งดกิน 'เนื้อวัว' แค่มื้อเดียว ช่วยลด 'ก๊าซเรือนกระจก' ของบุคคลได้ถึง 50%
อยากช่วยลดโลกร้อน? เริ่มง่ายๆ ด้วยการ “ลดกินเนื้อวัว” แล้วแทนที่ด้วยโปรตีนอื่นๆ แค่มื้อเดียว! ก็ช่วย “ลดก๊าซเรือนกระจก” ของบุคคลในวันนั้นได้ถึง 50%
KEY
POINTS
- ไม่จำเป็นต้องเป็นวีแกน เพื่อที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชีวิตประจำวัน แต่ทำได้ง่ายๆ เพียงงดกินเนื้อวัว ก็มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้
- การลดบริโภคกินเนื้อวัว แม้เพียงมื้อเดียว ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบุคคลในวันนั้นได้เกือบครึ่งหนึ่ง (50%)
- เนื่องจากวัวมีระบบย่อยอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ โดยในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร แบคทีเรียพิเศษในลำไส้วัวจะปล่อย “ก๊าซมีเทน” ออกมาผ่านการเรอและผายลม ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่มีผลต่อการเกิดปัญหาโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า
งดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง, หิ้วกระเป๋าผ้า, ใส่เสื้อผ้าหมุนเวียน, ใช้พลังงานสะอาด ฯลฯ เหล่านี้คือ กิจกรรมหลักๆ ที่สายรักษ์โลกส่วนใหญ่ทำกันเป็นประจำ เพื่อเป้าหมายในการบรรเทาปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change ไม่ให้รุนแรงไปมากกว่านี้
รู้หรือไม่? ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วย “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน นั่นคือ งดกินเนื้อวัว แล้วเปลี่ยนไปกินโปรตีนจากแหล่งอื่นๆ เช่น ไก่ ปลา ถั่ว ทดแทน ไม่ได้บอกว่าจะต้องเลิกกินเนื้อวัวตลอดไป แค่งดเป็นบางมื้อก็พอ โดยอาจเริ่มต้นง่ายๆ เช่น เวลาพักเที่ยงครั้งถัดไป ลองเลือกกินมื้อกลางวันที่ไม่มีเนื้อวัวเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
ทำไมการ "งดกินเนื้อวัว" ช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนได้?
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า เพียงแค่ผู้บริโภคลดการกินเนื้อวัวลง ก็ทำให้เกิดผลที่แตกต่างอย่างมากในสิ่งแวดล้อม จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition ปี 2022 พบว่า การงดกินเนื้อวัวเพียงมื้อเดียว ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบุคคลในวันนั้นได้เกือบครึ่งหนึ่ง (50%)
ยิ่งผู้คนยอมรับแนวคิดนี้ และลดการบริโภคเนื้อวัวได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำปศุสัตว์เลี้ยงวัวได้มากขึ้นเท่านั้น รวมถึงอาหารที่ปราศจากเนื้อวัวยังอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าด้วยซ้ำ
“คุณไม่จำเป็นต้องเป็นวีแกน เพื่อที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชีวิตประจำวัน แต่คุณสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงงดกินเนื้อวัวแค่บางมื้อ” ดิเอโก โรส ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการโครงการโภชนาการ ของมหาวิทยาลัยทูเลน กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ อยู่ที่ประมาณ 30% ขณะที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์เพื่อผลิตอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์กลับสูงถึง 60% และพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด มีกระบวนการผลิตที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช เพราะในการเลี้ยงสัตว์ 1 ตัว มีต้นทางเริ่มจากการปลูกพืชอาหารสัตว์ก่อน แล้วจึงนำพืชอาหารสัตว์นั้นมาเลี้ยงสัตว์อีกที
วัวในฟาร์มปลดปล่อย “ก๊าซมีเทน” จำนวนมาก ซึ่งอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะการทำฟาร์มเลี้ยงวัว (เพื่อผลิตเนื้อวัว) พบว่า มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นพิเศษ เนื่องจากมนุษย์เราเลี้ยงวัวเพื่อกินเนื้อเป็นจำนวนมากถึง 1.5 พันล้านตัวทั่วโลก
