‘สารเคมีอมตะ’ ความลับอันตรายที่ซ่อนอยู่ใน ‘เครื่องสำอางกันน้ำ’
ขึ้นชื่อว่าเป็น “เครื่องสำอางกันน้ำ” แน่นอนว่าต้องติดแน่นทนนานบนใบหน้า ซึ่งในการผลิตจะใช้ “ฟลูออรีน” เป็นส่วนประกอบหลัก แต่กลับมีงานวิจัยออกมาว่า สารดังกล่าวกลายเป็น “สารเคมีอมตะ” ส่งผลเสียทั้งสุขภาพของผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม
Key Points:
- สารเคมีอมตะ หรือ PFAS เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เฟอร์นิเจอร์ หรือ เครื่องสำอาง
- เนื่องจากสารเคมีอมตะไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดสารตกค้างในธรรมชาติและร่างกายมนุษย์
- เครื่องสำอางกันน้ำ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบว่ามีสารเคมีอมตะเป็นส่วนประกอบ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
มาสคาร่า อายไลเนอร์ รองพื้น แป้ง คอลชีลเลอร์ และลิปสติก ถือเป็นกลุ่ม “เครื่องสำอางกันน้ำ” ยอดนิยม เพราะติดทนนานอยู่บนหน้าได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่ไหลเยิ้มเลอะเทอะระหว่างวัน ไม่ว่าจะเหงื่อออกหรือโดนละอองฝน และในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้ผลิตพัฒนาเครื่องสำอางกันน้ำให้ติดแน่นยิ่งกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยนี้ที่ต้องการเนรมิตความสวยแบบกันน้ำกันเหงื่อ
แม้ว่าเครื่องสำอางกันน้ำจะมีข้อดีในด้านความติดทนนาน แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน หลังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Science News ระบุว่า จากการสุ่มตรวจเครื่องสำอางหลายประเภท โดยเฉพาะ “เครื่องสำอางกันน้ำ” พบว่ามีสารประกอบ PFAS สังเคราะห์ หรือ “สารเคมีอมตะ” เป็นส่วนประกอบ ที่อาจตกค้างอยู่ในร่างกาย รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
- “สารเคมีอมตะ” ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สำหรับสารเคมีอมตะ หรือ PFAS ย่อมาจาก “Perfluoro- and Polyfluorinated Alkyl Substances” ประกอบด้วยสารเคมีหลายพันชนิดที่มีความทนทานมากจนสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี รวมถึงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายศตวรรษ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้เมื่อเกิดการสะสมเป็นเวลานาน
“สารเคมีอมตะ” เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากช่วยป้องกันความชื้นและดูดซึมไขมันได้ดี นอกจากนี้ยังพบได้ในของใช้ทั่วไปอีกด้วย เช่น กระดาษห่ออาหาร เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และแม้กระทั่ง “เครื่องสำอาง”
โดยเฉพาะในเครื่องสำอางกันน้ำที่จากการวิจัยของ Graham Peaslee (เกรแฮม พีสลี) พบว่าร้อยละ 52 ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบกว่า 200 รายการมีสาร PFAS ปะปนอยู่ และหากสะสมในร่างกายไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น คอเลสเตอรอลสูง โรคต่อมไทรอยด์ โรคไต ภูมิคุ้มกันลดลง ฮอร์โมนผิดปกติ ไปจนถึงโรคมะเร็ง
นอกจากนี้ยังสามารถรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและพื้นดิน ไปจนถึงโรงบำบัดน้ำเสีย และหลุมฝังกลบขยะได้อีกด้วย
- “PFAS” ความลับอันตราย ที่ซ่อนอยู่ใน “เครื่องสำอางกันน้ำ”
จุดเด่นของ “เครื่องสำอางกันน้ำ” ก็คือความติดแน่นทนนาน และให้การปกปิดจุดบกพร่องบนใบหน้าได้ดี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติกันน้ำ กันคราบสกปรก และทนความร้อน โดยจากการทดสอบพบว่ามีกลุ่มสารเคมีอยู่ในเครื่องสำอางมากกว่า 14,000 ชนิด ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “สารเคมีอมตะ”
งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาโดย University of Notre Dame ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Environmental Science & Technology เปิดเผยว่า เครื่องสำอางกันน้ำรวมถึงเครื่องสำอางทั่วๆ ไป จากหลายบริษัทอาจมีสาร PFAS อยู่ แต่กลับไม่เขียนไว้ในส่วนประกอบ
โดยผลวิจัยพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 231 ชิ้นที่นำมาทดสอบมีส่วนผสมของฟลูออรีน (Fluorine) ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ว่าในเครื่องสำอางเหล่านี้มีสารกลุ่ม “PFAS” อยู่ โดยสามารถแยกตามประเภทได้ดังนี้
- ลิปสติก 60 ชิ้น พบสารเคมี 55%
- ลิปสติกแบบน้ำ 42 ชิ้น พบสารเคมี 62%
- รองพื้น 43 ชิ้น พบสารเคมี 63%
- คอนชีลเลอร์ 11 ชิ้น พบสารเคมี 36%
- ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้า เช่น บลัชออน บรอนเซอร์ และอื่นๆ 30 ชิ้น พบสารเคมี 40%
- มาสคาร่าทั่วไป 32 ชิ้น พบสารเคมี 47%
- มาสคาร่ากันน้ำ 11 ชิ้น พบสารเคมี 82%
- ผลิตภัณฑ์สำหรับดวงตา เช่น อายไลเนอร์ อายแชโดว์ และอื่นๆ 43 ชิ้น พบสารเคมี 58%
รวมเครื่องสำอางทั้งหมด 231 ชิ้น พบสารเคมีเฉลี่ย 52% และจากการตรวจสอบพบว่าในผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นมีส่วนประกอบของ PFAS ตั้งแต่ 4 - 13 ชนิด
ข้อมูลจาก The Guardian ระบุว่า สารเคมีดังกล่าวสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ผ่านผิวหนัง ท่อน้ำตา หรือแม้แต่การรับประทานลิปสติกเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
ผลจากการเปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับ “สารเคมีอมตะ” ที่อยู่ใน “เครื่องสำอางกันน้ำ” ทำให้มีการเสนอร่างกฎหมายสองฝ่ายในวุฒิสภาที่จะห้ามการใช้สารเคมีสำหรับการแต่งหน้าตาม “พระราชบัญญัติห้าม PFAS ในเครื่องสำอาง” เพื่อให้ผู้บริโภควางใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายโดยเฉพาะผิวหน้า
ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจผลิตภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องพยายามปรับส่วนผสมให้ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าเครื่องสำอางบางชนิดจะมีคำว่า “PFAS-free” กำกับไว้ ซึ่งหมายถึงปราศจากส่วนผสมของ “สารเคมีอมตะ” เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูล : Science News และ The Guardian