เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ 'สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์' แก้ปัญหาโลกเดือด
เปิดเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” แก้ปัญหาโลกระอุ – ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี หนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
KEY
POINTS
- ประเทศไทย ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และ net Zero ในปี ค.ศ. 2065 จึงใช้ จ.สระบุรี เป็นโมเดลแห่งแรกของการเริ่มต้น
- สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เป็นความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ TCMA พัฒนาระบบนิเวศเมือง จ.สระบุรี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี หนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
- พร้อมส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เตรียมพร้อมยกระดับสระบุรีสู่ 'เมืองคาร์บอนต่ำ' แก้ไขปัญหาขยะชุมชน
ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ ‘ภาวะโลกรวน’ ยังส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นทุกปี ภาวะน้ำท่วมรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำซากดูจะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและสภาพอากาศที่แปรปรวนผิดฤดู ทั้งหมดนี้ส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการสร้างผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องและความมั่นคงในชีวิต
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากการที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะดูดซับได้ทั้งหมด สาเหตุหลักเนื่องมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในบ้าน โรงงาน และยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงเหล่านี้ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา
โดยก๊าซที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก ดูดซับคลื่นรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศใกล้กับพื้นผิวโลกเอาไว้ เป็นสาเหตุให้โลกของเราร้อนขึ้น และกระตุ้นให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากเดิม ไม่เพียงแค่ร้อนผิดปกติ แต่ยังเกิดปรากฏการณ์และภัยพิบัติต่างๆ ในหลายพื้นที่บนโลกที่ผันผวนและรุนแรงมากขึ้นทุกปี
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ส่งผลให้ฤดูหนาวในปี 2566 ที่ผ่านมา มีอากาศที่ร้อนและอบอ้าว ทั้ง ๆ ที่เรากำลังอยู่ในฤดูหนาว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปแล้วว่า “ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก” และได้พยากรณ์ต่อไปอีกว่า “อุณภูมิอากาศเฉลี่ยของปี 2024 จะสูงกว่าของปี 2023”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โมเดล“ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” เสริมขีดแข่งขันใหม่ทางการค้า
- “ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่ ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน
- การท่องเที่ยว “คาร์บอนต่ำ” สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน BBC NEWS ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเกือบ 200 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในความตกลงปารีสในปี 2015 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป้าในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า เน็ตซีโร่ (net zero) หมายถึง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
รวมไปถึงการขจัดมลพิษทางอากาศที่เหลืออยู่จากชั้นบรรยากาศด้วย และควรจะบรรลุให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งประเทศไทยกำลังโอบรับเป้าหมายนี้อยู่ ด้วยโครงการ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย เพื่อตั้งเป้าหมายในการแก้ปัญหาโลกเดือด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
จุดเริ่มต้นของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) จึงได้ขับเคลื่อนโดยนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้ามาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว โดยได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ มุ่งเน้นนวัตกรรม และเชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ร่วมกับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufactures Association: TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (Thailand Concrete Association: TCA) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
ซึ่งมีความท้าทายในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและการขับเคลื่อนองคาพยพในรายสาขาต่างๆ (Sector) ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน หากสามารถเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ จ.สระบุรี จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นๆ ในการแก้ปัญหาได้
ดร. กิติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จนั้นต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วน ความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่และผู้นำของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากระดับนานาชาติที่มากพอให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสของการได้รับการสนับสนุน จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ระดับนโยบายและปฏิบัติ
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
ศาณิต เกษสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า สภาพอากาศในปีที่ผ่านมานั้นถือว่ามีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด และช่วยดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศออกมา เช่น การปลูกป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก นอกจากนี้ ยังได้ให้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ งดการใช้ถ่านหินและหินปูนให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า TCMA ในฐานะสมาคมที่เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี จึงเป็นสาขา สำคัญที่จะมีบทบาทต่อการสนับสนุนการดำเนินการของโมเดลสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แนวทางปฏิบัติที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินอุตสาหกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ตาม “แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พ.ศ. 2593” (2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap)
