มาตรฐาน 'น้ำมันยูโร 5' ลด PM2.5 สร้างสุขให้คนไทย

มาตรฐาน 'น้ำมันยูโร 5' ลด PM2.5 สร้างสุขให้คนไทย

ไขข้อข้องใจมาตรฐาน "น้ำมันยูโร 5" ช่วยลดฝุ่น PM2.5 เสริมสร้างความสุขให้แก่คนไทย กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ทุ่มกว่า 5 หมื่นล้าน ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำมัน

Key points

  • ยูโร5 ถือเป็นข้อกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาปไม่ให้เกินค่าที่กำหนด
  • มาตรฐานยูโรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรฐานการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ 
  • กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่มาตรฐานยูโร 5 กว่า 50,000 ล้านบาท 

มาตรฐานยูโร (Euro) หรือ Euro emissions standards คือ มาตรฐานกำหนดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะในประเทศแถบทวีปยุโรป ซึ่งถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 2513 (ค.ศ. 1970) เพื่อกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการสันดาป ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด 

ซึ่งนอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานของเครื่องยนต์แล้ว มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกกำหนดควบคู่กับมาตรฐานเครื่องยนต์

วันที่ 1 ม.ค. 2567 ประเทศไทยเริ่มมีการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันยูโร 5 ในการควบคุมการปลดปล่อยมลพิษจากรถยนต์โดยอ้างอิงมาตรฐานยูโร (Euro) เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน 

 

สำหรับมาตรฐานยูโรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 

1. มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องคิดค้นสูตรน้ำมันให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโรนั้น ๆ 

2. มาตรฐานการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ ที่ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด

อย่าไรก็ตาม มาตรฐานยูโรในน้ำมันเชื้อเพลิง มีข้อกำหนดหลักในการควบคุมปริมาณ กำมะถัน สารอะโรเมติกส์ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน เพื่อลดมลพิษในเนื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อนถูกเผาไหม้ในเครื่องยนต์และปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยมีข้อมูลอ้างอิงในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา หรือสิงคโปร์ ว่ามีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นหลังจากการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลภาวะอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 ได้ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 ควบคู่ไปกับการควบคุมการปล่อยไอเสียของรถยนต์เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) อนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และมีการประกาศยกระดับมาตรฐานน้ำมันยูโรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 (ตัวเลขยูโรยิ่งมาก ยิ่งปล่อยมลพิษน้อยลง) 

ซึ่งมีการบังคับใช้ในประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียอย่าง จีน สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาของ PM2.5 ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ  อาทิ ไฟป่า การเผาป่าเพื่อทำการเกษตร การก่อสร้างที่มีการขุดเจาะ การผลิตไฟฟ้าและการทำอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ การคมนาคมจากควันท่อไอเสียและการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่ จุดธูป เผากระดาษ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยมีการยกระดับมาตรฐานน้ำมันมาโดยตลอด โดยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และล่าสุดคือมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ที่มีการบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2555 หรือ 10 กว่าปีที่แล้ว ดังนี้ 

ตารางที่ 1: การบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 - ยูโร 5 ในประเทศไทย

มาตรฐาน \'น้ำมันยูโร 5\' ลด PM2.5 สร้างสุขให้คนไทย
  
ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐมุ่งมั่น แก้ไข และลดผลกระทบของปัญหา PM2.5 นับตั้งแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเน้นการนำไปสู่ระดับปฏิบัติและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ และหนึ่งในแนวทางการจัดการ คือ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 กำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง รวมถึงแหล่งกำเนิดจากไอเสียของยานพาหนะ 

โดยกำหนดมาตรการยกระดับมาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่จากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 และยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดปริมาณกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (10 ppm) ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และน้ำมันกลุ่มดีเซลจะต้องยกระดับมาตรฐานคุณภาพเพิ่มเติม ลดปริมาณสารโพลีไซคลิก อะโรมาติกส์ ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) จากไม่ให้เกิน 11% เป็นไม่ให้เกิน 8% ดังแสดงในตารางที่ 2 และ 3 ตามลำดับ 

ตารางที่ 2: มาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก็สโซฮอล์ในประเทศไทย จากระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5

มาตรฐาน \'น้ำมันยูโร 5\' ลด PM2.5 สร้างสุขให้คนไทย

ตารางที่ 3: มาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มดีเซลในประเทศไทย จากระดับยูโร 4 เป็นยูโร 5

มาตรฐาน \'น้ำมันยูโร 5\' ลด PM2.5 สร้างสุขให้คนไทย

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ) ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 50,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อให้ทันการณ์กับนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

ความผันผวนด้านราคาน้ำมัน และการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของการใช้พลังงาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้การผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 จะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 เดิมการปรับราคาจำหน่ายจึงจำเป็นต้องสะท้อนมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก 

ส่วนผู้บริโภค ที่ใช้รถยนต์ในปัจจุบัน น้ำมันยูโร 5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่โดยไม่เกิดปัญหา แต่ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในมาตรฐานยูโร 5 อาจจะมีราคาที่สูงขึ้น เพราะแบรนด์รถต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง และมีต้นทุนในการพัฒนาการผลิตรถยนต์ให้ได้ตามมาตรฐานนั่นเอง

รายงานข่าว ระบุว่า กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ได้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงหน่วยผลิตจนพร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงกว่าการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 ในปัจจุบัน จากการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบการกลั่นและการปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น 

ดังนั้น การปรับราคาจำหน่ายจึงควรสะท้อนมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 เพื่อช่วยลดปริมาณ PM2.5 ในอากาศและสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมต้องแลกมาด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยกันแก้ปัญหา PM2.5 ในอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อมรดกคุณภาพอากาศให้กับลูกหลานต่อไป