แล้วทำไมการเลี้ยงวัวจึงเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก นั่นก็เป็นเพราะว่า วัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งพวกมันมีระบบย่อยอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ ในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร แบคทีเรียพิเศษในลำไส้วัวจะปล่อย “ก๊าซมีเทน” ออกมาผ่านการเรอ และผายลม ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อการเกิดปัญหาโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าในระยะสั้น
แม้จะยังไม่มีตัวเลขมาตรฐานชัดเจนว่า การเลี้ยงวัวแต่ละฟาร์มปลดปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณเท่าไร? (ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภูมิภาค ประเภทของฟาร์ม วิธีการเลี้ยง ฯลฯ) แต่ที่แน่ๆ มีงานวิจัยหลายสิบชิ้นระบุว่า กระบวนการผลิต “เนื้อวัว” เป็นหนึ่งในตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้ายแรงที่สุด
โดยมีงานวิจัยหนึ่งในนั้นชี้ว่า การทำปศุสัตว์ “ฟาร์มวัวเนื้อ” เพียงอย่างเดียว จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 79 - 101 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ต่อน้ำหนักเนื้อวัวที่กินได้ 1 กิโลกรัม
ขณะที่การทำ “ฟาร์มวัวนม” ได้ผลผลิตทั้งนมวัว และเนื้อวัว จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8 - 75 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ส่วนการทำฟาร์มไก่ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 3 - 21 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)
เรย์เชล ซานโต ผู้ร่วมวิจัยด้านอาหารและสภาพอากาศ ของสถาบันทรัพยากรโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบด้วยว่า ฟาร์มเลี้ยงวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าไก่ และหมูประมาณ 7 เท่า เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ที่ให้โปรตีนในปริมาณเท่ากัน และเมื่อเทียบกับการทำฟาร์มผลิตถั่วเลนทิล (อาหารกลุ่มโปรตีนเช่นกัน) พบว่า การทำฟาร์มวัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าฟาร์มถั่วเลนทิลและถั่วอื่นๆ ถึง 20 เท่า
กินเนื้อวัว (เนื้อแดง) มากเกินไป เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ-เบาหวาน-มะเร็งเพิ่มขึ้น
ในปัจจุบันมีหลายฟาร์มที่หาทางออกของเรื่องนี้ ด้วยการปรับปรุงอาหารสำหรับวัว เพื่อให้วัวลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนให้ต่ำลง หรือมีการออกแบบหน้ากากสวมใส่ให้วัวเพื่อใช้ดักจับก๊าซมีเทนจากการเรอของวัว ไม่ให้ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเหมือนการแก้ปัญหาแค่เพียงปลายเหตุ แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ อาจคือ การลดการบริโภคเนื้อวัวให้น้อยลง
อีกทั้งการลดบริโภคเนื้อวัวหรือเนื้อแดง นอกจากจะเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากต้นทางการผลิตได้แล้ว การบริโภคเนื้อสัตว์หรือโปรตีนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อแดง ก็อาจดีต่อสุขภาพมากกว่าด้วย อ้างอิงจากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่า การบริโภคเนื้อแดงปริมาณมากเกินไป เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐ ระบุว่า ชาวอเมริกันบริโภคเนื้อวัวประมาณ 485 กรัม (17 ออนซ์) ต่อคนในแต่ละสัปดาห์ในปี 2023 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสภาพอากาศที่ EAT Lancet Commission แนะนำให้ผู้คนบริโภคเนื้อแดงไม่เกิน 98 กรัม (3.5 ออนซ์) ต่อสัปดาห์
แม้ว่างานวิจัยดังกล่าวยังต้องการขยายผล และการศึกษาวิจัยในมุมอื่นๆ ให้รอบด้านมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารเพียงเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนจากซี่โครงเนื้อบาร์บีคิว มาเป็นซี่โครงหมูอบแทนใน 1 มื้อของวัน ก็สามารถช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์