ความร่วมมือระหว่าง สอวช. และ TCMA มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย เข้ามาร่วมกันดำเนินการ ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการใช้กลไกการสนับสนุนจากระดับนานาชาติ เชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน
เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเมืองของจังหวัดสระบุรี ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศประสบความสำเร็จ และสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050
การดำเนินงานครอบคลุมด้านหลักๆ ดังนี้
1) การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งาน
2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตและการก่อสร้าง
3) การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดระยะเวลา แรงงาน รวมทั้งลด Waste ในการก่อสร้าง
4) การวิจัยพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 9 – 12 ล้านตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ /ปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5) การวิจัยและพัฒนา Carbon Capture and Utilization/Storage (CCUS) เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากยังมีสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จากกระบวนการต่างๆ ในสัดส่วนที่ค่อยข้างสูง โครงการ CCUS ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศและเทคโนโลยีด้านนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และเงินทุนทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาและวิจัย
ดร. กิติพงศ์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์เป็นส่วนย่อของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเชื่อว่าจังหวัดสระบุรีจะเป็นจังหวัดแรกที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีองคาพยพที่พร้อมและสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม TCMA ที่เข้มแข็ง รวมไปถึงชุมชน เกษตรกรรม และการมีส่วนร่วมในภาคครัวเรือน องคาพยพทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้สระบุรีมีการทำงานร่วมกันที่ดี จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในประเทศไทย
จาก “หญ้าเนเปียร์” สู่พืชพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
ด้าน เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero 2050 หรือ Energy Transition เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ จึงได้มีความร่วมมือดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการสร้างงานในพื้นที่บนฐานนิเวศการลงทุนพืชพลังงาน โดยส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะยกระดับสระบุรีสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ (Low Carbon and Livable City)
เป็นหนึ่งในความร่วมมือดำเนินงานระหว่างจังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ TCMA โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาวิจัยการส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงานนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
โดยดำเนินการนำร่องทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ ในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในตำบลเขาเกตุ อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และสร้างกลไกการมีส่วนรวมของภาคประชาชนระดับพื้นที่ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนที่คาดหวังการนำพลังงานสะอาดนี้เข้ามาทดแทนพลังงานจากถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์
สำหรับหญ้าเนเปียร์เมื่อมีอายุเกิน 4-5 เดือน จะเป็นเส้นใยแล้วค่อยทำให้แห้ง ส่งเข้าที่โรงปูน โรงปูนจะรับซื้อตันละ 1,500 บาท กิโลกรัมละ 1.50 บาท เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทดแทนถ่านหิน แต่การดูแลหญ้าเนเปียร์ยังยากลำบากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปุ๋ย น้ำ การเก็บเกี่ยว เพราะเกษตรกรมีความสามารถที่จำกัดในการทำให้หญ้าเนเปียร์ย่อยและแห้งได้เอง อาจจะต้องมีการลงทุนโรงอบเพิ่มเติมในอนาคต
ขณะที่ สมาน แก่นพุทธา สมาชิกสภาเทศบาลเมืองทับกวาง และประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟิร์ส์ เอนเนอร์ยี่ครอป จำกัด กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ เป็นพืชพลังงานที่มีอายุยาวนานถึง 7-8 ปี สามารถดูดซึมคาร์บอนได้เร็ว นอกจากนำไปเป็นพืชพลังงานแล้ว หญ้าเนเปียร์ยังสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลายทางจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ ถือเป็นอีกตัวเลือกให้เกษตรกร นอกจากการทำนาและไร่ข้าวโพด
เปลี่ยนขยะธรรมดาๆ ให้เป็นพลังงาน ด้วย “ตาลเดี่ยวโมเดล”
ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงการ “ตาลเดี่ยวโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ว่า วว. ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริการส่วนตำบลตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาแก้ไขปัญหาขยะชุมชน เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการขยะ 2 แนวทาง คือ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste to Wealth)
โดยการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ร่วมกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาดรวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ด้วยการยกระดับขยะที่ดำและสกปรกให้กลายเป็นเกล็ดที่มีคุณภาพสูง และนำไปต่อยอดทำเส้นใยให้มีราคา ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
“การขับเคลื่อนโครงการดำเนินงานใน 2 มิติ คือ การฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยจากครัวเรือนด้วยหลักการ 3Rs ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างเครื่องจักรในการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ รองรับการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ ประมาณ 20 ตัน/วัน ในการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลาสติกรีไซเคิล สารปรับปรุงดิน น้ำหมักชีวภาพ เชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuels: RDF) และพลังงานชีวภาพสะอาด ร่วมกับการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรมอย่างครบวงจร”