เปิดภาพ ‘หมีขั้วโลก’ อดอยาก ต้องหาหญ้ากินประทังชีวิต เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน‘
นักวิทยาศาสตร์ติดกล้องวิดีโอที่แผงคอ “หมีขั้วโลก” จำนวน 20 ตัว ในช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุม เพื่อศึกษาการดำรงชีวิต และการหาอาหาร พบว่าหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ต้องหาหญ้า ผลเบอร์รี่และซากสัตว์กินประทังชีวิต แต่ก็ไม่เพียงพอ น้ำหนักของทุกตัวลดลง อยู่ในสภาพอดอยาก
KEY
POINTS
- “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้พื้นที่หลายแห่งใน “ขั้วโลกเหนือ” ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมนานขึ้นเรื่อยๆ หมีขั้วโลก” ไม่สามารถลงทะเลไปล่าเหยื่อได้ ทำให้พวกมันต้องหาอาหารบนบกเพื่อประทังชีวิตแทน
- นักวิจัยได้ติดกล้องวิดีโอที่แผงคอ หมีขั้วโลกจำนวน 20 ตัว ในช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุม เพื่อศึกษาการดำรงชีวิตและการหาอาหาร พบว่าหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ต้องหาหญ้า ผลเบอร์รี และซากสัตว์กินประทังชีวิต
- หมีขั้วโลกที่ติดกล้องเกือบทุกตัวน้ำหนักลดลงโดยเฉลี่ย 21 กิโลกรัม ภายใน 3 สัปดาห์ เป็นข้อบ่งชี้ว่าหมีขั้วโลกไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยอาหารบนบก และไม่มีทางอยู่รอดในโลกที่ไม่มีน้ำแข็งได้เลย
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่น้ำแข็งละลาย “หมีขั้วโลก” จะเข้าสู่โหมดจำศีลเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด หรือไม่ก็ออกหาอาหารทดแทน เช่น ผลเบอร์รี ไข่นก และสัตว์บกขนาดเล็ก แต่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้พื้นที่หลายแห่งใน “ขั้วโลกเหนือ” ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมนานขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้หมีขั้วโลกไม่สามารถลงทะเลไปล่า “แมวน้ำ” เหยื่ออันโอชะของพวกมันได้ แม้จะไม่ใช่ฤดูร้อนแล้วก็ตาม พวกมันต้องอดอาหารนานขึ้น
ในงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications นักวิทยาศาสตร์ได้ติดกล้องไว้ที่แผงคอของหมีขั้วโลก 20 ตัวในรัฐแมนิโทบา ของแคนาดา บริเวณใต้เส้นอาร์กติกเซอร์เคิลทางใต้สุดของเทือกเขา เพื่อใช้ติดตามชีวิตของพวกมัน พบว่าในแต่ละวันหมีขั้วโลกส่วนใหญ่ได้รับปริมาณแคลอรีเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรักษามวลกายเอาไว้
“อาหารบนบกไม่เพียงพอที่จะทำให้หมีขั้วโลกสามารถมีชีวิตรอดได้” ดร.แอนโธนี ปากาโน นักชีววิทยาสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของงานวิจัยเปิดเผย
“หมีขั้วโลก” ออกล่าเหยื่อไม่ได้ เพราะ “โลกร้อน”
ข้อมูลจากกล้องที่ติดตัวหมีขั้วโลกพบว่า หมีพยายามเอาชีวิตรอดจากฤดูร้อนอันยาวนานด้วยการกินเป็ด ห่าน ไข่ของนกทะเล หรือแม้แต่กวางแคริบู ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความหวังว่าบรรดาหมีขั้วโลกจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับ “ภาวะโลกร้อน” ได้
แต่ไม่ใช่เลย เพราะหมีขั้วโลกเกือบทั้งหมดในการทดลองนี้น้ำหนักลดลง ได้รับแคลอรีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นมีหมี 2 ตัวที่ไม่สามารถหาอาหารได้จนต้องอดตายก่อนที่ฤดูจะผ่านพ้นไป
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ดร.ปากาโน และคณะได้ติดกล้องไว้บนแผงคอของหมีขั้วโลกจำนวน 20 ตัว โดยทำการศึกษาติดต่อกัน 3 ปีระหว่าง 2019-2021 ครั้งละ 3 สัปดาห์ ซึ่งคณะนักวิจัยจะทำการชั่งน้ำหนักหมี เก็บตัวอย่างเลือด และวัดการหายใจทั้งก่อน และหลังติดกล้อง เพื่อเปรียบเทียบสภาพร่างกาย การทำกิจกรรม และระดับการใช้พลังงาน
