‘มนุษย์’ เตรียมนับถอยหลัง ‘สูญพันธุ์’ ในอีก 250 ล้านปี
นักวิทยาศาสตร์เผยเวลาของ “มนุษย์” อีกเพียง 250 ล้านปีเท่านั้น หลังแบบจำลองใหม่เผยให้เห็นว่าในอนาคตแผ่นดินทั้งหมดจะชนกันเป็นทวีปขนาดใหญ่ทวีปเดียว ที่มีอากาศร้อน และแห้งแล้งจนทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม “สูญพันธุ์”
ผ่านมาแล้ว 250 ล้านปี นับจากที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวิวัฒนาการจากสัตว์เลื้อยคลาน จนกลายเป็นกลุ่มสัตว์ที่ยึดครองโลกในปัจจุบัน แทนที่ “ไดโนเสาร์” ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อราว 66 ล้านปีก่อน ซึ่งการศึกษาครั้งใหม่พบว่ามนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจมีเวลาเหลืออีกเพียง 250 ล้านปีเท่านั้น เพราะโลกอาจจะร้อนเกินไปที่จะอยู่อาศัย
การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายเชื้อชาติที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience เมื่อเดือนก.ย.66 ที่ผ่านมา ด้วยการจำลองลักษณะของโลกในอนาคตด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของทวีป และสภาพอากาศ พบว่า ในอีก 250 ล้านปีข้างหน้า ทวีปต่างๆ จะเคลื่อนตัวเข้าหากันกลายเป็นทวีปใหญ่ทวีปเดียว ตั้งอยู่บนพื้นที่เขตร้อนในแนวเส้นศูนย์สูตร เรียกว่า “แพนเจียอัลติมา” (Pangea Ultima)
นักวิจัย กล่าวว่า แบบจำลองใหม่แสดงให้เห็นว่า แพนเจียอัลติมาเกิดจากการเคลื่อนที่ชนกันของทวีปต่างๆ ส่งผลให้มีภูเขาไฟเกิดขึ้นมากมาย ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมากต่อเนื่องกันหลายพันปี เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ จนทำให้ลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ประกอบกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพลังงานที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้น 1% ในทุกๆ 110 ล้านปี
นำไปสู่จุดพลิกผันของสภาพภูมิอากาศ มีแนวโน้มว่าสภาพอากาศในมหาทวีปนี้ “ไม่เอื้ออำนวยต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” เป็นเหตุให้เกิด “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนโลก รวมไปถึงมนุษย์ด้วย
หาก “แพนเจียอัลติมา” เป็นเหมือนทวีปใหญ่ก่อนหน้านี้ ก็จะกลายเป็นภูเขาไฟที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แบบจำลองที่พบ เนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของหินหลอมเหลวที่อยู่ลึกลงไปในโลก ภูเขาไฟจึงอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลออกมาเป็นเวลาหลายพันปี ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดของก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น
แบบจำลองของการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งแพนเจียอัลติมาในเวลาเพียงแค่ปีเดียว โดย อเล็กซ์ ฟรานสเวิร์ธ นักอุตุนิยมวิทยา และนักสร้างแบบจำลองภูมิอากาศบรรพกาล จากมหาวิทยาลัยบริสตอล หนึ่งในผู้ทำวิจัยในครั้งนี้ทวีตข้อความผ่านบัญชีส่วนตัวว่า
“การเกิดมหาทวีปแพนเจียอัลติมาในอีก 250 ล้านปี จะส่งผลให้เกิดอากาศที่ร้อนจัด อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ”
ฟรานสเวิร์ธ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ยิ่งใหญ่จากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน (K/Pg) สามารถอาศัยอยู่ในสภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมได้หลากหลาย”
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หรือ Mass Extinction ในยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 5 และเป็นครั้งล่าสุดบนโลกใบนี้ เกิดขึ้นจากการที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นกทั้งหมดสูญพันธุ์ เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่โดยปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 170-225 ล้านปีก่อน ก่อนที่บรรพบุรุษของมนุษย์จะวิวัฒนาการตามมาภายหลัง
แม้จะรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ แต่ด้วยข้อจำกัดทางสรีรวิทยาทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถทนต่ออุณหภูมิได้เพียงบางช่วงเท่านั้น หากอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไปก็จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ซึ่งฟรานสเวิร์ธ กล่าวว่า ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาทวีปนี้ตั้งอยู่บริเวณเขตร้อน ยิ่งทำให้พื้นที่ราบกลางทวีปจะห่างไกลจากแหล่งน้ำอย่างมาก ทำให้มีอากาศร้อน และแห้งแล้งมาก ไม่มีฝนตก
อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่บนแพนเจียอัลติมาซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วงที่ร้อนที่สุดของปีจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่คุกคามการอยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขณะที่บริเวณชายฝั่งจะมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และจะมีฝนตกอยู่ตามแนวภูเขา และทะเล
ทั้งนี้ฟรานสเวิร์ธ ยอมรับว่าอาจมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่อยู่ทางตอนเหนือ และใต้ของทวีปอยู่รอดได้ เพราะไม่ได้อยู่ในเขตร้อน ติดแหล่งน้ำ และมีฝนตก แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะไม่ได้ครองโลกเหมือนในปัจจุบัน ถูกแทนที่ด้วยสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็นที่สามารถทนต่อความร้อนได้
นักวิจัยที่ทำงานในการศึกษานี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอาจสูญพันธุ์ได้บนแพนเจียอัลติมา หากอุณหภูมิสูงขึ้นจนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ออกซิเจนเหลือน้อยมากในชั้นบรรยากาศ และเสนอให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าพืชจะปรับตัวในสภาพแวดล้อมในอนาคตได้อย่างไร
นอกจากนี้ทีมวิจัยของฟรานสเวิร์ธ ยังทำการศึกษาดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยะเพื่อค้นหาดวงดาวใหม่สำหรับการอยู่อาศัยในอนาคต โดยทำการศึกษาชั้นเปลือกนอกของดาวเคราะห์ และดวงจันทร์ เช่น ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ว่าจะมีลักษณะอย่างไรในอีก 250 ล้านปีข้างหน้า ทั้งในแง่ความสามารถในการอยู่อาศัย และความคล้ายคลึงกับโลก
ขณะที่ เอริก วูล์ฟ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งใหม่นี้ กล่าวว่า ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ตรวจดูดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และการวิจัยนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ยิ่งขึ้น ผ่านการสังเกตลักษณะแผ่นดินของดวงดาว เพื่ออนุมานว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดที่อาจดำรงอยู่ได้ที่นั่น
โวล์ฟกัง คีสส์ลิง นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแอร์ลังเงิน-นูเรมเบิร์ก (Erlangen-Nuremberg) ในเยอรมนี ผู้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานวิจัยนี้ ระบุว่า แบบจำลองนี้ไม่ได้คำนึงถึงจำนวนความร้อนใต้พิภพที่ค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะทำให้ภูเขาไฟปะทุน้อยลง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศน้อยลง ซึ่งจะทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าแบบจำลองถึง 200 ล้านปี
ที่มา: CBS News, National Geographic, The New York Times
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์