ย้อนรอย 5 การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก และครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
โลกของเราเคยเกิดการสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง มีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปมากกว่า 70-95% ซึ่งสาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิของโลกเย็นจัด ร้อนจัด อุกกาบาตพุ่งชน แล้วการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ ?
Key Point :
- โลกของเราเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง และครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้ง ในแต่ละครั้งเราสูญเสียสิ่งมีชีวิตบนโลกไปกว่า 70-95%
- Cycle ของการสูญสลายในแต่ละยุคเกิดขึ้นจากอากาศที่เย็นสุด หรือ ร้อนสุด และหลังจากนั้นโลกจะกลับสู่สมดุล เกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ขึ้น
- ปัจจุบันเราพูดถึงปัญหาโลกร้อน แต่รู้หรือไม่ว่า โลกเราเคยร้อนกว่านี้กว่า 10 องศา เกิดคำถามว่า เราจะเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 หรือไม่ และเมื่อไหร่ ?
อดีตโลกเราเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง และครั้งย่อยๆ อีกหลายครั้ง ทว่าแต่ละครั้งของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดเมื่ออุณหภูมิของโลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะร้อนสุดหรือเย็นสุด และในอนาคต ยังอาจมีแนวโน้มที่จะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แม้ว่าจะยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ล้านปีข้างหน้า
ผศ.นุศรา สุระโคตร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า จากการศึกษา พบว่า ตั้งแต่โลกเกิดมาจนปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลของโลกจะเป็น Cycle ขึ้นสูงสุด ลงต่ำสุด แสดงว่าโลกเราจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งสลับกับโลกร้อนเรื่อยๆ และตอนนี้เราอยู่ช่วงปลายยุคน้ำแข็ง ซึ่งน้ำแข็งยังละลายไม่หมด
“จากหลักฐานในอดีต พบว่า จะมีช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดจากการที่น้ำแข็งละลายทั้งหมด แสดงว่ามีโอกาสที่โลกจะร้อนขึ้น จนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ละลายหมด หากถึงตอนนั้นอุณหภูมิก็จะสูงและร้อนกว่านี้ สิ่งมีชีวิตบางชนิดน่าจะทนไม่ได้และสูญพันธุ์”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่งมอบ 'นกตบยุงยักษ์' สัตว์ป่าคุ้มครองหายาก ถึงมือหมอเรียบร้อย
- หายสงสัย! ไม่ใช่ "ไดโนเสาร์" ยังมีชีวิต แต่คือสัตว์ชนิดนี้ที่ใกล้สูญพันธุ์
- รู้จัก“นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่20 ผงะโพสต์ขายชิ้นส่วนว่อนเน็ต
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 5 ครั้ง ของโลก
ทั้งนี้ จากอดีตโลกเกิดการสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-3 ห่างกันครั้งละประมาณ 100 ล้านปี ครั้งที่ 3-4 ห่างกัน 50 ล้านปี ครั้งที่ 4-5 ห่างกันราว 150 ล้านปี
- สูญพันธุ์ยุคแรก เกิดเพราะความหนาว
การสูญพันธุ์ครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นใน “ยุคออร์โดวิเชี่ยน -ไซลูเรียน” ราว 445 ล้านปีที่แล้ว เนื่องจากอากาศหนาว เข้าสู่ยุคน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว พออุณหภูมิของโลกลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งมีชีวิตในช่วงนั้นตายไป 85%
เมื่อน้ำในโลกก็กลายเป็นน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลลดลง สัตว์ในช่วงยุคนั้นส่วนมากอยู่ในทะเล และส่วนใหญ่ชอบทะเลที่ตื้นและอบอุ่น แสงแดดส่องถึง เพราะฉะนั้น พอหนาว ระดับน้ำทะเลลดลง ตรงที่เคยเป็นทะเลตื้นก็กลายเป็นชายหาด ส่วนที่เป็นทะเลลึกก็กลายเป็นทะเลตื้น ทำให้สิ่งมีชีวิตตายลงเกิดเพราะความหนาว
- สูญพันธุ์ครั้งที่ 2 ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก
หลังจากนั้น เข้าสู่ “ยุคดีโวเนียน” ประมาณ 100 ล้านปีต่อมา เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 2 จากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ 70% คล้ายกับตอนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ แต่ยุคนั้นยังไม่มีสัตว์บก มีเพียงสัตว์ทะเล มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วสัตว์ทะเลสูญพันธุ์ได้อย่างไร ?”
