‘หมอวรงค์’ คนคลั่งชาติ สุมไฟ MOU44 ‘แพทองธาร’
ท้ายที่สุด "พรรคเพื่อไทย" จะเร่งเครื่องเดินหน้า หรือชะลอการเจรจาแบ่งผลประโยชน์อ้างสิทธิทับซ้อนไทย - กัมพูชา ไว้ก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเสี่ยง ยิ่ง "นายกฯ" คือ "แพทองธาร ชินวัตร" ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
KEY
POINTS
- เดิมทีคณะกรรมการเทคนิคร่วมฝ่ายไทย เข้า ครม. วันที่ 19 พ.ย.67 ที่ผ่านมา แต่ในที่สุด ต้องเลื่อนออกไปก่อน
- เอ็มโอยู44 อาจนำไปสู่ความขัดแย้งคนในชาติ และกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- หมอวรงค์ นัดรวมพลังคนคลั่งชาติ ยื่น 1แสนชื่อให้ นายกฯ เรียกร้องยกเลิก Mou44
ต้องไม่ลืมว่า “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงทุจริตโครงการจำนำข้าว เมื่อปี 2556 นำไปสู่จุดจบ “นายกฯ หญิง” คนแรกของไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อ 27 ก.ย.2560 เหตุไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ถึงคิว "แพทองธาร" นายกฯ หญิงคนที่สอง ตระกูลชินวัตร กำลังเดินหน้าเจรจาเรื่องผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ผ่านกลไก MOU44 ที่ปูทางไว้ตั้งแต่รุ่นพ่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
หลังการพบกันครั้งล่าสุด ระหว่าง แพทองธาร -ฮุนมาเนต นายกฯ กัมพูชา ในเวทีการประชุมอนุภูมิภาค GMS ครั้งที่ 8 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ย.2567
ฮุนมาเนตได้สอบถามถึงความคืบหน้าจัดตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วมฝ่ายไทย(JTC) มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน กับแพทองธาร ซึ่งเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 19 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา แต่ในที่สุด ต้องเลื่อนออกไปก่อน
ท่ามกลางสังคมไทยยังมีความเห็นต่างเรื่องเอ็มโอยู44 อธิปไตยเขตแดนทางทะเลไทย รวมทั้งความหวาดระแวง ถึงความสัมพันธ์ของคนในรัฐบาลเพื่อไทยกับรัฐบาลกัมพูชา อาจมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น นำไปสู่ความขัดแย้งคนในชาติ และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลแพทองธารเสียเอง
หมอวรงค์ผู้เรียกตัวเองว่า “คนคลั่งชาติ” แสดงจุดยืนมาตั้งแต่ต้น เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู44 เพราะมองว่าไทยจะเสียเปรียบเรื่องดินแดนในอนาคต เหตุกัมพูชาลากเส้นทับผ่านเกาะกูด โดยไม่คำนึงหลักเกณฑ์ใดทั้งสิ้น และไม่เป็นไปตามกฎหมายสากล
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 หมอวรงค์ลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด เปิดแถลงข่าวรณรงค์ ขอ 100,000 รายชื่อ คนคลั่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูดและสมบัติชาติ ผ่านช่องทาง https://nationalist.onrender.com ปัจจุบันมีประชาชนลงชื่อประมาณ 110,000 คน
วันนี้ 22 พ.ย.67 เวลา 10.00 น. หมอวรงค์ นัดรวมพลังคนคลั่งชาติ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำรายชื่อประชาชนส่งถึงนายกรัฐมนตรี
"จะเรียกว่าจัดม็อบก็ได้ แต่เป็นม็อบเคลมไว ด้วยสภาวะเช่นนี้ยังไม่อยากยืดเยื้อ เราเปิดเวทีย่อมๆ แสดงจุดยืนประมาณ 1 ชั่วโมง มีมวลชนตอบรับพอสมควร ตำรวจอาจตกใจ เพราะเราประกาศระดม เรื่องนี้มีคนสนใจเยอะมาก ไม่ได้แบ่งเป็นกลุ่มไหน แต่ทุกคนคิดถึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก วันนี้รัฐบาลอาจชะล่าใจ ว่าคนเบื่อม็อบ เบื่อการประท้วง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลได้เห็นท่าทีของประชาชนในวันนี้" หมอวรงค์ ระบุ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า
