยู่ ย่อยสลายยากไม่แพ้พลาสติก แถมมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์
Key Points:
- หลอดกระดาษ-แก้วกระดาษ ถูกนำมาใช้ในร้านค้าร้านอาหารมากขึ้น เพราะเชื่อว่าย่อยสลายได้ง่ายกว่าหลอดและแก้ว “พลาสติก”
- แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า “แก้วกระดาษ” และ “หลอดกระดาษ” มี “สารเคมีอมตะ” เคลือบพื้นผิวอยู่
- สารเคมีอมตะ หรือ PFAS ย่อยสลายได้ยากไม่แพ้พลาสติก รวมถึงอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้อีกด้วย
แน่นอนว่า “พลาสติก” เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” เพราะย่อยสลายยาก และก่อให้เกิดขยะสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use) ที่ใช้กันตามร้านค้า ร้านอาหาร
ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนมากหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ เพื่อทดแทนพลาสติกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถุงกระดาษ แก้วกระดาษ หลอดกระดาษ จานกระดาษ เป็นต้น
ด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ หลายคนจึงคิดมองว่าน่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่ากับพลาสติก แต่จากงานวิจัยล่าสุดพบว่า แก้วกระดาษ และ หลอดกระดาษ มีสารประกอบ PFAS สังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “สารเคมีอมตะ” มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า สารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl Substances) เคลือบอยู่บนพื้นผิว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม่อ่อนตัวง่ายเมื่อเปียกน้ำ แม้ว่าสารดังกล่าวจะพบในปริมาณต่ำ แต่หากสะสมไปนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้
- “สารเคมีอมตะ” คืออะไร ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?
“สารเคมีอมตะ” หรือ “PFAS” เป็นหนึ่งในสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น นิยมใช้อย่างแพร่หลายใน “บรรจุภัณฑ์อาหาร” เนื่องจากช่วยป้องกันความชื้นและดูดซึมไขมันได้ดี รวมทั้งพบได้ในของใช้ทั่วไป เช่น กระดาษห่ออาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของสารเคมีอมตะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1902 โดย 3M บริษัทขุดเหมืองในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการทำงาน หลังจากนั้นพวกมันก็เริ่มแพร่กระจายไปตามบ้านเรือนในช่วงปี 1940 เมื่อบริษัท DuPont ผู้ผลิตเครื่องครัวเคลือบสารกันติด (Non-stick) เทฟลอน เริ่มใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้มากขึ้นในขั้นตอนการผลิต โดยในตอนนั้นยังไม่มีใครคาดคิดว่าพวกมันจะกลายเป็น “สารเคมีอมตะ” ในเวลาต่อมา
แม้ว่าสาร PFAS ที่ตรวจพบบนบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษจะอยู่ในระดับที่ต่ำจนไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่หากได้รับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ และภาวะครรภ์เป็นพิษ
อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มาจากสารเคมีอมตะก็คือ พวกมันยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหลายปี แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะหมดอายุการใช้งานไปแล้วก็ตาม รวมถึงอาจสร้างสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อแมลงบางชนิดอีกด้วย
- พบสารเคมีอมตะใน “หลอดดูดน้ำกระดาษ” มากถึง 90%
งานวิจัยจากวารสาร Food Additives and Contaminants ระบุว่า จากการทดสอบหลอดดูดน้ำกระดาษในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าหลอดกระดาษ 18 แบรนด์จากทั้งหมด 20 แบรนด์ มี “สารเคมีอมตะ” ที่มีอายุการใช้งานยาวนานและอาจเป็นพิษ ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ไปจนถึงสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากพวกมันสลายตัวได้ยากมาก
ล่าสุด ธิโม กรอฟเฟิน (Thimo Groffen) นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า จากกรณีพบสารเคมีอมตะในหลอดดูดน้ำที่ทำจากพืชของสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นในเบลเยียมด้วยหรือไม่ จึงได้ทำการทดสอบขึ้น
โดยทีมวิจัยได้ซื้อหลอดในท้องตลาดมาทั้งหมด 39 แบรนด์ ที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สเตนเลส และพลาสติก โดยส่วนใหญ่มาจากร้านค้า ร้านอาหาร และห้างห้างสรรพสินค้า