ผศ.นุศรา อธิบายว่า เนื่องจากเกิดการระเบิดรุนแรง เกิดฝุ่นควัน แก๊สพิษ ในชั้นบรรยากาศ เกิดไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด มีขี้เถ้าบนชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่สักพัก ฝุ่นควันพวกนี้จะบดบังแสงอาทิตย์ ทำให้แสงแดดส่องมาลงมาไม่ถึงพื้นโลก โลกจะเย็นขึ้นเรื่อยๆ เกิดยุคน้ำแข็งอีก เพราฉะนั้น สิ่งมีชีวิตในทะเลจึงสูญพันธุ์ไปกว่า 70%
“แต่ทุกครั้งหลังการสูญพันธุ์ พอโลกเราปรับตัวเข้าสู่สมดุลครั้งใหม่ จะเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น ของเก่าตายไป ของใหม่เกิดขึ้น อย่างครั้งแรกที่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ พอโลกปรับตัวเขาสู่สมดุล เข้ายุคดีโวเนียน ก็เกิดพืชบก และสัตว์บกขึ้นมา จากก่อนหน้านี้ไม่มีสิ่งมีชีวิตบนบก เช่น สัตว์เลื้อยคลาน แมลงมีปีก ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ โลกจะมี Cycle แบบนี้อยู่”
- สูญพันธุ์ครั้งที่ 3 เปลือกโลกเคลื่อน
การสูญพันธุ์ครั้งที่ 3 เกิดอีกประมาณ 100 ล้านปีต่อมา ในช่วงปลาย ยุคเพอร์เมียน -ไทรแอสซิก แต่ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะสิ่งมีชีวิตของโลกหายไปกว่า 95% เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ แตกออกจากกัน พอแตกทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ภูเขาไฟระเบิดหลายลูกทั่วโลก เกิดฝุ่น ควัน แก๊สพิษในชั้นบรรยากาศ และไฟไหม้ป่าตามมา อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เรียกว่า การเกิด Global Warming ทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์มากกว่า Global Cooling เป็นเหตุผลว่า พอสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน สิ่งมีชีวิตจึงสูญพันธุ์เยอะมาก
- สูญพันธุ์ครั้งที่ 4 ภาวะโลกร้อน
เมื่อโลกปรับตัวเข้าสู่สมดุลครั้งใหม่ เข้าสู่ “ยุคไทรแอสซิก-จูแรสซิก” สิ่งมีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น คือ ไดโนเสาร์ ก่อนหน้านี้ไม่มีมาก่อน ในช่วงกลางของยุคไทรแอสซิก ก็เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ขึ้นมาอีก จาก Global Warming รอบนี้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปอีก 76% แต่ก็ยังคงมีวิวัฒนาการต่อมา
- สูญพันธุ์ครั้งที่ 5 ยุคไดโนเสาร์หายไป
เข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 ช่วงสิ้นสุด “ยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน” มีดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ชนโลก ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และเป็นยุคที่ไดโนเสาร์หายไปหมดโลก รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ก็สูญพันธุ์ไปด้วย เช่น แอมโมไนต์ เป็นสาเหตุให้สิ่งที่มีชีวิตในโลกหายไปราว 80%
“พอโลกปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทำให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เกิดขึ้นมาอีก เช่น พืชดอก และสัตว์ชนิดใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีหน้าตาคล้ายสัตว์ในยุคปัจจุบัน และตั้งแต่สิ้นสุดยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน 65 ล้านปีที่แล้ว โลกเราก็ยังไม่เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แต่เราอาจจะเห็นร่องรอยของการสูญพันธุ์ครั้งเล็กๆ สัตว์บางชนิดหายไป อุณหภูมิของโลกเปลี่ยนบ้าง เพราะในช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โลกร้อน โลกเย็น สลับกันไปเรื่อยๆ”
ผศ.นุศรา สุระโคตร
ภาพถ่ายจากแหล่งศึกษา fossil หอยนางรมอายุ 120,000 ปี
ที่ ทะเลสาบ Kasumigaura ประเทศญี่ปุ่น
ตัวอย่าง สัตว์สูญพันธุ์ไปแล้ว
ไทรโลไบต์ (Trilobite) จะมีชีวิตอยู่ในโลกค่อนข้างนานกว่า 300 ล้านปี แต่มีสปีชีส์เป็นร้อย ซึ่งมีการปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เป็นสัตว์กลุ่มแมลงชนิดหนึ่ง คลานอยู่ตามพื้นทะเล แต่พอมีหลายร้อยสปีชีส์ ทำให้มีบางสปีชีส์หายไปจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ บางสปีชีส์ก็ยังคงอยู่ และสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน หรือการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 นั้นเอง โดยสัตว์ชนิดนี้หน้าตาคล้ายแมงดาทะเล ตัวเป็นปล้องๆ มีขา ขนาดตั้งแต่ไม่ถึงเซนติเมตร - 1 ฟุต
