ปักหมุด ‘เขตมลพิษต่ำ’ ระยะ 2 ใน 4 พื้นที่ กทม. รับมือ PM2.5

ปักหมุด ‘เขตมลพิษต่ำ’ ระยะ 2 ใน 4 พื้นที่ กทม. รับมือ PM2.5

ปักหมุด "เขตมลพิษต่ำ" ระยะที่ 2 ความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน ใน 4 เขตพื้นที่ กทม. ได้แก่ คลองสาน คลองเตย ป้อมปราบศัตรูพ่าย และบางรัก เพื่อควบคุมหรือลดการระบายมลพิษอากาศยานพาหนะ หลังจากในปี 2565 มีการนำร่อง เขตปทุมวัน ระยะทาง 1 กิโลเมตร จากแยกปทุม ถึง แยกราชประสงค์

KEY

POINTS

  • PM2.5 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่มีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการจราจร 
  • ในปี 2565 เกิดการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน พัฒนาโครงการ "เขตมลพิษต่ำ" นำร่องแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร 
  • และในปี 2567 สู่การต่อยอด ระยะที่ 2 เพิ่ม 4 เขตพื้นที่กทม. ได้แก่ คลองสาน ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย และ บางรัก

“มลพิษทางอากาศ” นับเป็นปัญหาสำคัญทั้งพื้นที่ในเขตเมืองแต่ต่างจังหวัด โดยฉพาะ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน และเป็นต้นเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้เสี่ยงต่อการเกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตจากทั้งหมดของประเทศ

 

สำหรับในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น รวมถึงปัญหามลพิษจากปัจจัยอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับ ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน กระทั่งล่าสุด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องมีการประกาศให้ประชาชน Work from Home ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและมีหลายภาคส่วนพยายามร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ในการเร่งหาทางบรรเทาและแก้ไข

 

ปี 2565 นำร่อง "เขตมลพิษต่ำ" ปทุมวัน

ในปี 2565 เกิดการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่ายภาคเอกชนผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ วัด และประชาชน 

 

พัฒนาโครงการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone : LEZ) นำร่องแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยนำต้นแบบมาจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ กทม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ “เขตมลพิษต่ำ” เป็นแนวคิดหนึ่งในการจัดการมลพิษอากาศเชิงพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นและมีกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานจะเป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่บางส่วนในเขตเมืองชั้นในให้เป็นเขตมลพิษต่ำ เพื่อควบคุมหรือลดการระบายมลพิษอากาศยานพาหนะที่จะผ่านเข้าออกเขตมลพิษต่ำ

 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีแสดงเจตจำนงโครงการเขตมลพิษต่ำ ในพื้นที่ กทม. ระยะที่ 2 ว่า โครงการระยะที่ 1 นำร่องพื้นที่เขตปทุมวัน พัฒนานวัตกรรม 3 เรื่อง ได้แก่

1.ระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) รายงานผลการตรวจสอบสภาพรถ และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 1,000 คัน

2.บริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการในพื้นที่

3.ระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM2.5 ที่แสดงผลทันที ถือเป็นการสร้างมาตรการกลไกการมีส่วนร่วม ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่ง ไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานสะอาด บำรุงรักษาตรวจสอบสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามเวลาที่กำหนด กลายเป็นถนนอากาศสะอาด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลงถึง 10%

 

ระยะ 2 ปักหมุด 4 เขตกทม.

สำหรับโครงการในระยะที่ 2 มีการเร่งขยายผลเพิ่ม 4 เขตพื้นที่กทม. ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด (ระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) รวมถึงพิจารณาจากศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ได้แก่

  • คลองสาน
  • ป้อมปราบศัตรูพ่าย
  • คลองเตย
  • บางรัก

 

โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการต้นแบบลดมลพิษทางอากาศเพิ่ม 100 องค์กรภายในปี 2567 ถือเป็นมาตรการสานพลังทุกภาคส่วน ร่วมเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การสร้างความตระหนัก ในการฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดี

 

เป้าหมาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม และกลุ่มเป้าหมายในการทำงานระดับพื้นที่เขตมลพิษต่ำ โดยความร่วมมือของภาคเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึง สื่อสาร เผยแพร่ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน มีบทบาทความเป็นเจ้าของ หรือ ผู้นำในการผลักดันมาตรการและนโยบายในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษเชิงพื้นที่

 

