นับถอยหลัง วันมนุษย์สูญพันธุ์ เปิดปัจจัยที่จะทำให้จบสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์
เปิดความเป็นไปได้ที่จะทำให้ “มนุษย์สูญพันธุ์” หลากหลายสาเหตุทั้งจากการสืบพันธุ์ AI หรือแม้แต่หลงลืม ซึ่งล้วนเป็นผลมาจาก “น้ำมือมนุษย์” ทั้งสิ้น
Key Points:
- มีความเป็นไปได้ว่า “การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6” (The 6th Mass Extinction) กำลังจะเกิดขึ้นเร็วกว่าครั้งก่อน ๆ และจะเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นด้วย ฝีมือมนุษย์ โดยในปัจจุบันมีสัตว์สูญพันธุ์เร็วกว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนถึง 35 เท่า
- มนุษย์ก็ต้องสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งล้วนมีปัจจัยมาจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดที่ลดลงทั่วโลก จนหลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- รวมไปถึง การพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่าวันหนึ่งอาจจะมีความสามารถมากกว่ามนุษย์และเข้ามาแทนที่ หรือบางทีเราอาจย้ายดวงจิตและความคิดขึ้นไปอยู่บนระบบคลาวด์ เหมือนกับในหนังไซไฟที่เคยดูก็เป็นได้
“การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6” (The 6th Mass Extinction) ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า โดยมี “มนุษย์” เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ในครั้งนี้ ทั้งจากการล่า การทำลายป่า ไปจนถึงภาวะโลกร้อน จนมีสัตว์ และพืชจำนวนมากที่สูญพันธุ์ไปจำนวนมากจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งการสูญพันธุ์ยังคงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
แน่นอนว่าวันหนึ่งมนุษย์ก็ต้อง “สูญพันธุ์” ไปเช่นเดียวกัน แต่อาจจะไม่ต้องรอให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมาทำให้มนุษยชาติต้องสูญพันธุ์ และมีความเป็นไปได้มากมายที่จะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของพวกเราเอง
- การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6 จากน้ำมือมนุษย์
“การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมากกว่า 50% สายพันธุ์ที่มีอยู่บนโลกสูญพันธุ์ไปในเวลาพร้อมๆ กันหรือไล่เลี่ยกัน ที่ผ่านมาโลกได้เผชิญกับเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ไปแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือ เหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในช่วงยุคครีเทเชียส (Cretaceous) เมื่อราว 65 ล้านปีที่แล้ว ทำให้ “ไดโนเสาร์” ทั้งหมดสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้
ที่ผ่านมาการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่สำหรับ “การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6” ที่จะเกิดขึ้นนับต่อจากนี้ อาจเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ปัจจุบันมนุษย์เป็นผู้ยึดครองโลก เข้ามามีบทบาท และสร้างผลกระทบต่อโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปัญหาขยะ การรุกรานป่า ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เกิดจำเป็น จนทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ
แม้อุณหภูมิจะเปลี่ยนไปเพียงไม่กี่องศา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ดังที่เรามักจะเห็นภาพของ “หมีขั้วโลก” ผอมโซต้องมาคุ้ยขยะกิน และไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้อยู่อาศัย จนกลายเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง
เจราร์โด้ เซบายอส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติของเม็กซิโก พบว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีสัตว์ 73 สกุลสูญพันธุ์เร็วกว่าที่ควรเป็น มากกว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคไดโนเสาร์ ถึง 35 เท่า และถ้าหากไม่มีมนุษย์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 18,000 ปี ถึงจะสูญพันธุ์
นอกจากนี้ 1 ใน 3 ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มนุษย์รู้จักเป็นอย่างดีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีช้าง 10 ล้านตัว แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 500,000 ตัว โดยในหลายประเทศไม่เหลือช้างในพื้นที่ธรรมชาติอีกต่อไป