ตนได้มีโอกาสพูดคุยผู้เกี่ยวข้องหลายคน ทั้งอดีตประธานเจรจาทางทะเลไทย-มาเลเซีย เขาย้ำว่า ถ้าขุดน้ำมันขึ้นมาเมื่อไหร่ ภายใต้เงื่อนไขเอ็มโอยู44 อนาคตไทยอาจเสียดินแดน เพราะเป็นกฎหมายปิดปาก ที่ยึดหลักฐานการปฏิบัติ มากกว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้ ตนยังมีโอกาสพูดคุยคนในวงการทูต ผู้ใหญ่หลายท่านบอกว่า ให้ช่วยกันคัดค้านให้เต็มที่
"หากรัฐบาลเมินเฉยต่อข้อเรียกร้อง จะประเมินสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การยกระดับต่อไป ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ยอมแน่ เพราะเอ็มโอยู44 ถูกสงสัยว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ของสองตระกูลหรือไม่ เพราะนายทักษิณ เคยเป็นอดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจกัมพูชา มีการไปมาหาสู่กันมาตลอด รัฐบาลปัจจุบันนี้ มีความกระตือรือร้นผิดปกติ เดินหน้าเรื่องนี้ยิ่งกว่านโยบายหาเสียงเสียอีก"
"เรื่องครอบครัว สองตระกูลมีการตกลงอะไรกันหรือไม่ จึงมารีบเร่งเรื่องนี้ ถ้าเร่งแล้วเคลียร์ข้อสงสัยได้ ก็โอเค ไม่ว่ากัน แต่เคลียร์ไม่ได้เลย ยิ่งพูดยิ่งผูกมัดตัวเอง แม้แต่กรณีนายภูมิธรรม ที่ออกมาตั้งคำถาม จะเจรจาด้วยสงคราม การรบ ทั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีสงครามบริเวณนี้ เหมือนมาขู่"
หมอวรงค์ ชี้ให้เห็นว่าในปี 2544 นายทักษิณ ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ลงนามเอ็มโอยู44 กับกัมพูชา ในขณะนั้นเรามีข้อมูลข่าวสารน้อยมาก ตนเป็น สส.หลายสมัยยังไม่เข้าใจ แต่ยุคนี้ข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายมาก เชื่อว่า กรณีที่มีการเลื่อนการนำคณะกรรมการ JTC ออกไปนั้น เหตุเพราะรัฐบาลคาดไม่ถึงว่า มีกระแสต้านแรง รัฐบาลคงรู้ว่าประชาชนไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้ เพราะหากก้มหน้าตาผลักดันอย่างเดียว หายนะมาเยือนแน่ ยืนยันว่าเราไม่ได้มีเป้าหมายล้มรัฐบาล เราต้องการล้มเอ็มโอยู44 อย่างเดียว
สำหรับ หมอวรงค์ เคยเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็น สส.พิษณุโลก หลายสมัย ก่อนแพ้การเลือกตั้งปี 2562 ให้กับพรรคก้าวไกล (ปัจจุบันพรรคประชาชน)
ภายใต้บริบทความขัดแย้ง และการแบ่งขั้วทางการเมืองในขณะนั้น หมอวรงค์ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งพรรคการเมืองชื่อ“ไทยภักดี” แสดงจุดยืนเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สานต่ออุดมการณ์อนุรักษนิยม และชาตินิยมอย่างเข้มข้น ตราบจนทุกวันนี้
ส่วนรัฐบาล แม้ย้ำชัด ไม่ยกเลิกเอ็มโอยู44 แต่ลึกๆ ก็รู้ว่า การเดินหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกตรวจสอบจากคนในประเทศ อีกทั้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบางต่อความรู้สึกคน แค่เติมเชื้อเพียงนิดก็พร้อมจุดติดได้ง่าย
ท้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทย จะเร่งเครื่องเดินหน้า หรือชะลอไว้ก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเสี่ยง ยิ่งนายกฯ คือ แพทองธาร ชินวัตร ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์