ทำอย่างไร เมื่อไทยพบ "ขยะทะเล" ตกค้างชายฝั่งกว่า 444 ตัน

ทำอย่างไร เมื่อไทยพบ "ขยะทะเล" ตกค้างชายฝั่งกว่า 444 ตัน

"ขยะทะเล" เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ที่ผ่านมา พบขยะตกค้างชายฝั่งทะเลกว่า 444 ตัน ส่วนใหญ่ยังเป็นขยะพลาสติก การแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายจัดการกับขยะให้เป็นศูนย์

การจัดเก็บ “ขยะทะเล” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ปีงบประมาณ 2564 ที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลรวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม (ประมาณ 444 ตัน) รวมจำนวนขยะ 3,950,904 ชิ้น ขยะที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติกอื่น ๆ เศษโฟม ขวดเครื่องดื่มแก้ว และถุงก๊อปแก๊ป

 

นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณขยะทะเลที่มีแหล่งกำเนิดจากแม่น้ำสายสำคัญบริเวณอ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนล่าง แม่น้ำ 9 สาย พบขยะลอยน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีปริมาณ 84,524,933 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 738 ตัน/ปี) มีขยะที่ไหลผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 52,649,113 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 317 ตัน/ปี) และมีปริมาณสูงขึ้นจาก 168 ตัน ในปี 2563 เป็น 317 ตัน ในปี พ.ศ. 2564

 

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด - 19) มีการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก จำนวนชิ้นขยะลอยน้ำในภาพรวมจากทุกปากแม่น้ำมีปริมาณสูงกว่าในปี พ.ศ. 2563

 

ส่วนปริมาณขยะลอยน้ำบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีปริมาณเฉลี่ย 10,061,877 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 284 ตัน/ปี) โดยผ่านมาทางปากทะเลสาบสงขลามากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 5,517,079 ชิ้น/ปี (น้ำหนัก 142 ตัน/ปี)

 

ทำอย่างไร เมื่อไทยพบ \"ขยะทะเล\" ตกค้างชายฝั่งกว่า 444 ตัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

สถิติการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากในช่วง 10 ปีงบประมาณ พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,536 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 554±183 ตัว โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2555 – 2563 มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความเสื่อมโทรมลง ปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดตามธรรมชาติ และผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ เช่น การติดพันรัด หรือถูกรัดด้วยขยะทะเล หรือขยะทะเลจำพวกอวน และเชือก การติดเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอวนปู และอวนปลาจาระเม็ด เป็นต้น

 

ตั้งศูนย์มอนิเตอร์ขยะทะเล

 

ล่าสุด (6 ม.ค.) “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร่วมหารือกับ Mr.ONO Hiroshi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ถึงแนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การฟื้นฟู และดูแลรักษาธรรมชาติ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

 

การหารือร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ มีประเด็นที่สำคัญหลายหัวข้อ อาทิ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย และปัญหาเรื่องขยะ ได้แนวคิดร่วมกันที่จะจัดตั้งศูนย์มอนิเตอร์ขยะทะเล เพื่อจัดการกับขยะให้เป็นศูนย์ ซึ่งในเรื่องนี้ไทย และญี่ปุ่นมีการสนับสนุนกันมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดปลายปีที่ผ่านมา

 

ก้าวสู่ Net zero

 

นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันว่าจะต้องยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบความตกลงปารีส ข้อ 6.2 และจากนี้ไปจะมีการแลกเปลี่ยนทั้งประสบการณ์ เทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศไทย ที่จะก้าวเข้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050

 

 

ในการนี้ยังได้ร่วมหารือกับ “เคอิจิโร นากาซาวะ” รองประธานอาวุโสองค์การความร่วมมือระหว่าง ประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) ในประเด็นโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาพัฒนา ทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสานงานต่อภายใต้กรอบความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงขยะทะเล

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าการพัฒนาการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตของประเทศไทย จะได้องค์ความรู้จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเทคโนโลยี และงบประมาณ ที่จะช่วยพัฒนาโครงการฯ ต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เนื่องจาก JICA เป็นองค์การฯ ที่มีบทบาท เรื่องการดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ ตามข้อตกลงของรัฐบาลประเทศที่กำลังพัฒนา หนึ่งในประเด็นหารือมีเรื่องแนวทางการ ขยายกรอบ การศึกษาปัญหา PM 2.5 ที่ JICA ให้ความสนใจ เพื่อเพิ่มเนื้องานในการศึกษาประโยชน์และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นการสานต่องานร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

 

“ปัญหา PM 2.5 ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการจัดการเรื่องนี้ ถ้าไทยได้เรียนรู้ หรือได้สานต่อโปรเจคร่วมกัน เชื่อว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ เพราะญี่ปุ่นน้อยมากที่จะประสบปัญหาเรื่อง PM 2.5 เพราะประชาชนให้ความตระหนัก และเห็นความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมากซึ่งเป็นเรื่องดี ถ้าเราได้นำเทคโนโลยีมาใช้”

 

รวมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามเป้าหมายของประเทศไทย ที่จะก้าวเข้าสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emissions และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050

 

จะทำอย่างไรให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณ 388 ล้านตัน ลดลงไปเหลือ 120 ล้านตัน และแผนระยะสั้น Nationally Determined Contributions หรือ NDC ที่ ประเทศไทยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 % รวมทั้งหารือด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพการจัดการขยะอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

“ทะเล” ไม่ได้มีแค่ “ปัญหาขยะ”

 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงาน “คุณภาพน้ำทะเล” พบว่าในปีงบประมาณ 2564 ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 75 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 22 และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 3 เมื่อพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปี 2557 – 2564 พบว่า โดยรวมคุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคงที่ คือ สถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี

 

คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งรายพื้นที่ พบว่าพื้นที่ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี รองลงมา อยู่ในเกณฑ์พอใช้ 

อ่าวไทยตอนบน ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นอ่าวกึ่งปิด และได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำสายหลัก 4 สาย 

อ่าวไทยตอนกลางถึงตอนล่าง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นพื้นที่ใน “อ่าวปากพนัง” มีสถานะคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้

และฝั่งทะเลอันดามัน พบสถานะเสื่อมโทรม ร้อยละ 1 ในจังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง คือ บริเวณหาดกมลา

 

ส่วนสถานการณ์ น้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน ในปีงบประมาณ 2564 พบน้ำมันรั่วไหล และก้อนน้ำมันดิน รวม 44 ครั้ง แบ่งเป็น เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล 17 ครั้ง (ไม่ทราบสาเหตุ) ทั้งนี้ ผลจากการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานภาพของน้ำมันรั่วไหลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดระยองและชลบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลซึ่งเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง

 

เนื่องจากมีกิจกรรมชายฝั่งหลากหลายประเภท ได้แก่ การเดินเรือเข้าออก เรือขนส่งสินค้า เรือประมง และเรือท่องเที่ยว ตลอดจนบริเวณชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมันทำให้มีการเดินเรือเข้าออกเพื่อขนส่งน้ำมัน รวมทั้งมีระบบท่อขนส่งน้ำมันในทะเล