มุ่งลดมลพิษ 5 ด้าน

ไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ LEZ เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบการภาคเอกชน ในพื้นที่เขตปทุมวัน บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวันไปจนถึงแยกราชประสงค์ เกิดระยะทางถนนอากาศสะอาดกว่า 1 กิโลเมตร

 

โดยมีแนวทางลดมลพิษทางอากาศ 5 ด้าน ได้แก่

1. นโยบายองค์กร

2.การลดมลพิษอากาศขององค์กรและบุคลากรในองค์กร

3. การลดมลพิษจากไอเสียรถของซับพลายเออร์

4. การลดมลพิษจากไอเสียรถของลูกค้า

5. การติดตามประเมินและเผยแพร่ข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้นแบบในการลดมลพิษทางอากาศพื้นที่กทม. และโครงการฯ จะมีการเดินหน้าต่อไป

 

ประเมินศักยภาพพื้นที่ ต่อยอดโครงการฯ 

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีวิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าฝุ่น PM2.5 กทม. ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุดในรอบปี อยู่ที่ 47.0-105.0 มคก./ลบ.ม. จากค่ามาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การจราจรขนส่งในเขตพื้นที่เมือง และ การเผาไหม้ในที่โล่ง

 

ที่ผ่านมา กทม. มีแผนหลักในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 โดยดำเนินการร่วมกับ 23 หน่วยงาน ตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตั้งแต่วางแผน ปรับปรุงแผน ถอดบทเรียน และโครงการ “เขตมลพิษต่ำ” ก็เป็นหนึ่งโครงการที่อยู่ในแผนของ กทม.

 

จากหลายผลการศึกษา มีผลวิจัยตรงกันว่า กทม. มีมลพิษหลัก คือ การจราจรกว่า 57% นอกจากนั้น เป็นฝุ่นนอกฤดูกาล จึงมีการดำเนินการและพัฒนาสู่ “เขตมลพิษต่ำ” นำร่องเขตปทุมวัน ในการตรวจสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ บริการฟรีของ มาบุญครอง พร้อมกับ ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ด้วยเครื่อง Sensor for All ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

"โดยระยะที่ 1 มีผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่การต่อยอดระยะ 2 ภาคีเครือข่ายมีการประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินการขยายพื้นที่ 4 เขต รวมถึง ขยายพื้นที่ปทุมวันให้กว้างขึ้น โดยประเมินศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเอกชนเป็นหลัก" 

 

การพิจารณาเลือกพื้นที่ เขตมลพิษต่ำ

  • รูปแบบทั่วไปของพื้นที่เขตมลพิษต่ำ เช่น เป็นเขตกรุงเทพชั้นในที่มีการจราจร กิจกรรมหลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจ
  • เป็นเขตพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนนสายหลัก หรือ คลองสายหลัก ที่มีแนวเส้นทางเข้าออกชัดเจน
  • มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้บริการในพื้นที่ เช่น รถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า หรือรถโดยสารประจำทางสาธารณะรุ่นใหม่ที่เป็นรถไฟฟ้า เป็นต้น
  • มีสถานีบริการสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งรถส่วนตัว รถเช่าขับเอง หรือรถแท็กซี่
  • สามารถจัดเส้นทางเดินเท้า หรือ เส้นทางรถจักรยาน ให้แก่ประชาชนได้ โดยมีระบบอำนวยความสะดวก ระบบบริการข้อมูลเส้นทางและความปลอดภัย เช่น บริเวณจุดจอดรถจักรยาน จุดบริการข้อมูล
  • มีกลุ่มผู้ประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมลดมลพิษอากาศ โดยกิจกรรมของสถานประกอบกิจการ ขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานประกอบกิจการนั้น เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน หน่วยงาน สมาคมหรือองค์กร เป็นต้น
  • เป็นพื้นที่ที่สามารถพิจารณาจัดเส้นทางหากมีกรณีห้ามรถยนต์เข้ามาในพื้นที่ถนน บางเส้นทางบางช่วงเวลา เช่น ช่วงวิกฤติฝุ่นละออง รวมทั้งสามารถจัดให้มีเส้นทางเลี่ยงให้ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ หรือจัดให้มีบริการสาธารณะในการส่งต่อการเดินทาง
  • มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตฯ เพื่อประสานและสนับสนุนการดำเนินกิจการ

 