แกรปโตไลต์ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ อยู่ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตแบบลอยอยู่ในน้ำทะเลเฉยๆ ให้น้ำทะเลพาไปมา เป็นแพลงตอนชนิดหนึ่ง อยู่ในทะเลลึก แกรปโตไลต์อายุจะสั้นกว่า ไทรโลไบต์ อยู่บนโลกประมาณ 100 – 150 ล้านปีก็สูญพันธุ์ไป รวมถึง ไดโนเสาร์ ที่อยู่ในโลกกว่า 200 ล้านปี และสูญพันธุ์ไปเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลก
“อย่างไรก็ตาม ระหว่างทาง มีการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการอยู่ตลอด ปรับเปลี่ยนสปีชีส์ รูปร่างเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางชนิดสูญพันธุ์ไปบ้างระหว่างทาง บางสายพันธุ์ก็อาจจะอยู่ได้ แต่พอเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ก็หายไปทั้งหมด และในอนาคต หากเราสูญพันธุ์ไปแล้วกลายเป็นฟอสซิล หากคนในอนาคต หรือสิ่งมีชีวิตในอนาคตมาศึกษาเรา เขาอาจจะจัดกลุ่มเราอยู่ในกลุ่มเดียวกับลิงก็ได้ เพราะโครงสร้างเหมือนกัน” ผศ.นุศรา กล่าว
โลกเคยร้อนกว่านี้
ทั้งนี้ หากดูจาก Cycle ของโลก โลกเราจะมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา ร้อน เย็น สลับกัน ยุคน้ำแข็งและยุคโลกร้อนจะสลับกันอยู่ ตลอดช่วงธรณีกาลหรือ 4,600 ล้านปี ตั้งแต่โลกเกิดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมาก หรือเย็นลงมาก
ผศ.นุศรา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน เราอยู่ห่างจากการสูญพันธุ์ยุคที่ 5 มาแล้ว 65 ล้านปี วันนี้เพิ่งผ่านการสูญพันธุ์ครั้งที่ 5 มา 65 ล้านปี ปัจจุบัน อุณหภูมิอยู่ในช่วงลดลง มันเคยสูงมากกว่านี้ถึง 10 องศา น้ำทะเลเคยขึ้นสูงกว่านี้ ในช่วง 3,500 ปีที่แล้ว น้ำทะเลสูงกว่านี้แสดงว่าโลกเราเคยร้อนกว่านี้
“อุณหภูมิค่อนข้างเหวี่ยงกลับไปกลับมา เช่น ช่วง 50 ล้านปีที่แล้ว หรือ 30 ล้านปีที่แล้ว อ่าวไทยไม่มีน้ำทะเล เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน เรียกว่า ซุนดาแลนด์ พอโลกร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้กลายเป็นอ่าวไทย ความลึกประมาณ 2-3 กิโลเมตร เพราะโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากแผ่นดินทรุดตัวทำให้อ่าวไทยมีความลึกขึ้น”
นอกจากนี้ หลักฐาน “ฟอสซิลวาฬอำแพง” (ค้นพบในช่วงปลายปี 2563 ที่ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร) บ่งบอกว่า แต่ก่อนพื้นที่ตรงนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน แปลว่าชายฝั่งก็ต้องอยู่ไกลออกไปอีก พอโลกเย็นลง ระดับน้ำทะเลลดลง จนชายฝั่งอยู่ตำแหน่งปัจจุบัน ดังนั้น ความจริงตอนนี้โลกกำลังเย็นลงและจะค่อยๆ ร้อนขึ้น แต่ยังไม่ถึงระดับสูงสุด
อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา ก็กระทบสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าจะมีอะไรสูญพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ ผศ.นุศรา อธิบายว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับการปรับตัว อย่างที่เราเห็นว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ค่อนข้างปรับตัวได้เร็ว เช่น ไวรัส
แต่บางชนิดก็ปรับตัวได้ช้า แค่อุณหภูมิของโลกเปลี่ยน 1-2 องศาก็ตาย เช่น ปะการัง ตอนนี้เมื่อโลกร้อนขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1-2 องศา เกิดปะการังฟอกขาว และตายไปหลายสายพันธุ์ อาจไม่สูญพันธุ์ทั้งหมด แต่สายพันธุ์ไหนปรับตัวได้ก็ยังคงอยู่
โลกจะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกหรือไม่
ผศ.นุศรา กล่าวว่า ยังอาจมีแนวโน้มที่จะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นในเวลาใด เพราะในช่วงธรณีกาลเราพูดกันเป็นหลักล้านปี การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในอดีตแต่ละยุค ห่างกันกว่า 100 ล้านปี แต่ต้องไม่ลืมว่าในอดีตไม่มีมนุษย์ แต่ปัจจุบันมีมนุษย์
อดีตคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้นจากไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด หรือเพราะอุกกาบาตชนโลก แต่ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ เป็นคนเปลี่ยนระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จะเกิดขึ้นอีกกี่ปี จึงไม่สามารถทำนายได้
แต่หากปล่อยให้โลกเป็นไปแบบธรรมชาติ ไม่มีมนุษย์ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีการใช้พลังงานฟอสซิลโลกก็ต้องปรับ และไปตาม Cycle แต่พอมีมนุษย์มันอาจจะเกิดเร็วขึ้นหรือช้าลง หากคิดวิธีที่ป้องกันแก้ไข บรรเทาให้มันเกิดช้าลงก็อาจจะเป็นไปได้ "อย่างไรก็ต้องเกิด แต่อีกกี่ปีไม่สามารถบอกได้ เพราะใช้เวลานานกว่าล้านปี"