จากการทดสอบพบว่ามี 29 แบรนด์ หรือร้อยละ 69 มี “สารเคมีอมตะ” ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป แต่หากดูเฉพาะผลิตภัณฑ์ “หลอดดูดน้ำกระดาษ” พบว่ามีปริมาณสารเคมีอมตะอยู่มากถึงร้อยละ 90
สำหรับหลอดดูดน้ำจากไม้ไผ่มีสารเคมีอมตะถึง 4 ใน 5 แบรนด์ ตามมาด้วยหลอดพลาสติก 3 ใน 4 แบรนด์ และหลอดแก้ว 2 ใน 5 แบรนด์
ทีมวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่าการที่พบ “สารเคมีอมตะ” ในเนื้อวัสดุของหลอดดูดน้ำกระดาษเกือบทุกแบรนด์ ก็เพราะพวกมันมีคุณสมบัติในการกันน้ำ เนื่องจากหากใช้แค่กระดาษอย่างเดียวอาจเปื่อยยุ่ยเร็ว ใช้ได้ไม่นานแต่ก็ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าสารดังกล่าวจะปนเปื้อนไปกับของเหลวหรือไม่
สำหรับประเภทของสารเคมีอมตะ ที่พบมากที่สุดคือ กรดเปอร์ฟลูออโรออคตาโนอิก (PFOA) ที่ถูกห้ามใช้ทั่วโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2020 นอกจากนี้ ยังพบกรดไตรฟลูออโรอะซิติก (TFA) และกรดไตรฟลูออโรมีเทนซัลโฟนิก (TFMS) ซึ่งเป็น PFAS ที่ละลายน้ำได้สูง และอาจปนเปื้อนจากหลอดลงในเครื่องดื่มได้
แม้ว่าสารเคมีอมตะที่ทีมวิจัยค้นพบนั้นจะอยู่ในปริมาณที่ต่ำ ประกอบกับคนส่วนมากมักใช้หลอดแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจจะไม่ได้รับอันตรายโดยตรง แต่ก็สามารถสะสมเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ว่าหลอดดูดน้ำทุกประเภทจะเป็นอันตราย เนื่องจากทีมวิจัยยืนยันว่าไม่พบสารเคมีอมตะใน “หลอดสแตนเลส”
- “แก้วกระดาษ” ที่อาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนของแมลง
นอกจากนี้งานวิจัยที่เผยแพร่ใน Mirage News ยังพบว่า “แก้วกระดาษ” โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวก็พบปัญหาเดียวกับหลอดดูดน้ำกระดาษ นั่นก็คือ มีสารเคมีอมตะเคลือบอยู่บนผิวผลิตภัณฑ์ ที่อาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทำให้เกิดสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต
เบธานี คาร์นีย์ อาล์มรอธ (Bethanie Carney Almroth) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า จากการศึกษาทดสอบผลกระทบของแก้วใช้แล้วทิ้งที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างกันนั้น ส่งผลต่อตัวอ่อนของยุง และผีเสื้อ
สำหรับกระบวนการทดลองเริ่มจาก นำแก้วกระดาษและแก้วพลาสติกแช่น้ำประมาณ 3 สัปดาห์ และติดตามว่าสารเคมีที่ถูกชะล้างออกมาจากแก้วนั้น จะส่งผลต่อตัวอ่อนแมลงอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่าแก้วทั้งสองแบบส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงลาย หมายความว่าต่อให้แก้วจะผลิตมาจากกระดาษ แต่หากทิ้งไปในธรรมชาติก็สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่แตกต่างจากแก้วพลาสติก
เนื่องจากกระดาษไม่สามารถทนต่อไขมันและน้ำได้ ทำให้แก้วกระดาษจำเป็นต้องเคลือบพื้นผิวด้วยฟิล์มพลาสติกที่ส่วนมากทำจากโพลิแลกไทด์ PLA (ผลิตจากข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออ้อย) แทนที่จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้หลายคนมองว่า PLA เป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป
แต่ความจริงแล้วผลจากการวิจัยพบว่าพวกมันก็ยังเป็นพิษอยู่ดี เพราะไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไปอยู่ในน้ำหรือสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และจะยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นหากสัตว์กินเข้าไป
แม้ว่าในปัจจุบันคนส่วนมากมีความตระหนักรู้ด้าน “สิ่งแวดล้อม” เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์กระดาษแบบใช้แล้วทิ้งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และแทบไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพเลย แต่จากข้อค้นพบของทีมวิจัยทั้งจากเบลเยียมและสวีเดนดังกล่าว พวกเขาจึงอยาก ก็แนะนำว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงใช้ “หลอดดูดน้ำกระดาษ” และ “แก้วกระดาษ” คือทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เพราะ “สารเคมีอมตะ” ในภาชนะเหล่านั้นไม่ได้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างที่ใครบางคนเชื่อ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : Mirage News, The National news, Zero Water Thailand และ กรมการค้าต่างประเทศ