‘สูญพันธุ์เงียบ’ ภัยคุกคาม ยีราฟ - เสือ - สิงโต ด้วยน้ำมือมนุษย์

‘สูญพันธุ์เงียบ’ ภัยคุกคาม ยีราฟ - เสือ - สิงโต ด้วยน้ำมือมนุษย์

“สูญพันธุ์เงียบ” (Silent Extinction) ปรากฏการณ์ที่จำนวนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งค่อยๆ ลดลงโดยที่คนทั่วไปไม่ทันได้สังเกตเห็นกำลังเกิดขึ้นกับ ยีราฟ สิงโต เสือชีตาห์ และตัวนิ่มที่มีจำนวนลดลงอย่างมาก จากการล่าของมนุษย์

Key Points:

  • “สูญพันธุ์เงียบ” (Silent Extinction) ปรากฏการณ์ที่จำนวนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งค่อยๆ ลดลงโดยที่คนทั่วไปไม่ทันได้สังเกตเห็น เนื่องจากพบเห็นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยทั่วไป และเข้าใจว่ามีอยู่จำนวนมาก 
  • ยีราฟ สิงโต และเสือชีตาห์ มีจำนวนลดลงเพราะพื้นที่ป่ามีน้อยลงจนขาดที่อยู่อาศัย รวมถึงรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์จนถูกล่า
  • ตัวนิ่มเป็นที่ต้องการของตลาดยาแผนโบราณ ถูกขบวนการค้าสัตว์ป่าจับขายอย่างหนัก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวนิ่มถูกจับมาขายมากกว่า 1 ล้านตัว

 

ยีราฟ สิงโต และเสือ สัตว์พื้นฐานที่อยู่คู่กับ “สวนสัตว์” ทุกที่ทั่วโลก ผู้คนเห็นกันจนชินตา และไม่ใช่สัตว์ที่ใครจะคิดว่าเป็นกลุ่ม “ใกล้สูญพันธุ์” แต่ความจริงแล้วสัตว์เหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังตกอยู่ในภาวะ “สูญพันธุ์เงียบ” (Silent Extinction) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากมนุษย์

 

  • จำนวนยีราฟลดลงอย่างเงียบ ๆ

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนยีราฟลดลงเกือบ 30% ปัจจุบันมียีราฟเพียงแค่ 111,000 ตัว ในทวีปแอฟริกา และพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 7 ประเทศ โดยสเตฟานี เฟนเนสซี ผู้อำนวยการมูลนิธิอนุรักษ์ยีราฟ กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ตกใจกับความจริงนี้ เพราะเข้าใจว่ายีราฟมีอยู่ทั่วไป และการลดลงของยีราฟยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น”

สาเหตุหลักของที่ทำให้ยีราฟลดลงมาจากการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย จากการรุกรานพื้นที่ป่า รวมไปถึงการลักลอบล่าสัตว์ และฆ่าสัตว์ป่า ตลอดจนโรคระบาดต่างๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “มนุษย์” เป็นตัวการหลักที่ทำให้ยีราฟ และสัตว์ป่าส่วนใหญ่ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

พื้นที่ป่าที่เป็นบ้านของยีราฟกำลังลงลดเรื่อยๆ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN กำหนดให้ยีราฟเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) มาตั้งแต่ปี 2559 แต่ยีราฟกลับไม่ได้รับความสนใจในการอนุรักษ์เท่ากับช้าง แรด หรือหมีขั้วโลก ซึ่งปรากฏการณ์ที่จำนวนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งค่อยๆ ลดลงโดยที่คนทั่วไปไม่ทันได้สังเกตเรียกว่า “การสูญพันธุ์เงียบ” (Silent Extinction)

เฟนเนสซี ตั้งข้อสังเกตว่าที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เฉลียวใจว่ายีราฟกำลังจะหายไปจากโลกนี้ เพราะว่าผู้คนต่างสามารถพบยีราฟได้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ หรือแม้กระทั่งในสวนสัตว์

