SPACE-F หนุนฟู้ดเทค-สตาร์ตอัป เคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทย
เนสท์เล่ จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ร่วมขับเคลื่อนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารไทย โครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทคและสตาร์ตอัป
Key Point :
- ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร อันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการอาหารแปรรูปกว่า 9,000 ราย
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของโลกต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบอาหารแห่งอนาคตจำเป็นต้องผลิตอาหารประชากรโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนา
- SPACE-F นับเป็นหนึ่งในโครงการ บ่มเพาะฟู้ดเทค และ สตาร์ตอัปด้านอาหาร โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา มีสตาร์ตอัปทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมแล้วกว่า 60 ราย
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง ขณะเดียวกัน
จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัป (Global Startup Ecosystem Index) โดย StartupBlink พบว่า ระบบนิเวศสตาร์ตอัปของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากปัจจุบัน อยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน กรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด
โดยขยับขึ้นมา 25 อันดับ สู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ในอาเซียนในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านระบบนิเวศของสตาร์ตอัป ดังนั้น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ของไทย จึงจำเป็นต้องสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยก้าวไปสู่ระดับโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดความปัง ‘ผัดไทย’ Soft Power ระดับอินเตอร์ใครๆ ก็อยากกิน
- ‘มิชลินไกด์’ เผย 10 ‘ร้านใหม่’ เดือนตุลาคม 66 จากอาหารไทยถึงโอมากาเสะ
- เปิดผลศึกษารสนิยมต่างชาติ 12 ประเทศต่อวัฒนธรรมไทย ขับเคลื่อนSoft Power
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก ประกาศลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการ SPACE-F โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกโครงการแรกของไทย
โดยพิธีลงนามความร่วมมือจัดขึ้นด้วยแนวคิด Collaboration for the Future of Food สะท้อนถึงปณิธานของกลุ่มพันธมิตรในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่อนาคต และร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหาร พร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่พร้อมตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
ประเทศไทย ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ อว. คือ การยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง โครงการ SPACE-F จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ อว. ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหาร ให้สามารถเติบโตอย่างเข้มแข็ง
และนำนวัตกรรมมาพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมช่วยขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่การเป็น 'ชาตินวัตกรรม' และก้าวสู่อันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
ไทยอันดับ 52 ของโลก ด้านระบบนิเวศสตาร์ตอัป
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของโลกต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบอาหารแห่งอนาคตจำเป็นต้องผลิตอาหารประชากรโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยอาหารที่ได้จะต้องมีคุณภาพอาหารที่สูงขึ้นด้วย ทั้งในแง่ความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และรสชาติ
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยที่ยั่งยืนกว่า คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหารเป็นผู้พัฒนาและนำไปขยายผลในวงกว้าง ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นครัวของโลก ส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท มาจากความแข็งแกร่งด้านวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานทักษะสูง ตลอดจนจำนวนของผู้ผลิตอาหารแปรรูปกว่า 9,000 ราย อีกทั้ง เป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งมีประชากรกว่า 650 ล้านคน ซึ่งมูลค่าตลาดอาหารรวมกว่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์”
จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัป (Global Startup Ecosystem Index) โดย StartupBlink พบว่าระบบนิเวศสตาร์ตอัปของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบัน อยู่ในอันดับที่ 52 ของโลก อันดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าสู่อันดับที่ 74 ของโลก อันดับที่ 3 ในอาเซียน ในฐานะหนึ่งในเมืองชั้นนำด้านระบบนิเวศของสตาร์ตอัป
นอกจากความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจ การเข้าถึงแรงงานทักษะสูง เม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐ ไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีอาหาร กำลังการผลิต และการเข้าสู่ตลาด
SPACE-F บ่มเพาะสตาร์ตอัป พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร
โครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน
“รวมถึงบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ทำให้สตาร์ตอัปสามารถเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลได้และที่สำคัญในปีนี้ เนสท์เล่ ได้เข้าเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่จะนำความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโครงการ และเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ ทั้งในไทยและจากต่างประเทศทั่วโลก สามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของนวัตกรรมอาหารในอนาคต”
เตรียมระบบนิเวศ ดันสตาร์ตอัปเติบโต
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อนาคตของธุรกิจอาหารจะถูกพลิกโฉมโดยการนำนวัตกรรมและการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของผู้ประกอบการทั่วโลกมาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารให้ก้าวหน้า
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน รู้ดีว่าก่อนที่จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทาย ดังนั้น การริเริ่มโครงการ SPACE-F จึงเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจในการสนับสนุนสตาร์ตอัปในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตที่อุตสาหกรรมต้องเผชิญ เพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ตามแนวทางของไทยยูเนี่ยนที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เราจึงเตรียมระบบนิเวศและความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นทางลัดที่จะช่วยให้สตาร์ตอัปเติบโตและประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้น จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
“สำหรับความร่วมมือกับเนสท์เล่ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความร่วมมือทางธุรกิจ แต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทในการสนับสนุนสตาร์อัพ ด้านเทคโนโลยีอาหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่”
ส่งเสริมงานวิจัย พัฒนา ผู้ประกอบการด้านอาหาร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อการผลิต พื้นที่การผลิตลดลง กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ผลผลิตบางอย่างอาจจะทำไม่ได้ หากมองย้อนกลับ สิ่งที่เราต้องการ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม น้ำอาจไม่พอ พื้นที่ไม่เหมาะสม จะทำอย่างไรให้อาหารตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ ต่อไปจะมี Personalized Nutrition สิ่งเหล่านี้คืออนาคต
“ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจขององค์กรที่จะเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมหาวิทยาลัยมหิดลจึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิด วิธีการ สิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อยอดและนำออกสู่เชิงพาณิชย์
“มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมในด้านการศึกษาเชิงวิชาการ องค์ความรู้ สิ่งอำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์และเครื่องมือทางงานวิจัยต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ วิทยาศาสตร์การอาหาร โภชนาการ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงมีความพร้อมเพื่อรองรับและช่วยส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการด้านอาหาร/สตาร์ตอัปในโครงการ SPACE-F ที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตของเอเชีย”
เนสท์เล่ ร่วมขับเคลื่อน SPACE-F
ด้าน วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่มีเจตนารมณ์ในการเปิดพลังแห่งอาหาร เพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อทุกคนในวันนี้ และในอนาคต เราจึงมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเจตนารมณ์ของบริษัทที่วางไว้
นอกจากนี้ เราเชื่อว่าการทำงานร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคส่วนในโครงการ SPACE-F จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่อนาคต ด้วยการสร้างสรรค์อาหารที่ทั้งดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลกของเรา สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท เราจะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรและผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติอร่อยขึ้นและดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนในปัจจุบันและในอนาคต
เนสท์เล่ มีเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนา 25 แห่ง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ 10 แห่งทั่วโลก และได้จัดสรรงบลงทุนกว่า 1,700 ล้านสวิสฟรังก์ (หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท) ในแต่ละปี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนในทุกช่วงวัย สตาร์ตอัปจากโครงการ SPACE-F จะช่วยเสริมจุดแข็งของบริษัท และช่วยให้เนสท์เล่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง โครงการ SPACE-F เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 โดยมีสตาร์ตอัปทั้งในประเทศและทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 ราย และปัจจุบันได้ระดมเงินทุนไปแล้วมากกว่า 63 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการ SPACE-F เตรียมเปิดรับสมัครรุ่นที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2567 ในโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีอาหารให้เติบโตและพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารที่สำคัญแห่งภูมิภาคได้ต่อไป