เศรษฐกิจ BCG จุดสมดุล เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม
เมื่อโลกเปลี่ยน...เราต้องปรับ หนึ่งในเมกะเทรนด์โลกในช่วงปีที่ผ่านมา คือการที่สังคมโลกให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเศรษฐกิจ BCG เป็นหนึ่งคำตอบของโจทย์นี้
ไทยได้กำหนดให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2565
โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึงด้วยการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ภาคการเกษตร ถือเป็นสาขาการผลิตที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ถึง 106 ล้านไร่ คิดเป็น 71% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด และมีคนไทยอยู่ในภาคการเกษตรนี้หลายสิบล้านคน
จึงจำเป็นที่ไทยต้องปรับโครงสร้างไปสู่เกษตรสมัยใหม่ เพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสากล
เศรษฐกิจ BCG นี้ มีความต่างไปจากการดำเนินนโยบายพืชเศรษฐกิจในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ที่ส่วนใหญ่ภาครัฐเน้นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านรายได้แบบไม่มีเงื่อนไข เช่น การเข้าแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร
ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงกับภาคเกษตรของไทย และไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรได้ในระยะยาว
ขณะเดียวกันยังส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ทั้งทำให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งการเพาะปลูกในรูปแบบพืชเชิงเดี่ยวมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจัดแมลงอย่างแพร่หลาย
ยังไม่นับรวมความผันผวนของราคาพืชผลตามสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และอุปทานในตลาดโลกที่เกษตรกรต้องเผชิญอีกด้วย
แล้วมีหนทางอะไรบ้างที่จะไปสู่นโยบายเกษตรเพื่อรองรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG?
ลด (ยกเลิก) การช่วยเหลือเป็นตัวเงิน ทั้งในรูปแบบของรายได้และราคาผลผลิตทางการเกษตรอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะนโยบายเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบและขัดแย้งกับแนวนโยบายเศรษฐกิจ BCG
นอกจากนี้ยังสามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ในส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาและวิจัย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อปรับเข้าสู่กรอบของโมเดลเศรษฐกิจ BCG
แยกมาตรการลดความยากจนออกจากการพัฒนาเกษตรกรรม และควรกำหนดมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อลดความยากจนโดยเฉพาะ (Poverty Target) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ยากจนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา ทักษะการผลิต ทักษะด้านการตลาด สาธารณสุข และที่ดินทำกิน
พัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนใน 3 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรมทางการเกษตร ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มูลค่าเพิ่มสูง
การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น Smart Farmer การส่งเสริมทำเกษตรแปลงใหญ่ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยบริหารจัดการของเสียและขยะจากฟาร์มอย่างเป็นระบบก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ การใช้ซ้ำ การส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งการส่งเสริมการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
เช่น บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งนำของเหลือทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ
อุตสาหกรรมการแปรรูปวัสดุทางการเกษตร โดยนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มุ่งเน้นการจัดการตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรับซื้อผลผลิตไปแปรรูป
เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการพัฒนาให้ทำการเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมการผลิตและบริโภคสินค้าเกษตรที่รักษาระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยบริหารจัดการการใช้สารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
เช่น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รวมทั้งการส่งเสริมให้หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร พัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และออกนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญอย่างการส่งเสริมกลไกทางการเงินและการคลังแบบมีเงื่อนไข เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG
เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือเงินให้เปล่าสำหรับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หรือการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน หรือนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การทำเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
หากไทยสามารถเดินหน้าเศรษฐกิจ BCG ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลทั่วถึงและยั่งยืน.