ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา "ขยะทะเล" อย่างไรให้ยั่งยืน

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา "ขยะทะเล" อย่างไรให้ยั่งยืน

“ยูนิโคล่ ประเทศไทย” ร่วมกับ "GC" จัดกิจกรรมลดขยะในทะเล สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ยก "ชุมชนสำเภาทอง" เทศบาลตำบลบ้านเพ ต้นแบบชุมชนการจัดการขยะที่ดี สร้างจิตสำนึกเยาวชน สู่ชุมชนรักษ์ทะเล

“ปัญหาท้องทะเลไทย” ในปัจจุบัน เกิดจากขยะจากในเมืองที่ถูกน้ำซัดลงสู่ทะเล และถูกเกยขึ้นสู่ชายหาด ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ทุกปีจะมีพลาสติกลอยอยู่ในทะเลปริมาณกว่า 8 ล้านตันต่อปี หรือเท่ากับเครื่องบินเจ็ทขนาดใหญ่ 5 หมื่นลำ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

ขณะเดียวกัน “ระบบนิเวศมหาสมุทรและทะเล” ซึ่งเป็นเป็นระบบนิเวศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในประเทศไทย มีพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง คิดเป็น 60% ของอาณาเขตทางบก ครอบคลุม 23 จังหวัด ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยหนึ่งในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย คือ “หาดแม่รำพึง” จ.ระยอง ซึ่งมีชายหาดทอดยาวกว่า 12 กิโลเมตร

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

ที่ผ่านมา มีการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และคนในชุมชน ผ่านโครงการธนาคารทิ้ง-ไซเคิล (ThinkCycle Bank) ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการสร้างการตระหนักรู้ด้านการคัดแยกขยะให้แก่กลุ่มเยาวชนและคนในชุมชน ผ่านการดำเนินงานธนาคารขยะของโรงเรียน และจุดรับฝากขยะของชุมชน

 

รวมถึงพัฒนา “YOUเทิร์น แฟลตฟอร์ม” เพื่อจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่วิธีการการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลอย่างครบวงจร หรือที่เรียกว่า End-to-End Waste Management เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธี และล่าสุดกับการร่วมมือกับ “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” จัดกิจกรรมลดขยะในทะเล เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยเก็บขยะบริเวณชายหาดแม่รำพึง ภายใต้แคมเปญ JOIN: THE POWER OF CLOTHING สนับสนุนกิจกรรมเพื่อโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

 

“จุฬารัตน์ คำเสมอ” หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง ซึ่งอยู่ในชุมชนสำเภาทอง เทศบาลตำบลบ้านเพ นับเป็นต้นแบบชุมชนการจัดการขยะที่ดี ที่มีการร่วม โครงการธนาคารทิ้ง-ไซเคิล (ThinkCycle Bank) กับ GC มาตั้งแต่ปี 2561 เล่าว่า แต่เดิมเทศบาลบ้านเพ มีการรณรงค์เรื่องการจัดการขยะยาวนานตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นเริ่มมีการให้โรงเรียนมีส่วนร่วม เนื่องจากโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังเยาวชนในการแยกขยะ และส่งต่อไปแนวคิดไปยังผู้ปกครอง

 

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง มีเด็กนักเรียนอนุบาล 1 -3 อายุระหว่าง 3–5 ปี ราว 60 คน เราตั้งใจปลูกฝังให้เด็กทุกคนรู้จักประโยชน์ของการคัดแยกขยะ โดยให้นำขยะมาฝากที่โรงเรียนเป็นประจำ การปลูกฝังต้องเริ่มจากการให้เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมโรดโชว์ของ GC ในการคัดแยกขยะซึ่งจัดขึ้นทุกปี และครูมาต่อยอดสอนในทุกเช้า ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองรับรู้ถึงกิจกรรมรับฝากขยะ โดยที่ศูนย์จะมีจุดรับฝากขยะไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษลัง เป็นต้น”

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

“เดิมทีในปี 2561 ผู้ปกครองยังไม่มีความรู้ ก็จะนำขยะรวมมา แต่พอมีการให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่อยๆ พบว่า มีการคัดแยก แกะฉลาก คัดแยกขวดแก้วเพิ่มขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่พบ คือ ปริมาณขยะลดน้อยลง เด็กๆ เห็นขวดพลาสติกก็เก็บมาให้ครูที่โรงเรียน แม้เด็กจะไม่รู้ว่าเอามาฝากได้เงินหรือไม่ แต่เขารู้ว่าต้องเก็บขวด คัดแยกขยะที่บ้านเพื่อมาส่งครู ซึ่งเราก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ได้ทราบว่าสามารถนำมาขายเป็นเงินออมให้กับเด็กๆ ได้ โดยในปีที่ผ่านมา มีเด็กที่จบอนุบาล 3 ออกไปได้เงินออมกว่า 2,000 – 3,000 บาท และหากร่วมโครงการให้ต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป GC จะสมทบเงินให้อีกเท่าหนึ่ง”