นักวิจัยพบว่า มีหมีหกตัวที่เข้าสู่สภาวะจำศีล และอดอาหาร ส่วนหมีตัวอื่นๆ ล้วนออกหาอาหาร โดยเฉลี่ยแล้วหมีขั้วโลกใช้ระยะทางในการหาอาหารไปถึง 93 กิโลเมตร ส่วนตัวที่เดินทางไกลที่สุดเดินไปถึง 375 ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อหาหญ้า สาหร่ายทะเล ผลเบอร์รี ซากนก กวางแคริบู ไข่ของนกทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กประทังชีวิต
ทั้งนี้มีหมีขั้วโลกบางตัวที่พยายามว่ายน้ำออกหาอาหารในอ่าวฮัดสัน โดยมีอยู่ตัวหนึ่งที่ว่ายน้ำออกไปไกลถึง 175 กิโลเมตร แต่พวกมันกลับกินซากแมวน้ำ และวาฬเบลูกาไม่ได้ถนัดนัก เพราะอยู่กลางน้ำ
ไม่ว่าหมีจะอดอาหารหรือออกหากิน หมีทุกตัวล้วนน้ำหนักลดลง โดยมีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 21 กิโลกรัมในช่วง 3 สัปดาห์ แต่บางตัวมีน้ำหนักลดลงเกือบ 36 กิโลกรัม และสูญเสียมวลร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณ 7% ในเวลาเพียง 21 วัน
“ภาพวิดีโอจากตัวหมีทำให้เราเห็นถึงความฉลาด และสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของหมีขั้วโลก ในเวลาที่ต้องติดอยู่บนบก ซึ่งแต่ละตัวมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป” ดร.ปากาโน กล่าว
“หมีขั้วโลก” มีจำนวนลดลงอย่างมาก
แอนดรูว์ เดโรเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหมีขั้วโลกจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวกับ Vox ว่า วิดีโอเหล่านี้ช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมใหม่ๆ ของหมี การว่ายน้ำเป็นเวลานานของหมีไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก และยิ่งหมีผอมลงเท่าไร ก็ยิ่งจะเสี่ยงภัยร้ายได้มากกว่าหมีที่แข็งแรง
“การศึกษาครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่า ไม่มีทางที่จะช่วยให้หมีขั้วโลกอยู่รอดในโลกที่ไม่มีน้ำแข็งได้เลย การกินผลเบอร์รี และอาหารอื่นๆ ช่วยบรรเทาความคิดได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสิ้นหวัง” เดโรเชอร์กล่าว
เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ทางตะวันตกของอ่าวฮัดสัน ประเทศแคนาดา มีช่วงเวลาไร้น้ำแข็งเพียงแค่ 3 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันหมีขั้วโลกกลับต้องใช้เวลาบนบกประมาณนานถึง 130 วัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่านับจากนี้ไป ในแต่ละทศวรรษจะมีวันที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุมในทะเลเพิ่มขึ้นอีก 5-10 วัน
ในปี 2015 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากที่จำนวนหมีขั้วโลกทั่วโลกจะลดลงมากกว่า 30% ภายในปี 2050 แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงอาจจะเลวร้ายกว่าที่คาด เพราะจากเดิมช่วงปี 1980 ในอ่าวฮัดสันมีหมีขั้วโลกอาศัยอยู่ประมาณ 1,200 ตัว แต่ในปี 2021 กลับเหลือเพียงแค่ 600 ตัวเท่านั้น
ยิ่งโลกร้อนขึ้น พื้นที่มีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปีก็ยิ่งมีน้อยลงไปทุกที ในตอนนี้แทบจะเหลือพื้นที่ดังกล่าวแค่ในกรีนแลนด์ และสฟาลบาร์ ดินแดนที่อยู่เกือบจะติดกับจุดสูงสุดของขั้วโลกเหนือเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นหมีขั้วโลกอยู่แค่ในบริเวณนี้เท่านั้น
“น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว มีแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น เราก็จะยิ่งเห็นหมีขั้วโลกอดตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ดร.ปากาโน กล่าว
ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นชีวิตของหมีขั้วโลกผ่านสายตาของพวกมันเอง และในอนาคตมีขั้วโลกอาจจะมีชีวิตอยู่แค่ในวิดีโอหรือในหนังสือเท่านั้น คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้เห็นพวกมันอีกต่อไป เหมือนกับที่เราไม่ได้เห็นสัตว์อีกหลายร้อยชนิดที่สูญพันธุ์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
ที่มา: Polar Bears International, The Guardian, The New York Times, Vox
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์