“อุตฯ ชีวภาพ” คืออะไร ในเศรษฐกิจเกิดใหม่จากรากฐานการเกษตรไทย
BCG โมเดลคือ เครื่องมือส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน BCG ประกอบด้วย B ย่อมาจาก Bio Economy คือ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า C ย่อมาจาก Circular Economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G ย่อมาจาก Green Economy
รัฐบาลไทยยังคงพยายามมุ่งสู่เป้าหมาย BCG อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน และผลการทบทวนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี พ.ศ.2561 - 2570 ระยะครึ่งแผน
สาระสำคัญของรายงานดังกล่าว ชี้ว่า จากมาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ที่กำหนดเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ อย่างน้อย 190,000 ล้านบาท นั้นในปัจจุบันพบว่า มีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่มีศักยภาพ (Bio Hubs) รวมทั้งสิ้น 28,440 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือ 153,340 ล้านบาท จะได้จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีการอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วเมื่อปี 2565 รวม 211 โครงการ มูลค่า 62,572 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกิจการที่พัฒนาเทคโนโลยี ชีวภาพ
นอกจากนี้ ยังมีแผนขับเคลื่อนผ่าน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และอุตสาหกรรมชีวภาพ
ทั้งนี้ ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงการต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhonsawan BioComplex: NBC) มูลค่าการลงทุน 41,000 ล้านบาท อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัส เทรียล จำกัด (GKBI) ขณะนี้ระยะที่ 1 มูลค่า 7,500 ล้านบาท ได้ก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงงาน เอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และไอน้ำความดันสูง กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว
ส่วนโครงการระยะที่ 2 มูลค่า 21,430 ล้านบาท บริษัท Nature works LLC ได้ลงทุนโครงการโรงงานพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก
โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy มูลค่าการลงทุน 29,705 ล้านบาท จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการโดยบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด อยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุนเพื่อต่อยอดการผลิตเอทานอล เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Bio jet Fuels) ในจังหวัดตาก ชัยภูมิ กาฬสินธุ์
โครงการไบโอฮับเอเชีย (Bio Hub Asia) มูลค่าการลงทุน 57,600 ล้านบาท จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดย บริษัท ไบโอแมทลิ้งค์ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะรองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 54 โรงงาน ปี 2565 มีความก้าวหน้าการลงทุนในระยะที่ 1 มูลค่า 10,000 ล้านบาท
โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโดยบริษัท อุบลราชธานี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ และระบบสาธารณูปโภคสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ มีแผนจะก่อสร้างในปี 2567
โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ (Lopburi Bio Complex) มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ดำเนินการโดยบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำ EIA และทำประชาพิจารณ์ ครั้งที่ 2 แล้ว
โครงการลงทุนพลาสติกชีวภาพ (Polylactic Acid: PLA) มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตแลคไทด์ (Lactide) กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว
โครงการผลิตกรีนดีเซล (Green Diesel) และสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) มูลค่าการลงทุน 4,600 ล้านบาท ที่จังหวัดระยอง ดำเนินการโดยบริษัท อีเอ ไบโอ อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อผลิตกรีนดีเซล (Bio Hydrogenated Diesel: BHD)
ประเทศไทยมีพื้นฐานทางชีวภาพที่สมบูรณ์จากรากฐานด้านการเกษตร จึงทำให้อุตสาหกรรมชีวภาพกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจึงเป็นการกระจายรายได้ และความเจริญไปได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์