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์เท่านั้น และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่อาจสูญพันธุ์เร็วกว่าเดิม จากหลากหลายสาเหตุ
- สูญพันธุ์เพราะผสมพันธุ์
เกือบทุกประเทศโลกกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” รวมถึงในประเทศไทยมีอัตราการเกิดของมนุษย์ลดลงมาเรื่อยๆ จนต่ำกว่าอัตราการตายไปแล้ว จากข้อมูลการจดทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนตายเรื่อยมา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตจำนวนประชากรโลกจะลดลงไปเรื่อยๆ และอาจถึงคราวสูญพันธุ์ได้ รัฐบาลหลายประเทศจึงพยายามออกนโยบายต่างๆ มาจูงใจเพื่อให้คนมีโลกมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มแรงงานในตลาด และดำรงเผ่าพันธุ์สืบไป
แม้ว่ามนุษย์จะยังคงมีเพศสัมพันธ์กันอยู่ แต่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสืบพันธุ์ แต่ถือเป็นกิจกรรม และการแสดงความรักมากกว่า อีกทั้งคู่รักหลายคู่ที่แต่งงานแล้วก็ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกเนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการมีลูก ทั้ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาโลกร้อน ปัญหาทางการเมือง และสงคราม ตลอดจนความสามารถในการเลี้ยงดู จนเกิดเป็นแนวคิดว่า “ถ้ามีลูกแล้วเลี้ยงได้ไม่ดี ก็ไม่มีดีกว่า” และหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูกแทน
แทนไท ประเสริฐกุล ผู้จัดรายการพอดแคสต์ Witcast ตั้งสมมติฐานในงานเสวนา Redesigning Human Extinction ฮาวทูสูญพันธุ์(ฉบับปรับปรุงใหม่) ถึงการสูญพันธุ์ของมนุษย์ไว้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล สมจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น AI ทั้งหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์ จนข่าวมากมายที่แสดงให้เห็นว่าคนมีความรักกับ AI ซึ่งตรงกับหนังไซไฟหลายๆ เรื่องที่มีพล็อตทำนองนี้ จึงเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าในอนาคตมนุษย์สามารถเติมเต็มความรักผ่านสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง ออกแบบความรักได้ดั่งใจนึก ไม่ต้องใช้ชีวิตคู่กับมนุษย์ด้วยกันที่มีอารมณ์ ความรัก และความหึงหวง
นอกจากนี้ แทนไทยัง กล่าวว่า ในวันหนึ่งมนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปได้จากการผสมพันธุ์กับเผ่าพันธุ์ทรงภูมิจากโลกอื่น ดังเช่น Neanderthals มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ดูผิวเผินคล้ายโฮโมเซเปียนส์ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง สายวิวัฒนาการของ Neanderthals ได้ขาดลง จากการข้ามมาผสมพันธุ์กัน และหลอมรวมเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน
รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างจากโฮโมเซเปียนส์หลายแสนปีก่อนมาก เพราะมีพฤติกรรม และรูปร่างที่แตกต่างกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามนุษย์ได้สะสมการเปลี่ยนแปลงทีละนิด จนเมื่อเวลาผ่านไปมากถึงจุดหนึ่ง ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ จะถือว่ามนุษย์โบราณสูญพันธุ์ไปแล้วใช่หรือไม่ ?
- สูญพันธุ์เพราะ AI
พล็อตหนังไซไฟที่แสนจะคลีเช่ อย่างหุ่นยนต์จักรกลพยายามจะยึดครองโลก และกำจัดมนุษย์ อาจจะไม่ได้แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายสิบคน รวมถึงหัวหน้าทีมขององค์กรใหญ่ๆ อย่าง แซม อัลต์แมน หัวหน้าผู้บริหารของ OpenAI ผู้ผลิตโปรแกรม ChatGPT, เดมิส แฮสซาบิส หัวหน้าผู้บริหารของ Google DeepMind บริการด้านปัญญาประดิษฐ์ และ ดาริโอ อาโมได จาก Anthropic ต่างลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์
ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จาก AI ควรถูกยกให้มีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น โรคระบาด และสงครามนิวเคลียร์” เพราะ AI สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น เครื่องมือในการค้นพบยาสามารถใช้สร้างอาวุธเคมีได้ รวมถึงข้อมูลที่ผิดที่สร้างขึ้นโดย AI อาจทำให้สังคมสั่นคลอน และทำลายการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่มบุคคล”