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

“จุฬารัตน์” เล่าต่อว่า เด็กๆ ในชุมชนและในศูนย์ เมื่อเห็นขยะจะเดินไปเก็บ เพราะเราปลูกฝังให้เด็กๆ รู้ว่าศูนย์เราต้องสะอาด โรงเรียนเราต้องสะอาด ไม่ทิ้งขยะ เราอยู่ในพื้นที่ทะเล อยู่ในพื้นที่ชุมชน เวลาสอนก็ต้องสอนภาพรวมว่าไม่ให้ทิ้งขยะ เขาจะรู้ว่าไม่ควรทิ้งลงทะเล บ้าน หรือโรงเรียน

 

“มีคนถามว่าครูได้อะไรจากการขายขยะ ครูตอบว่าไม่ได้ ศูนย์ฯ ไม่เคยได้ ชุมชนนำมาขายให้ 300 บาท ศูนย์ก็จ่ายให้ 300 บาท ไม่มีส่วนต่าง เราไม่ได้คาดหวัง แต่คิดว่าทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ผลที่ได้รับกลับมา คือ เด็กๆ รู้จักการแยกขยะ การออม มีวินัยมากขึ้น รวมไปถึง ขยะเปียก เด็กทานข้าวเสร็จ จะให้เด็กเทเศษอาหารในถังเพื่อทำเป็นปุ๋ย ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ฯ ให้เด็กดื่มนมใส่แก้วเพื่อลดการใช้หลอดและนำกล่องนมมารีไซเคิล ถักเป็นกระเป๋าให้คนที่มาศึกษาดูงานเป็นต้นแบบและนำไปใช้ได้”

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง มีการรวบรวมขยะที่เด็กและผู้ปกครองนำมาขาย และให้บริษัทที่รับซื้อมารับ 2 – 3 สัปดาห์ต่อครั้ง ได้เงินราว 1,000 กว่าบาทต่อครั้ง โดยปริมาณขยะที่นำมาขายสะสมตั้งแต่ปี 2561 มีทั้งหมดกว่า 17,644.43 กิโลกรัม อีกทั้ง ในปี 2565 นี้ ขยายผลไปสู่ชุมชนในพื้นที่อย่าง “ชุมชนสำเภาทอง” มาแล้ว 5 เดือน รวบรวมขยะได้ 1 ตันต่อเดือน โดยชุมชนอื่นก็สามารถนำมาขายได้เช่นกัน และหากชุมชนสำเภาทองเข้มแข็ง จะขยายผลมาในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

 

“ภัทรภร วิรดานนท์” ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC เป็นธุรกิจเคมีภัณฑ์ ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้และเกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเร็วๆ นี้ GC ได้เปิดโรงงาน ENVICCO ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลที่จะช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ได้ถึง 60,000 ตัน/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 8.32 ล้านต้น หรือการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่และเป็นโรงงานรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

“นอกจากนี้ GC ยังได้นำพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) จนกลายเป็นสินค้าแฟชั่น และของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ อีกด้วย”

 

เก็บขยะทะเล มุ่งสู่ความยั่งยืน

 

ด้าน “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” ซึ่งตอกย้ำพันธกิจด้านความยั่งยืนของแบรนด์เสื้อผ้า ร่วมกับ GC จัดกิจกรรมลดขยะในทะเล โดยเก็บขยะบริเวณชายหาด ภายใต้แคมเปญ JOIN: THE POWER OF CLOTHING สนับสนุนกิจกรรมเพื่อโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น เป้าหมายเพื่อเชิญชวนให้พันธมิตรและลูกค้าของยูนิโคล่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาต่างๆ ระดับโลก

 

เช่น มลพิษในมหาสมุทร และสร้างแรงบันดาลใจให้ช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 145 คน สามารถเก็บขยะได้ทั้งหมด 315 กิโลกรัม ทั้งนี้ ยูนิโคล่และ GC ได้ร่วมสมทบทุนเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้กับชุมชนสำเภาทองมูลค่า 20,000 บาท

 

ส่องแนวคิด ชุมชนต้นแบบ แก้ปัญหา \"ขยะทะเล\" อย่างไรให้ยั่งยืน

 

“เขมจิรา เทศประทีป” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า JOIN: THE POWER OF CLOTHING เป็นโครงการที่มุ่งมั่นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น โดยในวันที่ 3 – 31 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ทุกการซื้อสินค้าที่ผลิตมาจากขวด PET รีไซเคิล 100% บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูนิโคล่ จะทำการบริจาคเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อสนับสนุนการลดขยะในมหาสมุทร

 

"สำหรับกิจกรรมเก็บขยะทะเลในครั้งนี้ ถือเป็นการขยายผลจากความร่วมมือที่ GC ในการรับจัดการขยะจากยูนิโคล่สาขาเซ็นทรัลพลาซา ระยอง หวังว่าจะจุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษ์โลกได้อย่างยั่งยืน" เขมจิรา กล่าว