สยามพิวรรธน์ – MBK ภาคเอกชนร่วมสร้าง เขตมลพิษต่ำ

ดาริน เรืองโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในฐานะภาคเอกชนที่เข้าร่วม เผยว่า นอกจากสยามพิวรรธน์ จะเข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 แล้ว ในระยะที่ 2 ยังมีไอคอนสยาม และ ไอซีเอส ซึ่งอยู่ในพื้นที่คลองสาน

 

การดำเนินงานที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่นโยบายจากผู้บริหารระดับสูง ส่งต่อมาเป็นการดำเนินงานผู้ปฏิบัติงาน โดยเริ่มทำในบ้านตั้งแต่ตรวจวัดค่าควันดำ มอนิเตอร์คุณภาพอากาศภายในทางเข้าศูนย์การค้า ระบบฟิลเตอร์กรณีปล้องระบายอากาศ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยสร้างแปลงปลูกต้นไม้บนชั้นดาดฟ้า Siam car park พื้นที่ 4,000 ตร.ม.

 

นอกจากนี้ ยังขยายผลไปกับซับพลายเออร์ โดยการส่งเสริมให้ทุกคนดับเครื่องยนต์เมื่อเข้ามาจอด ลดการปล่อยมลพิษ บริการตรวจวัดควันดำ และให้แนะนำการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องยนต์ เปลี่ยนน้ำมัน และ ในส่วนของลูกค้า โดยการส่งเสริมการใช้รถอีวี จุดจอดอีวี เพิ่มพื้นที่จุดอีวีชาร์จเจอร์ และมีพื้นที่สำหรับรถยนต์ที่มาด้วยกัน 4 คน

 

ด้าน พุทธชาด ศรีนิศากร ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เผยว่า เอ็ม บี เค เราให้ความสำคัญและตระหนักกับเรื่องนี้ โดยมีการจัดการ 3 ส่วน ได้แก่

1. ภายในศูนย์การค้า ไม่เพียงแค่มาบุญครองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศูนย์การค้าทั้งพาราไดซ์ พาร์ค และในโซนพระรามเก้า , ติวานนท์ รวมถึง โรงแรม สนามกอล์ฟ มีการติดตั้งระบบการฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี (UVC) และระบบ HEPA Filter กรองอากาศคุณภาพสูงในระบบปรับอากาศ เพื่อให้พนักงาน คู่ค้า ร้านค้า และลูกค้ามีสิทธิได้รับอากาศสะอาดในการหายใจ

2. เรื่องของพลังงานสะอาด ทุกศูนย์การค้า สนามกอล์ฟ โรงแรง มีการติดตั้งโซลารูฟท็อปส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดคาร์บอน

3. ร่วมมือกับภาคีภาครัฐ ในการขับเคลื่อนกำจัดฝุ่น อากาศสะอาด เป็นสามส่วนหลักที่เอ็ม บี เค ดำเนินการ

 

3 ส่วนสำคัญ เพื่ออากาศสะอาด

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นการก้าวข้ามอีกขั้น ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าไม่ต้องรอ แต่เข้าใจเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการมีอากาศสะอาด โดย 3 ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ คือ

1. ต้องมีความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การเผา 64% ของจุดความร้อนเกิดขึ้นในเขตป่า และ 24% อยู่ในนาข้าว จากราคาสินค้าเกษตร ทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ชาวนาต้องการเคลียร์พื้นที่โดยเร็ว หาก 7 วัน ไม่มีใครรับซื้อฟางก็ต้องเผา ดังนั้น หากมองสาเหตุทั้งสองส่วนจะจัดการเรื่องอากาศสะอาดในกทม. ไปแล้วกว่า 80% ขณะที่ ข้าวโพดส่วนใหญ่เป็นมลพิษข้ามแดน หากเข้าใจข้อมูลตรงนี้ก็จะสื่อสารได้

2. ความกล้า มีพลังจากภาคอื่นที่มาร่วมกัน รวมถึง เสียงจากภาคประชาชน

3. ความต่อเนื่อง เพราะการแก้ปัญหาในอากาศ ต้องมีความต่อเนื่องกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

 

"สุดท้าย คือ ยอมรับ และเข้าใจข้อจำกัดของกันและกันในแต่ละหน่วยงาน รับฟัง เป็นสะพานเชื่อม ฟังอย่างตั้งใจ แล้วจะเข้าใจ ทั้งภาครัฐ และ เอกชน สร้างการเชื่อมโยง และต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน" วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย