ไขความลับ ทำไมใช้ ‘เกลือ’ มากไป อาจทำลายสิ่งแวดล้อม?
รู้หรือไม่? “เกลือ” ที่มนุษย์ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ปรุงรสอาหาร ไปจนถึงเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ แม้ดูเหมือนไม่มีพิษภัย แต่หากใช้ปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมได้
Key Points
- หากร่างกายมนุษย์ขาดเกลือ จะส่งผลให้ไม่มีแรง ผิวแห้ง ปากแห้ง ปากซีด ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ไปจนถึงขั้นหัวใจเต้นผิดปกติ
- สถาบัน Research Insights ประเมินว่า ปี 2564 มูลค่าตลาดเกลือทั่วโลก สูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์
- สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) ปี 2565 ระบุว่า ในสหรัฐ ใช้เกลือโรยบนถนนมากถึง 42% ของเกลือที่บริโภคทั้งหมด
“เกลือ” ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหาร ทั้งให้รสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ ชีวิตมนุษย์ขาดเกลือไม่ได้ เพราะเป็นสารจำเป็นต่อระบบประสาท รักษาสมดุลของน้ำรอบ ๆ เซลล์ หากขาดเกลือไป ร่างกายจะไม่มีแรง ผิวแห้ง ปากแห้ง ปากซีด ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ไปจนถึงขั้นหัวใจเต้นผิดปกติ
- เกลือธรรมชาติจากแหล่งในอินโดนีเซีย (เครดิต: AFP) -
นอกจากนี้ เกลือยังมีมูลค่ามหาศาลในทางเศรษฐกิจ สถาบัน Research Insights คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเกลือทั่วโลกอยู่ที่กว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.4 แสนล้านบาทในปี 2564
ขณะที่มาร์ค เคอร์แลนสกี ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Salt: A World History” แสดงความเห็นต่อสำนักข่าว CNBC ว่า “คุณไม่อาจเข้าถึงเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้หากคุณไม่มีเกลือ มีอาหารจำนวนน้อยมากที่คุณส่งออกได้โดยปราศจากเกลือ ส่วนใหญ่มักจะมีเกลือเพื่อป้องกันการเน่าเสียระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นผัก เนื้อสัตว์ เนื้อปลา และผลิตภัณฑ์จากนมวัว”
- ประวัติศาสตร์ “เกลือ”
ความสำคัญของ “เกลือ” มีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ช่วงที่โลกยังไม่มีตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศเหมือนทุกวันนี้ มนุษย์ในยุคนั้นจะใช้เกลือในการถนอมอาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
เมื่อมนุษย์ออกไปรบทัพจับศึก พักค้างแรมหลายวัน หรือแม้แต่ออกท้องทะเลสู่โลกกว้างเป็นเวลาหลายเดือน ก็จะพกเกลือติดตัวไปด้วยเสมอเพื่อคงสภาพอาหารให้ได้นานที่สุด
เมื่ออินเดียตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษในปี 2473 รัฐบาลอังกฤษขณะนั้น บังคับไม่ให้ชาวอินเดียผลิตเกลือเอง ต้องซื้อจากรัฐบาลอังกฤษเท่านั้น ชาวอินเดียครอบครัวใดผลิตเกลือใช้เอง ต้องรับโทษตามกฎหมาย
สิ่งนี้จึงทำให้ทั้ง “มหาตมะ คานธี” นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังและประชาชนชาวอินเดียจำนวนมากไม่พอใจ และเดินขบวนประท้วงยืดเยื้อที่เรียกว่า “Salt March” จากเมืองอาห์เมดาบัด รัฐคุชราต ไปยังเมืองดันดี บริเวณชายฝั่งทะเลอาหรับทางตะวันตกของอินเดีย ระยะทางเดินเท้าประมาณ 390 กิโลเมตร ยาวนานถึง 24 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-6 เม.ย. 2473 เพื่อผลิตเกลือบริโภคเอง
การเดินขบวนในครั้งนี้กลายเป็น “ไม้ขีดไฟ” ที่จุดชนวนสู่การประท้วงปลดแอกจากอังกฤษในเวลาต่อมา
- ปัจจุบันถูกใช้มากกว่าถนอมอาหาร
