กระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้จะหายไป สัญญาณเตือนวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ผลวิจัยเผย “สายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก” หรือ AMOC มีแนวโน้มหายไปจากโลกนี้ หลังน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลง ฤดูกาลผิดไปจากเดิม ซีกโลกเหนือหนาวกว่าเดิม ส่วนซีกโลกใต้ร้อนขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เตือน “หายนะทางสภาพภูมิอากาศและมนุษยชาติ” กำลังจะมาเยือนซีกโลกเหนืออาจกลายเป็นยุคน้ำแข็งแบบในภาพยนตร์เรื่อง “The Day After Tomorrow” หากการไหลเวียนของสายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกหายไปจากโลกนี้
นักวิจัยได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ และข้อมูลในอดีตเพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้การเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับการเปลี่ยนแปลงของ “สายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก” หรือ AMOC (Atlantic Meridional Overturning Circulation) ถือเป็นกระแสน้ำสำคัญในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการควบคุมสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นส่วนหนึ่งของ “กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม”
- กระแสน้ำอ่อนที่สุดในรอบพันปี
งานวิจัยพบว่า สายธารลำเลียงน้ำกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน และไม่ได้เกิดขึ้นมานานกว่า 10,000 ปีแล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เนื่องจาก AMOC เปรียบเสมือนกับสายพานลำเลียงขนาดใหญ่ที่พัดพาความร้อน คาร์บอน และสารอาหารจากเขตร้อน ผ่านยุโรป และไปยังวงกลมอาร์กติก พื้นที่ห่างไกลบริเวณขั้วโลกเหนือ
เมื่อน้ำไหลขึ้นไปทางเหนือ จะทำให้น้ำเย็นลง มวลน้ำก็จะหนักขึ้น พอถึงเกาะกรีนแลนด์ เริ่มจม และไหลไปทางทิศใต้ ซึ่งจะดึงน้ำจากบริเวณอื่นในมหาสมุทรแอตแลนติก และวงจรจะเกิดขึ้นซ้ำเหมือนสายพานลำเลียง
อีกทั้ง AMOC มีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีกโลกเหนือ และช่วยปรับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ให้เบาบางลง
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เคยเตือนเกี่ยวกับเสถียรภาพของการไหลเวียนกระแสน้ำมาหลายทศวรรษแล้ว มีการค้นพบว่าสายธารลำเลียงน้ำอ่อนกำลังลง 15% ตั้งแต่ปี 1950 และตอนนี้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 1,000 กว่าปี แต่งานวิจัยในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในเวลาไม่ถึง 100 ปีเท่านั้น
“นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับระบบภูมิอากาศ และมนุษยชาติ ตอนแรกใครๆ ก็เข้าใจว่าการหยุดชะงักของสายธารลำเลียงน้ำเป็นแค่ทฤษฎี จะไม่ส่งผลอะไร แต่ความจริงแล้วมันทำให้เกิดผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” เรเน ฟาน เวสเทน ผู้เขียนรายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์ ในเนเธอร์แลนด์ กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ซับซ้อน โดยจำลองการเพิ่มขึ้นของน้ำจืดที่มาจากน้ำแข็งละลาย น้ำฝน และการไหลบ่าของแม่น้ำ ในกระบวนการไหลเวียนของ AMOC ซึ่งจะทำให้ความเค็มของมหาสมุทรเจือจางลง และกระแสน้ำอ่อนลง
เมื่อเพิ่มน้ำจืดขึ้นในแบบจำลอง สายธารลำเลียงน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกจะค่อยๆ ลดลงอย่างกะทันหัน และไม่สามารถพัดพาความร้อนไปยังทางเหนือได้ดังเดิม
- อุณหภูมิเปลี่ยนทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของกระแสน้ำเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มหาสมุทรอุ่นขึ้น ส่งผลให้ธารน้ำแข็ง และแผ่นน้ำแข็งอาร์กติก ละลายรวดเร็วกว่าที่คาด เกิดน้ำจืดจำนวนมากไหลลงสู่ทะเล กระทบต่อสมดุลของความร้อน และความเค็มที่กำหนดความแรงของกระแสน้ำ และขัดขวางการจมของน้ำทะเลที่เค็มกว่า และอุ่นกว่าจากทางใต้
ในงานวิจัยได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของ AMOC จะทำให้ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกจะเพิ่มขึ้น 1 เมตร และน้ำจะเข้าท่วมเมืองชายฝั่งหลายแห่งในบางภูมิภาค
อุณหภูมิทั่วโลกจะผันผวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ซีกโลกใต้จะร้อนขึ้น ยุโรปจะเย็นลงถึง 30 องศาเซลเซียส และมีฝนตกน้อยลง เพราะโลกจะสูญเสียการพัดพาความร้อนจากซีกโลกใต้สู่ซีกโลกเหนือประมาณ 75%
ส่วนฤดูกาลในบริเวณป่าอะเมซอนจะสลับกลับขั้วไป หน้าแล้งมาแทนหน้าฝน หน้าฝนไปเป็นหน้าแล้ง ทำให้ระบบนิเวศหยุดชะงักอย่างรุนแรง ผู้คนจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง และต่อเนื่องทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 100 ปี ซึ่งรวดเร็วเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะปรับตัวได้ แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะระบุเวลาได้อย่างแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วมนุษย์จะไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก
ที่มา: CNN, Independent, The Conversation, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์