“ยีราฟไม่ได้ถูกล่าเพื่อเอาส่วนต่างๆ ของร่างกายไปใช้ประโยชน์ เหมือนกับช้างหรือแรด เราจึงไม่เห็นมาตรการการรับมือกับการลักลอบล่ายีราฟอย่างชัดเจน อีกทั้งการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของยีราฟค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเงียบๆ เราเลยไม่รู้ถึงปัญหา จนกระทั่งได้มาเปรียบเทียบจำนวนยีราฟในธรรมชาติรายปี ถึงได้รู้ว่ายีราฟก็กำลังอยู่ในวิกฤติเช่นเดียวกัน” เฟนเนสซี กล่าว

  • เสือชีตาห์ และสิงโตก็หนีไม่พ้นมนุษย์

เสือชีตาห์สัตว์ที่ขึ้นชื่อวิ่งเร็วที่สุดในโลก แต่ดูเหมือนว่ายังเร็วไม่พอต่อการคุกคามของมนุษย์ มีจำนวนลดลงอย่างมาก เหลือเสือชีตาห์วัยรุ่น และโตเต็มวัยเพียง 7,100 ตัวเท่านั้น ดร.ลอรี มาร์กเกอร์ กรรมการบริหารของกองทุนอนุรักษ์เสือชีตาห์อธิบายว่า เสือชีตาห์ส่วนใหญ่ถูกมนุษย์ฆ่าเนื่องจากพวกมันบุกรุกพื้นที่ทำกิน แต่ความจริงแล้วมนุษย์เป็นคนเริ่มบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นบ้านของพวกมันก่อน นอกจากนี้เสือชีตาห์ยังเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าอีกด้วย

เช่นเดียวกับสิงโตในแอฟริกา แม้จะยิ่งใหญ่ที่สุดในป่า แต่ก็ยังสู้ความโหดร้ายของมนุษย์ไม่ได้ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนสิงโตป่าทั่วแอฟริกาลดลงจาก 200,000 ตัวเหลือประมาณ 20,000 ตัว ปีเตอร์ ไนท์ ซีอีโอของ WildAid องค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เมื่อไม่มีพื้นที่ป่าให้อยู่อาศัยเหล่าสิงโตจึงต้องออกหาอาหารจนไปรุกล้ำพื้นที่ของมนุษย์ และชีวิตของสิงโตเหล่านั้นก็มักจะจบลงด้วยความตาย นอกจากนี้มนุษย์ยังล่าสิงโตเพื่อนำอวัยวะต่างๆ เช่น กรงเล็บ ฟัน และหนังมาทำเป็นเครื่องประดับหรือของตกแต่งบ้าน ส่วนกระดูก และอุ้งเท้ายังถูกนำไปใช้ปรุงยาตามความเชื่อของประเทศในเอเชีย

 

  • ตัวนิ่มอาจสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี

การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์ป่าลดลง เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ของ “ตัวนิ่ม” หรือ “ลิ่น” ตัวกินมดขนาดเล็กกลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกจับมาขายมากที่สุดในโลกอย่างเงียบๆ เนื่องจากมีความเชื่อว่าเกล็ด และตัวอ่อนในครรภ์สามารถใช้เป็นยารักษาโรคตามตำรับยาโบราณของทั้งในเอเชีย และแอฟริกา แถมเนื้อของตัวนิ่มยังถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศอีกด้วย โดยคาดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีตัวนิ่มถูกจับมาขายมากกว่า 1 ล้านตัว

“เราไม่รู้ว่าในตอนนี้มีตัวนิ่มเหลืออยู่ในป่ากี่ตัว แต่ด้วยอัตราตัวเลขการล่านี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก มีความเป็นไปได้มากที่ตัวลิ่นจะสูญพันธุ์ภายในสองทศวรรษข้างหน้า” ไนท์ กล่าวสรุป

เบรนต์ สเตอร์ตัน ช่างภาพที่ถ่ายภาพตัวนิ่มเพื่อให้เห็นถึงชะตากรรมอันโหดร้ายของพวกมันกล่าวว่าสาเหตุที่ปัญหาการล่าตัวนิ่มไม่เคยได้รับการสนใจเลยเป็นเพราะว่า คนทั่วไปไม่รู้มาก่อนมามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นผลกระทบเท่ากับสัตว์ใหญ่อย่างแรด ทั้งๆ ในแต่ละปีจีนใช้เกล็ดตัวนิ่มทำยาประมาณ 28 ตัน