นอกจากนี้ พลังของ AI อาจกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม รวมถึงใช้ “สอดแนม และเซนเซอร์ข้อมูลทางไซเบอร์ของประชาชนโดยรัฐ” ที่สำคัญอาจทำให้มนุษย์อ่อนแอลง จนต้องพึ่งพา AI คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แอนิเมชัน “Wall-E" และมนุษย์ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ขณะที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยี AI รุ่นต่อไป โดยส่วนหนึ่งของจดหมายระบุว่า
“หากเรายังคงพัฒนาความคิดจิตใจของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจมีจำนวนมากกว่า ฉลาดกว่า มีทันสมัยกว่า สุดท้ายแล้วพวกมันจะแทนที่พวกเราในที่สุด”
พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีจาก MIT Media Lab กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะสร้าง “Digital Twin” หรือ ฝาแฝดดิจิทัล ของมนุษย์ขึ้นมา โดยเป็นตัวตายตัวแทนของร่างจริงเวลาที่เราเสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจย้ายดวงจิต และวิญญาณไปไว้บนระบบคลาวด์
พัทน์ ยกตัวอย่างไปถึงงานที่ MIT ที่สร้าง AI ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ขึ้นมาสอนเด็ก ซึ่งพบว่าทำให้นักเรียนมีความอยากเรียนรู้มากกว่าเรียนในคลาสปกติด้วยซ้ำ ดังนั้นในอนาคตแม้ว่าร่างกายจะดับสูญไป แต่ดวงจิตของเราจะยังคงอยู่ก็เป็นได้
ทั้งนี้พัทน์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นจินตนาการ แต่จินตนาการเหล่านี้ทำให้เกิดไอเดียต่างๆ พามนุษย์ไปต่อข้างหน้าได้โดยไม่สูญพันธุ์ และถ้าไม่มีการตั้งคำถามใหม่ๆ จิตวิญญาณของมนุษย์อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วยก็ได้
- สูญพันธุ์เพราะถูกลืม
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตอยู่บนความทรงจำมาตลอด ความทรงจำคอยบอกว่าเราคือใคร เราทำอะไร และรู้ว่าเรายังมีตัวตนอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ลบเองความทรงจำเองด้วยเสมอ เห็นใดจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีแต่เรื่องเล่าของผู้ชนะ บางครั้งเราก็เลือก “ลืม” บางอย่าง และหลายความทรงจำก็จางหายไปตามเวลา เสมือนกับมนุษย์สูญพันธุ์เป็นหย่อมๆ เป็นตลอดเวลา
วีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยายเจ้าของรางวัลซีไรต์ กล่าวว่า แม้ในอนาคตมนุษย์จะสูญพันธุ์ไป แต่การสูญพันธุ์ของเราจะถูกบันทึกเอาไว้ ตามประสามนุษย์ที่มักจะจดบันทึกข้อมูลไว้ แต่จะถูกมองย้อนกลับมาในฐานะบุคคลที่สาม เหมือนกับที่เรามองไดโนเสาร์ ทั้งที่ความจริงไดโนเสาร์อาจจะมีลักษณะไม่เหมือนกับที่เราคิดก็ได้ ซึ่งมันทำให้เราสูญเสียตัวตนไปแล้วครึ่งหนึ่ง
สุดท้ายแล้ว 99.99% ของเราจะสูญหายไปตามกาลเวลา
ในอีกแง่หนึ่ง มนุษย์สูญพันธุ์เพราะเสียความทรงจำอาจหมายถึง การที่เราไม่เรียนรู้บทเรียนอะไรเลย ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยมนุษย์เจอภัยพิบัติมาแล้ว แต่ก็ลืม ไม่ได้คิดว่าเดี๋ยวก็ย้อนกลับมาอีก หลายครั้งที่เราใช้แนวคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จนลืมไปว่าเรากำลังฝืนธรรมชาติอยู่
“เราต้องย้ำเตือนความจำเสมอว่าตอนนี้โลกร้อน เราทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาแล้ว แต่เรายังคุมให้ไม่เกิน 2 องศาได้อยู่ อย่าคิดว่านิดเดียว มันสามารถสร้างภัยพิบัติได้มหาศาล” ดร.สุพจน์ กล่าว
ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดง และนักอนุรักษ์ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเกือบ 10 ปีกล่าวว่า แม้เราจะเป็นคนตัวเล็กๆ เราก็สามารถช่วยโลกให้ดีขึ้นได้เลย ดีกว่าที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าเราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมกันบ่อยๆ สร้างความตระหนักรู้ได้ คนในสังคมก็จะเห็นว่าเป็นปัญหา และร่วมกันแก้ปัญหาในที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนว่า “มนุษย์” จะต้องสูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของตัวเองทั้งสิ้น โดยไม่ต้องรอให้ธรรมชาติจัดการ
ที่มา: Elpais, Nature, The Prachakorn, Thai Rath
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์