มาในยุคปัจจุบัน เมื่อมนุษย์สามารถผลิตตู้เย็นและห้องแช่แข็งสำหรับเก็บอาหารสด ความต้องการเกลือในการถนอมอาหารก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นคือ การขยายตัวของเมือง ที่ตามมาด้วยการตัดถนนหนทางมากมายนับไม่ถ้วน และเมื่อฤดูหนาวมาเยือน หิมะที่ตกทั่วพื้นที่ก็ปกคลุมท้องถนน จนเป็นอันตรายและสร้างความยุ่งยากในการสัญจร
- สหรัฐใช้รถบรรทุกโรยเกลือบนท้องถนนที่มีหิมะตกหนา เพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากถนนลื่น (เครดิต: AFP) -
ดังนั้น มนุษย์จึงอาศัยคุณสมบัติของเกลืออีกข้อหนึ่งคือ “ฤทธิ์ลดจุดเยือกแข็ง” ในการละลายหิมะ โดยการใช้รถบรรทุกโปรยเกลือลงบนหิมะที่คลุมพื้นผิวถนนให้หิมะละลายและลดโอกาสจับตัวเป็นน้ำแข็งลื่น พร้อมกับใช้รถกวาดหิมะช่วย เพื่อให้การสัญจรปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (USGS) ระบุว่า ในสหรัฐมีการใช้เกลือโรยบนถนนทางหลวงทั่วประเทศมากถึง 42% ของเกลือที่บริโภคทั้งหมดในปี 2565 ขณะที่มหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์คาดการณ์ว่า ในสหรัฐใช้เกลือโรยบนท้องถนนถึง 20 ล้านตันในทุก ๆ ปี
- เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข็นรถโรยเกลือบนถนนที่เต็มไปด้วยหิมะในย่านไทม์สแควร์ นครนิวยอร์ก (เครดิต: AFP) -
- ทิ้งผลกระทบในแหล่งน้ำ
แม้ว่าน้ำแข็งและหิมะละลายไป แต่ผลข้างเคียงที่ยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมคือ ส่วนที่ละลายจะปนกับเกลือและไหลลงสู่แหล่งน้ำข้างเคียง จนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและคุณภาพน้ำ และเนื่องจากแหล่งน้ำโดยปกติ ย่อมมีค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างต่อการดำรงอยู่ของสัตว์น้ำที่เหมาะสม ความเค็มของเกลือย่อมเปลี่ยนแปลงค่า pH ของน้ำให้ผิดปกติได้
เมื่อน้ำที่ปนเปื้อนเกลือถูกสูบผ่านท่อประปาที่ใช้กันตามครัวเรือนและร้านค้า ความเค็มก็จะกัดกร่อนโลหะในผนังท่อให้ปนเปื้อนกับน้ำตามไปด้วย
ซูเจย์ เคาชาล นักวิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ซึ่งศึกษาการปนเปื้อนเกลือในแหล่งน้ำและระบบนิเวศ ให้ความเห็นกับสำนักข่าว CNBC ว่า นี่เป็นปัญหาที่กระทบชีวิตประจำวันของทุกคน
“พวกเราพบว่า แม่น้ำหลักและลำธารแห่งสำคัญของโลก มีแนวโน้มที่จะปนเปื้อนเกลือมากขึ้น”
ยิ่งไปกว่านั้น หากเกลือกระจายไปสู่แหล่งดิน ก็จะทำให้ดินบริเวณนั้นเค็มและยากต่อการเพาะปลูก
ขณะที่อาคารอยู่อาศัยทั่วไปก็ทำมาจากซีเมนต์ และซีเมนต์ก็มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตที่ปล่อยสารเกลือได้ ดังนั้น หากอาคารพังทลายลงหรือเสื่อมสภาพ สารเกลือที่อยู่ในซากอาคารก็จะหลุดเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมในที่สุด
จะเห็นได้ว่า เกลือเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เป็นวัตถุดิบอาหารที่มนุษย์บริโภคทุกวันและถนอมอาหารได้อีกด้วย ถึงแม้ในปัจจุบัน เกลือถูกใช้ในการถนอมอาหารน้อยลงหลังมีการผลิตตู้เย็น แต่ก็ถูกใช้ปริมาณมากในการละลายน้ำแข็งและหิมะบนถนนแทน เพื่อทำให้การสัญจรปลอดภัยยิ่งขึ้น
สิ่งที่ต้องแลกมาคือ ผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและดิน อันเป็นอันตรายต่อสัตว์และระบบนิเวศมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การใช้เกลือมากเกินไป (ที่ไม่เกี่ยวกับการบริโภคในชีวิตประจำวัน) ในประเทศที่มีอากาศหนาวก็อาจส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาวได้
อ้างอิง: ncb cnbc pobpad byjus