นอกจากยีราฟ เสือชีตาห์ สิงโต และตัวนิ่ม ยังมีสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์เงียบ รายงานของ IUCN เมื่อปี 2565 ระบุว่า สัตว์และพืชประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์กำลังใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งภาวะใกล้สูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์เพิ่งเกิดขึ้นภายในไม่กี่ทศวรรษนี้เอง และเชื่อว่าในแต่ละปีมีชีวิตมากกว่า 10,000 สายพันธุ์ ที่หายไปจากโลก โดยที่บางสายพันธุ์เรายังไม่ทันได้รู้จักเลยด้วยซ้ำ

 

  • มนุษย์สิ่งมีชีวิตที่อันตรายที่สุดในโลก

ปี 2560 โลกได้สูญเสียซูดาน “แรดขาวเหนือ” เพศผู้ตัวสุดท้ายของโลกไปอย่างไม่มีวันกลับ เนื่องจากมีอายุมากแล้ว แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามในการผสมพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์นี้ไว้หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้ในปัจจุบันมีแรดขาวเหนือตัวเมียเพียงแค่ 2 ตัวบนโลกนี้เท่านั้น ทั้งนี้นักวิจัยยังไม่ลดความพยายามที่จะรักษาสายพันธุ์นี้ โดยเมื่อเดือนม.ค.2024 นักวิจัยในเยอรมนีได้ประกาศความสำเร็จผสมเทียมแรดขาวเหนือด้วยการฝังตัวอ่อนได้สำเร็จ

20 ปีก่อนหน้านี้ “ยีราฟแอฟริกาตะวันตก” ถูกล่าจนเหลือแค่ 49 ตัวบนโลก แต่สุดท้ายแล้วด้วยการร่วมมือของรัฐบาล และประชาชนในประเทศไนเจอร์ที่ตั้งใจจะปกป้องอนุรักษ์สายพันธุ์นี้ไว้ ทำให้ในปัจจุบันยีราฟแอฟริกาตะวันตกมีสถานะที่ดีขึ้นมากด้วยจำนวนมากกว่า 600 ตัว นั่นเป็นหนึ่งในเรื่องราวการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งศตวรรษ

อย่างไรก็ตาม ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครสังเกตเห็น ในปี 2566 องค์การบริหารปลา และสัตว์ป่าแห่งสหรัฐประกาศรายชื่อสัตว์ท้องถิ่นในสหรัฐสูญพันธุ์ทั้งสิ้น 21 ชนิด โดยเป็นนก 10 ชนิด หอยแมลงภู่ 8 ชนิด และปลาอีก 3 ชนิด

เจราร์โด้ เซบายอส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติของเม็กซิโก พบว่าในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีสัตว์ 73 สกุลสูญพันธุ์เร็วกว่าที่ควรเป็น มากกว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคไดโนเสาร์ ถึง 35 เท่า และถ้าหากไม่มีมนุษย์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 18,000 ปี ถึงจะสูญพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า “การสูญพันธุ์ใหญ่ ครั้งที่ 6” ที่จะเกิดขึ้นนับต่อจากนี้ อาจเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ที่ทำการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างปัญหาขยะ การรุกรานป่า ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เกิดจำเป็น จนทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ 

มนุษย์มักจะคิดว่าตัวเองสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ และเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งปวง แต่ความจริงแล้วมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ต่างจากสัตว์ และพืชอื่นๆ ในโลกนี้ ที่ยังต้องพึ่งพาเกื้อกูลซึ่งกัน และกันอยู่ ยิ่งเราทำลายธรรมชาติมากเท่าไร ก็เท่ากับเรากำลังทำลาย “บ้าน” ของเราเช่นกัน สุดท้ายแล้วเราเองก็จะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปอย่างเงียบๆ ก็เป็นได้

 

ที่มา: All AfricaAljazeeraMashableNew Big 5The Guardian

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์